×

คุยกับ อานันท์ ปันยารชุน: ฉากชีวิต 90 ปี กับเรื่องความตาย และไทยไม่อยู่ตรงไหนของโลก

11.10.2022
  • LOADING...
อานันท์ ปันยารชุน

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ‘กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง’ เป็นวลีสั้นๆ แต่มีความหมายมาก เพราะบ่งถึงลักษณะประจำตัว (Character) และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของ อานันท์ ปันยารชุน ตลอดเวลาอันยาวนานถึง 9 ทศวรรษ 
  • เมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรกับชีวิต อานันท์ตอบว่า ผมเป็นคนไม่ค่อยสนใจกับชีวิตนะ ที่ทำก็ทำไป ทำดีที่สุด อันไหนสำเร็จก็ดีไป อันไหนไม่สำเร็จก็ช่วยไม่ได้ ผมไม่ค่อยนึกถึงความหลัง แต่ความหลังนี่จำได้นะ แต่หวังว่าจะทำอะไรให้อนาคตของสังคมดีขึ้น 
  • “สมัยนี้บทบาทเมืองไทยแทบไม่มี ในเวทีภูมิรัฐศาสตร์แทบไม่มีประเทศไทยอยู่ สำหรับการเมืองระหว่างประเทศต้องกล้าคิด กล้าทำ แต่อย่าไปเสี่ยงมาก การเมืองระหว่างประเทศนี่ไปเสี่ยงไม่ได้” อานันท์กล่าว

กว่า 9 ทศวรรษ หลายคนรู้จัก ‘อานันท์ ปันยารชุน’ ในฐานะนักการทูต ได้รับความไว้วางใจให้ทำภารกิจพิเศษ ‘นอกกรอบ’ ก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในยามที่ประเทศกำลังต้องประสบกับวิกฤตการณ์อันหนักหน่วง ในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรี’ คนที่ 18 ของประเทศไทย 

 

เส้นทางและคาแรกเตอร์ประจำตัว รวมถึงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตตลอด 9 ทศวรรษ เสียงชื่นชมและวิจารณ์ คือสิ่งที่เห็นและได้รับมาโดยตลอด

 

ตลอดเวลาอันยาวนานถึง 9 ทศวรรษ วันนี้ THE STANDARD ได้รับโอกาสให้พูดคุย สนทนา เจาะลึกถึงฉากชีวิตที่ผ่านมา ในฐานะ ‘นักสู้ อานันท์’ ที่กำลังจะกลายเป็นหนังสือเล่มใหม่ ซึ่ง วิทยา เวชชาชีวะ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้เขียน โดยหัวใจหลักคือความเป็นคน ‘กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง’ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้จะได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อมาได้รับรู้  

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

อะไรเป็นเบ้าหลอมที่ทำให้เป็นคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง

กล้าคิด เริ่มมาตั้งแต่เยาว์วัย ผมมีพ่อเป็นครู ต่อมาท่านได้รับตำแหน่งสายบริหาร เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ท่านสอนหนังสือที่จุฬาฯ คุณพ่อเป็นคนที่เรียกว่าชอบคุยกับลูก การคุยกับลูกไม่ใช่เป็นเรื่องสาระทั้งหมด แน่ละ ต้องมีการคุยกับลูกเรื่องที่เป็นวิชาการ แต่คุณพ่อชอบคุยกับลูกว่าวันนี้ไปทำอะไรมาบ้าง วันนี้ไปเซ็นชื่อในวัง วันนี้ไปสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ พูดคุยกับคุณยาขอบ พูดคุยกับคุณสด กูรมะโรหิต หรือท่านไปงานสังคม ไปพบกับใคร ท่านก็จะมาเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องที่เป็นการสอนโดยไม่อบรม เป็นการสอนโดยที่ไม่ต้องสั่ง เป็นการสอนที่ให้เราเกิดความสนใจในเรื่องต่างๆ นั้น   

 

อันที่สอง คือสอนให้เราเห็นว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรชอบอะไรไม่ชอบ คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยตีลูกนะ อย่างมากคุณแม่แค่ถลึงตาลูกก็หยุดแล้ว แต่คุณพ่อไม่มาตีลูกนะ ไม่จำเจ ไม่มานั่งสั่งสอน แต่ท่านจะทำอะไรบางอย่างให้เราเห็นว่า ถ้าเผื่อเราสังเกตดูว่าท่านทำแบบนั้นๆ มันเป็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง แล้วผมเกิดมาในครอบครัวมีพี่น้อง 12 คน ทำให้เรามีอิสระในความคิดและกล้าที่จะพูด 

 

