×

ธปท. ยัน ทุนสำรองฯ ไทยเพียงพอรองรับวิกฤตโลกผันผวน ย้ำเข้าดูแลค่าเงินตามความจำเป็น คาดใช้เวลาอีก 1-2 ปี ดอกเบี้ยไทยสู่จุดสมดุล

17.10.2022
  • LOADING...
ธปท.

ธนาคารแห่งประเทศไทยยัน ทุนสำรองฯ ไทยเพียงพอรองรับวิกฤตโลกผันผวน พร้อมเข้าดูแลค่าเงินตามความจำเป็น คาดใช้เวลาอีก 1-2 ปี เพื่อปรับดอกเบี้ยสู่จุดสมดุล

 

ในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2565 ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงกรณีที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยปรับลดลงจากต้นปีที่ผ่านมาไปแล้วถึง 20% ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ทุนสำรองของไทยในปีนี้ปรับลดลงมากเกิดจากการตีมูลค่าของสินทรัพย์ (Valuation) ที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการเข้าแทรกแซงเพื่อดูแลค่าเงินบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


“แบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลค่าเงินเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินมีความผันผวนสูงเท่านั้น โดยสิ่งที่เราจะดูหลักๆ ว่าจะต้องเข้าดูแลค่าเงินหรือไม่มี 3 เรื่อง คือ

  1. มันจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นหรือไม่
  2. จะกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่ และ
  3. จะกระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือไม่” ปิติกล่าว

 

ปิติระบุว่า ปัจจุบันเงินทุนสำรองฯ ไทยยังอยู่ในระดับที่เพียงพอ รองรับความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะการเงินโลกที่กำลังตึงตัวขึ้น ทั้งจากธนาคารกลางที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

“ทุนสำรองฯ ไทยในภาพรวมยังอยู่ในระดับที่สูงมาก คิดเป็น 50% ของ GDP ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับหนี้ระยะสั้นได้กว่า 3 เท่า สำหรับความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกรุนแรงตอนนี้มองว่ายังมีจำกัด เพราะนักลงทุนจะดูปัจจัยภายในของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งปัจจัยภายในไทยยังโอเค วัฏจักรเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงขาขึ้น” ปิติกล่าว

 

ปิติกล่าวอีกว่า ที่ประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ

 

  1. อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง โดยทั้งโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 8.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลาย 10 ปี

 

  1. ภาพเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น โดย IMF ประมาณการว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจในโลกจะเข้าสู่ภาวะหดตัว และมีโอกาสถึง 25% ที่เศรษฐกิจโลกจะโตประมาณ 2% หรือต่ำกว่า ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำมากและเคยเกิดขึ้นเพียง 5 ครั้ง หลังจากช่วงปี 1970 เป็นต้นมา

 

  1. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และ จีน-สหรัฐฯ ที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายการเงินต่อไป

 

ปิติกล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังมุ่งให้ความสำคัญคือการจัดการเงินเฟ้อ