คุณพ่อผมชอบถามคำถามด้วย นอกจากจะเล่าเรื่องยังมีการถาม การอบรมลูกให้คิดเป็นแล้วก็ถามเป็น ผมว่ามันเป็นพื้นฐานของการที่แล้วต่อไปเราจะทำอะไร การคิด การถามทำให้เราทำความเข้าใจว่าประเด็นอยู่ที่ใด ปัญหาอยู่ที่ใด ต่อไปมันก็เป็นของธรรมชาติ มันก็คิดเอง คือเราสั่งสมองให้คิดไม่ได้ มันเป็นกลไก พอมันหมุนอย่างอื่นก็หมุนไปด้วย 

 

ดังนั้นพอคิด ระหว่างที่คิดมันก็คิดว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหานี้ สู้กับความท้าทายนั้น หรือเปลี่ยนประเด็นได้ไหม อะไรต่างๆ ที่นี้คุณกล้าคิดกล้าทำแล้ว คุณก็ต้องรู้ว่าการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างมันมีอัตราความเสี่ยง ถ้าคิดไปแล้วทำเลยความเสี่ยงมันจะมาก ก่อนลงมือทำต้องคิดก่อนเสมอผลได้ผลเสียเป็นอย่างไร แล้วผลเสียอย่าไปคิดแค่ลักษณะที่มันจะมาชั่วคราว แต่ต้องคิดถึงผลเสียที่จะอยู่ต่อไป ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Consequences มันคล้ายคลื่นทะเล อันนั้นต้องระวังที่สุด ไม่ว่าอะไรอย่าให้เกิดคลื่นทะเลนะ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรความเสี่ยงมันมีเสมอ แต่เป็นความเสี่ยงที่เราคิดแล้วบนฐานของความจริง จากพื้นฐานสามัญสำนึก ถ้าเราคิดแล้วมันได้มากกว่าเสีย ต้องหาโอกาส คิด ทำ แล้วก็ต้องมีโอกาส มีโอกาสอย่างเดียวไม่พอ เพราะบางทีคิดดี ทำดี กล้าคิดเสี่ยงแล้ว แต่ผิดจังหวะอีก แล้วนี่มันเป็นลูกโซ่ 

 

บางอย่างถ้าเกิดผลไม้มันยังไม่งอม คุณไปตัดก่อน กล้วยหอมคุณไปตัดก่อนมันก็จะไม่หวาน หรือตัดช้ามันก็งอมเกินไป ดังนั้นจังหวะเวลาสำคัญมาก แล้วผมก็นั่งนึกในใจส่วนหนึ่งผมคิดว่าผมเพี้ยนหรือเปล่านะ ชอบนั่งคิดเรื่องพวกนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องที่แอ็บสแตรกต์ 

 

ผมคิดว่าความกล้ากับความเสี่ยงมันไปด้วยกัน แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่เราคำนวณว่ามันจะได้ผลดีมากกว่าผลเสีย โดยคำนึงถึงจังหวะด้วย 

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

ผมจะกลับมาที่ความเสี่ยงอีกที แต่มีอันหนึ่งที่ผมสนใจคือเรื่องเบ้าหลอมสำคัญ นอกจากครอบครัวแล้วก็คือประสบการณ์ชีวิต

ผมเมื่อ 60 ปีที่แล้ว กับผมในปัจจุบัน ร่างกายคนเดียวกัน แต่หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนนะ 

 

สมัยผมหนุ่มๆ ผมเป็นคนเลือดร้อน โมโหง่าย โกรธง่าย ซัดคนง่าย อันนี้เป็นที่รู้กัน ลูกน้องในกระทรวงการต่างประเทศต่างๆ รู้กัน อันนี้ผมก็ต้องปรับปรุงตัวเอง เพราะจากประสบการณ์ชีวิตของผมจากการที่ผมใจเร็ว ใจร้อน พูดตรงไปตรงมาเกินไป ผิดจังหวะอะไรต่างๆ มันมีผลเสียกับชีวิตของเรา อันนี้ผมก็เปลี่ยนมาเป็นคนใจเย็นขึ้น ฟังคนมากขึ้น ไม่เถียงกับคนเท่าไร แต่อาจจะถกเถียงได้ 

 

ประสบการณ์ผมถือว่าช่วยมาก เพราะว่าผมเป็นคนที่โชคดี ประสบการณ์โรงเรียนเด็ก ผมก็ได้จากครูใหญ่ ซึ่งผมไปโรงเรียน Public School เป็นโรงเรียนแรกในอังกฤษที่มีโครงการอนุมัติให้เด็กนักเรียนที่ยากจนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แล้วพอผมไปมหาวิทยาลัยที่อังกฤษผมก็อ่านหนังสือ แล้วพอกลับมาก็ใช้ชีวิตราชการ 23 ปี ใช้ชีวิตหลังเรียนจบ 23 ปี ใช้ชีวิตเป็นนักการเมืองชั่วคราว 2 ปีครึ่ง ออกมาผมก็ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ไม่ว่าเรื่องของเด็กพิการ เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ของ UNICEF ช่วยเรื่องการศึกษาของเด็ก ให้เด็กรู้สิทธิ 

 

ผมรู้สึกว่าโชคดีที่ได้รับการผสมผสานกัน ระบบราชการก็รู้ นักธุรกิจก็รู้จักพอสมควร มีทั้งนักธุรกิจดี นักธุรกิจไม่ดี ทางการเมืองก็ได้เห็น จริงอยู่ อาจไม่ได้มีเพื่อนนักการเมืองมากเท่าไร แต่ก็ได้เห็นประสบการณ์ แล้วพอบั้นปลายก็ได้มาพบกับพวก NGO Activist มากขึ้น รุ่นเด็กผมก็พบมากขึ้น 

 

ดังนั้นความหลากหลายที่พบในชีวิตมันช่วยหล่อหลอมผม เพราะนอกจากเป็นคนที่ชอบคุยแล้ว ผมชอบฟัง จริงๆ แล้วที่ผมคุยผมชอบฟังมากกว่า แล้วส่วนใหญ่ตอนหลังผมได้ฟังรุ่นใหม่มากขึ้น ผมไม่เรียกว่ารุ่นเด็กนะ คือรุ่นที่มีหัวคิดใหม่ คนที่มีหัวคิดใหม่อาจจะอายุ 50 ปีหรือ 70 ปีก็ได้ 

 

อย่างที่เราบอกว่าชีวิตคือละครโรงใหญ่ หรือชีวิตคือการเดินทาง ในแง่หนึ่งผมว่าชีวิตคือการเรียนรู้ ผมแน่ใจ ผมเรียนรู้จนกระทั่งผมตาย 

 

กระทั่งวันนี้ผมอ่านอะไรที่ไม่รู้เรื่อง อ่านภาษาอังกฤษบางคำไม่รู้มาก่อน ผมก็ต้องเปิดดิกชันนารีดู ก็จะอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือการเมืองระหว่างประเทศ 

 

เพราะฉะนั้นอะไรที่เราสนใจก็ต้องเรียนรู้ต่อไป แต่อะไรบางอย่างก็มีข้อจำกัด ผมเป็นคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นไม่มากนัก หลายสิ่งหลายอย่างผมรู้ว่าเรียนไปก็ไม่ได้อะไร เรื่องวิทยาศาสตร์นี่ไม่เอาไหนเลย เรื่องเครื่องจักร เครื่องมือ ผมทำไม่เป็น จนบัดนี้เรื่องดิจิทัลผมก็ไม่รู้เรื่อง 

 

ดังนั้นเราต้องรู้อะไรที่เรารู้ รู้อะไรที่เราไม่รู้ ที่ไม่รู้แบ่งเป็น 2 ภาค ไอ้ที่ไม่รู้แต่เราน่าจะเรียนรู้ และคิดว่าเราจะเรียนรู้ได้เราก็จับ แต่อีกภาคหนึ่ง เราไม่รู้และเราไม่สนใจที่จะเรียน และถึงเรียนเราก็ไม่มีทางจะรู้ได้ก็ตัดทิ้งไปเลย 

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

จากที่ใช้ชีวิตมา 90 ปี ใช้ชีวิตมาหลายบทบาท ทั้งนักการทูต นักธุรกิจ นักการเมือง คิดว่าบทบาทไหนที่ยังเรียนรู้ได้อีก ฉากชีวิตไหนที่คุณอานันท์ชอบ

ถ้าพูดเชิงประสบการณ์ สมัยผมอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ผมมีบทบาทค่อนข้างจะมาก ยังหนุ่มอยู่ กระทรวงส่งเป็นผู้แทนถาวร ได้ทำหลายสิ่งที่นักการทูตทั่วไปไม่ได้ทำ 

 

ส่วนการเป็นนักธุรกิจ ผมว่าผมไม่ได้เป็นนักธุรกิจ เพราะผมไม่ได้เข้าไปนั่งทำการค้าจริงจัง แต่ไปนั่งเป็นประธาน เป็นคณะกรรมการ แต่ผมโชคดีได้ไปทำอะไรก็สนุกทั้งนั้น งานที่ตัวเองรู้เรื่องก็สนุก งานที่ตัวเองไม่รู้เรื่องก็สนุก แล้วก็พยายามเรียนรู้มันมากขึ้น 

 

แต่เรื่องการเมืองคุณต้องคิดดูนะว่าผมกล้าแค่ไหน ผมได้รับเชิญเป็นรัฐมนตรี 2 ครั้ง แต่ผมไม่ได้รับเพราะผมไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง แต่เมื่อได้รับเชิญเป็นนายกรัฐมนตรีผมรับทันที แล้วเมื่อได้รับแล้วถามว่าเสี่ยงไหม มันเสี่ยงมากนะ เสี่ยงอย่างที่เรียกว่าผมยังไม่นึกว่าผมกล้าถึงขนาดนั้น แต่นิสัยมันหล่อหลอมมาว่าถ้าเราเห็นอะไรที่จำเป็นต้องทำ เป็นโอกาสให้เราทำได้ก็อย่าพลาดโอกาส 

 

เราจะบอกว่าเรากล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง อะไรต่างๆ มันเป็นเรื่องนิสัยเราโดยอัตโนมัติ 

 

ด้านหนึ่งตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ความจริง หลังจากการไตร่ตรองแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดมาจาก Instinct เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามแต่ มาถึง Instinct มันจะมาโดยอัตโนมัติ อยู่ที่เราบอกว่าเมื่อใด 

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

รัฐนาวาเวลานี้ มีความเหมือนความต่างกับตอนที่คุณอานันท์ต้องมาขับเคลื่อน อย่างไร 

พูดลำบากนะ ตอนสมัยผมเป็นคนคุมรัฐนาวาด้วยตนเอง รู้ด้วยตัวเองว่าอะไรเป็นอะไร มองจากปัจจุบันผมไม่รู้นะ ผมไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนะ อะไรไม่เคลื่อนไปไหน ไม่ดี ถ้าเกิดรัฐนาวาอยู่นิ่งเฉยๆ กลางน้ำ แล้วปล่อยให้มันลอยไปตามกระแสน้ำ อันนั้นก็ไม่ดี 

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

ถ้าให้พูดถึงเรื่องการเป็นผู้นำที่กล้าหาญน้อมรับผิดเมื่อพลั้งพลาด สำหรับมุมมองของคุณอานันท์ คิดอย่างไร

 

มันต้องมาจากความซื่อตรงต่อตัวเองนะ อันนี้ผมก็คิดว่าได้มาจากคุณพ่อ ปัญหาว่าถ้าเกิดมีอะไรผิดพลาดในชีวิตส่วนตัว ชีวิตการงาน ถ้าเป็นความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ หรือถ้าเป็นความผิดพลาดหลังจากที่เราพยายามทำดีที่สุดแล้ว อย่างนั้นขอโทษ เราจะไม่มี Guilty Complex เราจะขอโทษแล้วก็เดินต่อไป 

 

แต่ถ้ามีอะไรที่ไม่ซื่อตรง ไม่บริสุทธิ์ใจ เราขอโทษไปวันๆ แต่ความผิดมันยังอยู่ในใจ ยังตกค้างในใจ แต่อันนี้พอขอโทษเสร็จแล้ว ความผิดพลาดมันเลื่อนลอยไปเลย มันทำให้ตัวเองรักษาความอิสระได้ เพราะตัวคุณเองต้องมีความเป็นอิสระในการจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง แต่ทำพลาดไปแล้วจะพลาดเพราะอะไรก็แล้วแต่ จะพลาดเพราะในเรื่องของไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม หรือผิดจังหวะเวลา แต่คุณตั้งใจดีที่สุดแล้ว ความตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุดไม่มีอะไรปิดบัง มันคล้ายเป็นเกราะคุ้มกันคุณ ไม่ให้ความรู้สึกผิดอยู่ในหัวใจคุณ เมื่อหลังจากที่คุณขอโทษเขาแล้ว 

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

ความกล้าเสี่ยงกับคนเป็นผู้นำ ควรจะมีวิธีคิดอย่างไร

ผมทำงานกับคนกลุ่มหนึ่งตอนเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผมก็บอกกับพวกรัฐมนตรีตั้งแต่แรกว่า ผมเป็นคนตรงไปตรงมานะ ผมอยากเห็นพวกคุณทั้งหลายตรงไปตรงมา ในประเด็นต่างๆ ที่ ครม. ต้องพิจารณาขอให้พูดได้เต็มที่ และผมจะเปิดโอกาสให้พูดได้เต็มที่ แต่ถ้าสุดท้ายตกลงกันไม่ได้ 

 

ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินนะ ทุกคนก็รับแบบฉบับการทำงานของผม เพราะฉะนั้นใน ครม. ของผม บางครั้งบางคราวใช้เวลาค่อนข้างจะมาก เพราะผมให้ทุกคนพูดหมด แต่มีสิ่งหนึ่งคือทำอะไรควรมีแผน แต่แผนนี้ต้องเป็นแผนยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นจะมีเรื่องใดเข้า ครม. ที่ผมเห็นว่าต้องคุยแล้วจะเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก ผมจะคุยกับรัฐมนตรี 5-6 ท่านก่อน ผมจะคุยข้างนอกก่อนเพื่อสอบถามความเห็น สอบถามความรู้สึก แต่โดยเฉพาะใน ครม. รัฐมนตรีมี 30 กว่าคน ผมอาจจะมี 7-8 คนที่รับประทานข้าวกับผมบ่อยหน่อย เรียกว่าเป็น Kitchen Cabinet อย่างรองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ 

 

อย่างสมมติจะมีวาระเรื่องสู้กับเอดส์เข้ามา ผมก็จะคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีมีชัย (มีชัย วีระไวทยะ) รองนายกฯ บางคน คุยกัน แต่พอพิจารณากันจริงๆ ผมก็จะให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นผู้เสนอ ระหว่างคุยกันก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน พอไปถึงคณะใหญ่ก็ยังมีเถียงกันอีก ถ้าเกิดยังไม่งอม ผมยังไม่ตัดสินใจ และหลังจากที่ผมดูแล้ว ทุกคนได้พูดเต็มที่แล้ว คือไม่มีการออกเสียงลงคะแนนใน ครม. แต่จากประสบการณ์ที่ผมรู้สึกว่าได้ปรึกษาคนทุกคนแล้ว และคนทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้โอกาสแถลงความเห็นบอกจุดยืนของเขาครบแล้ว แต่ยังตกลงกันไม่ได้ ผมก็บอกว่าตัดสินใจอย่างนี้นะ แล้วผมก็บอกตั้งแต่เข้ามาใหม่ๆ ใน ครม. ว่า อะไรที่ตกลงกันไม่ได้แล้วผมตัดสินใจ ผมรับผิดชอบนะ แต่ระบอบประชาธิปไตยมันเป็น Collective Responsibility มีความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะฉะนั้นผมจะไม่ถือว่าคุณไม่เห็นด้วยคือคุณคัดค้าน คุณไม่เห็นด้วยคือคุณงดเว้นออกเสียง 

 

ดังนั้นเมื่อนายกฯ ตัดสินใจอย่างนี้ หลังจากไตร่ตรองอย่างละเอียดและให้ความเป็นธรรมกับทุกข้อมูลของการถกเถียง อย่าออกไปพูดข้างนอกนะว่าเห็นไม่ตรงกัน เพราะอันนี้เป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นพวกรัฐมนตรี รวมทั้งทหารที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี ก็จะไม่เคย ไม่มีรัฐบาลผมออกมาว่านายกฯ ไม่ทุบ ต้องถกเถียงกันอีก เพราะจบก็จบเลย 

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลกประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงส่วนมาก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่ ครม. ผมทำไป เรารู้สึกว่าประชาชนอาจจะไม่ชอบในระยะสั้น ไม่ว่าเรื่องของการลดภาษีการส่งรถจักรยานยนต์เข้ามาในเมืองไทย หรือเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการใส่หมวกกันน็อก เป็นต้น แต่เราทำเมื่อเรารู้สึกว่ามันถูกต้อง และมันจะเป็นประโยชน์กับสังคมในระยะยาว 

 

ดังนั้นทุกอย่าง หนึ่ง สิ่งที่เรียกว่าต้องมีส่วนร่วมทิ้งไม่ได้ สอง หาข้อมูลข้อเท็จจริงให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนผมทำโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ใน ครม. ก็มีสองถึงสามคนถกเถียงกัน แต่ไม่รู้ว่าข้างนอกผมมีเพื่อนที่ผมปรึกษาหารือด้วย เพื่อนที่ไม่มีผลประโยชน์ เพราะผมไม่มีความรู้ทางด้านโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นการหาความรู้เพิ่มเติม การศึกษาให้ถี่ถ้วนสำคัญมาก 

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

ในมุมของคนที่ผ่านชีวิตมา 90 ปี คุณอานันท์มอง หรือรู้สึกกับฉากชีวิตของตัวเองอย่างไร

ผมมองว่าตัวผมเป็นคนโชคดี ที่เกิดมาได้พ่อแม่ที่ดี มีพี่น้องที่ดี มีเพื่อนที่ดี ชีวิตผมได้โอกาสที่ดี สอง ผมโชคดีที่เป็นคนชอบเรียนรู้ของใหม่ๆ แต่ที่สำคัญที่สุด เรียกว่าผมเป็นคนที่ไม่มีแผนในชีวิตนะ ผมเองไม่มีความฝันในชีวิต ในชีวิตผมที่ผมรู้สึกพอดี พอเพียง เพราะอยู่กับโลกของความจริงไม่ใช่โลกที่เราอยากเห็น เราพยายามกำลังสร้างโลกที่เราอยากเห็น แต่ขณะนี้ปัญหาคือโลกของความจริง 

 

อันที่สาม ผมไม่มีความทะเยอทะยาน ชีวิตผม ผมไม่เคยอยากเป็นโน่นเป็นนี่ หลายตำแหน่งในชีวิตไม่ได้มาจากผมแสวงหา มันมาเองทั้งนั้น จะเรียกว่าฟ้าลิขิตก็แล้วแต่ ดังนั้นได้มาเองโดยที่ไม่ได้แสวงหา มันก็สะท้อนว่าถ้าเราได้มาง่ายๆ เราย่อมต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

 

ถามว่าผมรู้สึกกับชีวิตอย่างไร ผมเป็นคนไม่ค่อยสนใจกับชีวิตนะ ที่ทำก็ทำไป ทำดีที่สุด อันไหนสำเร็จก็ดีไป อันไหนไม่สำเร็จก็ช่วยไม่ได้

 

ผมไม่ค่อยนึกถึงความหลัง แต่ความหลังนี่จำได้นะ แต่หวังว่าจะทำอะไรให้อนาคตของสังคมดีขึ้น แล้วผมไม่รู้สึกว่ามีความภาคภูมิใจอะไรเป็นพิเศษนะ แล้วก็ไม่ได้มีความรู้สึกเสียใจอะไรเป็นพิเศษที่ทำเรื่องไหนสำเร็จ เรื่องไหนไม่สำเร็จ แล้วก็ไม่ได้มีความเสียใจอะไรในเรื่องใหญ่ที่มีความผิดพลาด ผมอยู่ของผมได้ แล้วก็มีความรู้สึกว่าถึงขั้นนี้แล้ว ทุกคนเห็นผมมาทุกฉาก ตั้งแต่ผมโต ผมเรียน ผมทำงาน รับราชการ ทำสาธารณประโยชน์ 

 

ถามว่ามีอะไรที่จะทำอีกไหม มีชีวิตอยู่ทำต่อได้ ผมจากไปจะเสียดายไหมว่า แหม รู้อย่างนี้ผมมีชีวิตอยู่ต่อ เป็นนายกฯ ต่ออีกสักปีสองปี ผมไม่มีคิดอย่างนี้ คือ

 

คุณต้องพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ถ้าเมื่อคุณพอใจแล้ว นั่นแหละเป็นรางวัลที่ได้จากการมีชีวิตแล้ว เราเกิดมาคุ้มค่า แล้วในที่สุดเรารู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่า ไม่ใช่แค่มีคุณค่ากับคนอื่น แต่มีคุณค่ากับตัวเองด้วย อันนั้นก็สบายใจ

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

คุณอานันท์มีมุมมองกับการมีชีวิตอยู่กับความตายอย่างไร

ผมไม่คิดเรื่องความตายนะ ก็รู้อยู่วันหนึ่งต้องตาย ผมก็ดูแลสุขภาพตัวเอง สัปดาห์หนึ่งก็ไปเดิน ก็ทำเท่าที่เราพร้อมจะทำ แต่ผมตื่นเช้ามาผมไม่ได้นึกถึงอายุผม ชีวิตผม ผมไม่ได้นึกถึงความตาย ผมอาจจะนึกถึงงานที่ยังค้างอยู่ 

 

ไม่กลัวถ้ามาถึง

ไม่รู้สึกกลัว มองมันเป็นธรรมชาติ ขออย่างเดียวขอให้ตายแบบเร็วๆ อย่าทรมาน ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ผมไม่ได้คิด อย่างที่ทุกคนรู้ตอนนี้ผม 90 ปีแล้ว ก็อยู่ด้วยความไม่ประมาท ผมคงไม่อยากหกล้มตาย ผมมีลูกสาว ลูกสาวดูแลผมดีมาก เขาจะบังคับผมไปตรวจโน่นตรวจนี่ตลอดเวลา ลูกสาวผมดูแลผมดี เราก็ระวังตัว ไม่ประมาท ถ้าถึงจังหวะต้องตายก็ขอตายแบบไม่ใช่หกล้มตาย ตกบันไดตาย แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องว่าอย่าไปคิดถึงมัน เพราะคุณสั่งสมองไม่ได้ แต่จากประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา จะสอนคุณว่ามาถึงจุดนี้คุณจะต้องคิดอย่างไร มันมาโดยอัตโนมัติ 

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

ถ้าวันหนึ่งที่เราทำงานมา เรามีพลัง เรามีลูกน้อง แล้วพอถึงวันหนึ่งที่เราไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจ แล้วกลับมาเป็นอานันท์ 

พวกหิวแสง พวกหิวอำนาจ ถ้าไม่มีความทะเยอทะยานสักอย่างมันก็ไม่มีอะไร ตอนเป็นนายกฯ ผมก็ไม่รู้สึกแปลกอะไรจากนายกฯ ปกติ ไม่เคยคิดว่าเป็นหัวโขนผมก็ไม่สนใจ ผมเป็นนายอานันท์ เมื่อคุณเปลี่ยนสภาพเปลี่ยนตำแหน่ง ตราบใดคุณยังเป็นนายอานันท์อยู่ก็ไม่มีอะไรต่าง เสร็จจากการเป็นนายกฯ ก็คืนรถยนต์ราชการ คืนคนขับรถไป ก็หมดแล้ว ผมไปอยู่ที่ไหน หน้าที่อะไรผมอยู่ได้ทั้งนั้น

 

มีความสุขกับชีวิต

เรียกว่ามีความพอใจ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ พอดี พอเพียง แล้วคุณต้องพอใจด้วยนะ พอใจกับมีความสุขต่างกัน อย่าไปแสวงหาความสุข ถ้าเกิดเราพอใจเรื่องอื่นไม่สำคัญ ใครจะด่าคุณ ใครจะชมคุณไม่มีปัญหา ผมไม่มีปัญหาถ้าใครไม่ชอบผม ใครติเตียนผม ปล่อยข่าวลือ เราพอใจกับตัวเรา เรามีความบริสุทธิ์ใจ คนเขาจะว่าคุณ คนจะตำหนิคุณ คนจะด่าคุณ ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร แล้วคุณรู้ว่าสิ่งที่เขาพูดมันไม่ได้เป็นของจริง ทุกข์ไม่เกิดจากเรานะ มันไม่ทำให้เราเกิดทุกข์ได้ แต่จากการที่เราไม่ฟังเขา ไม่สนใจเขา ไปฟ้องเขา คนนั้นน่ะมีความทุกข์เอง เราแค่ไม่โต้ตอบเขา ไม่ไปฟ้องร้องเขา เราแค่เห็นว่าเขาเป็นสวะมากกว่า

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

อยากให้ท่านพูดถึงบทบาทผู้นำต่อสถานการณ์โลกในวันนี้ ว่าถ้าผู้นำจะต้อง ‘กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง’ เรื่องไหนที่คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกล้าคิด เรื่องใดที่ต้องกล้าทำ และท้ายสุด เรื่องใดที่ต้องกล้าเสี่ยงได้แล้ว

ต้องกล้าอยู่ในเวทีโลกเสียก่อน เพราะขณะนี้มันไม่มี คุณต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง ถ้าคนเราไม่ทำอะไรเลย แล้วบอกผมไม่ผิด ก็แน่สิมันไม่ผิด แต่จริงๆ แล้วไม่ทำมันผิดใช่ไหม มันต้องมีบทบาท สมัยนี้บทบาทเมืองไทยแทบไม่มี ในเวทีภูมิรัฐศาสตร์แทบไม่มีประเทศไทยอยู่ สำหรับการเมืองระหว่างประเทศต้องกล้าคิด กล้าทำ แต่อย่าไปเสี่ยงมาก การเมืองระหว่างประเทศนี่ไปเสี่ยงไม่ได้

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

ในวันนี้โลกก็หมุนไปเรื่อยๆ คนเจเนอเรชันใหม่ ความคิดใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ สำหรับคุณอานันท์ที่ผ่านฉากชีวิตมากว่า 90 ปี มีวิธีคิด และมุมมองอย่างไรต่อการสนทนากับคนต่างเจเนอเรชัน

ผมคิดว่าคนเจเนอเรชันใหม่ อย่าไปคิดว่าเขาจะชอบผม เพราะผมคุยกับเขาได้เท่านั้น แต่ผมก็ชอบที่เขาคุยกับผมได้ด้วย อันนี้มันเป็น Two Way Street นะ ผมไม่ได้มานั่งเล่นละครนะว่าผมสนใจคุยกับคุณ ผมสนใจพวกคุณจริงๆ อันนี้จำเป็นมาก เขาถามผม ผมก็ถามเขา แต่สิ่งหนึ่งก็ต้องรู้แหละความเห็นอาจไม่ตรงกันเสมอไป แต่เราก็คุยกันได้ 

 

อันนี้เป็นปัญหาของทุกโลก ทุกประเทศ ที่ความเห็นไม่ตรง ไม่คุยกัน เหมือนตอนนั้นที่ชอบพูดกัน เรื่องต้องไปเจรจากันก่อน ผมคิดว่ามันเป็นศัพท์ที่ใช้ไปโดยไม่มีความหมาย จริงๆ แล้วคือมานั่งคุยกัน ส่วนไปขั้นการเจรจามันขั้นสุดท้าย ต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อน แล้วการคุยกันไม่ใช่การไปโน้มน้าวว่าความเห็นผมดีกว่าของคุณ ไม่ใช่ เรามาคุยกันเพื่อให้รู้ว่าอะไรที่เราร่วมกันได้ อะไรที่เราแชร์กันได้ อันนั้นเราก็ทำด้วยกันได้ อะไรที่เรายังไม่เห็นพ้องกันก็คุยกันต่อไป ระหว่างนี้ก็พักเรื่องนั้นไว้ก่อน ภาษาอังกฤษมีคำว่า Dialogue ภาษาไทยไม่มี ภาษาไทยส่วนใหญ่ใช้เจรจา แต่เจรจามันไม่ใช่ แม้แต่ในเรื่องการทูต มันก็ไม่ใช่ปุบปับคุณเจรจา เขามีการคุยกันล่วงหน้าก่อนแล้ว หลังจากคุณรู้สึกว่ามันพอจะปะติดปะต่อได้ คุณถึงจะเจรจา สิ่งที่เกิดในอเมริกา ในอังกฤษ ที่เขาเรียกว่าการแบ่งขั้ว มันไม่ใช่ไม่คุยกันอย่างเดียว มันจะตีกันตลอดเวลา ของเราครั้งหนึ่งก็เป็นอย่างนั้น ผมก็รู้สึกเราพลาดโอกาสนะ เพราะเมืองไทยผมว่าความแตกต่างในความคิดมันไม่ได้มากเลย ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง ขวาสุด ซ้ายสุด โซเชียลลิสต์ ความเห็นต่างทางด้านศาสนา อันนั้นแก้ยาก 

 

เราจะเห็นแต่ความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งนั้น มันไม่ได้มีอะไรที่เกินเลย แล้วก็ปล่อยข่าวกัน สมัยก่อนก็บอกไอ้นี่เป็นคอมมิวนิสต์ ผมก็เป็นคอมมิวนิสต์ เดี๋ยวนี้เอะอะอะไรก็ไอ้นี่ล้มเจ้า คือว่ากันง่ายๆ แล้วคนก็เชื่อง่าย ถึงจริงๆ แล้วไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น 

 

ผมรู้สึกว่าเมืองไทยปัญหานี้จะแก้จริงๆ มันไม่ยาก แต่ผมก็พูดเสมอว่าความคิดแตกต่างกัน มันไม่ยึดเป็นคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ความคิดใหม่ ความคิดเก่า แล้วไม่เกี่ยวกับอายุนะ เพราะคนอายุ 80 ปี อายุ 90 ปีก็อาจจะมีความคิดใหม่ คนที่เด็ก 25 ปีก็อาจมีความคิดเก่า มันไม่ได้อยู่ที่อายุ อยู่ที่เราสนใจแค่ไหน อันนี้ก็ต้องเข้าใจ 

 

ผมสนุกกับการคุยกับพวกคุณ ผมเรียนรู้จากพวกคุณ ไม่ต้องอะไรมาก ผมกับลูกๆ ผมก็มีความเห็นแตกต่าง บางทีก็ถกเถียงกัน ผมกับหลาน กับเหลน ต่อไปก็เหมือนกัน คนเราต้องยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงเราหยุดยั้งไม่ได้

 

ไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นแน่ ทุกๆ เรื่องมีการเปลี่ยนแปลง เราหยุดไม่ได้ และเราจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

FYI

หนังสือ ‘นักสู้ อานันท์’ บันทึกนักการทูตชั้นนำชั้นเลิศ ฉายา ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’  รวบรวมอัตชีวประวัติ ‘นักสู้ อานันท์’ กว่า 9 ทศวรรษ โดย วิทยา เวชชาชีวะ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 18 ของประเทศไทย

 

หนังสือนี้ยังมีชื่อในอันดับรองว่า ‘กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง’ เป็นวลีสั้นๆ แต่มีความหมายมาก เพราะบ่งถึงลักษณะประจำตัว (Character) และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของ อานันท์ ปันยารชุน ตลอดเวลาอันยาวนานถึง 9 ทศวรรษ ไม่ว่าในฐานะนักการทูตรับมอบภารกิจพิเศษ ‘นอกกรอบ’ หรือในการเข้ารับเป็นผู้บริหารสูงสุดในยามที่ประเทศกำลังต้องประสบกับวิกฤตการณ์อันหนักหน่วง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสั่งจองหนังสือ ‘นักสู้ อานันท์’ ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ www.planparithat.com/

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising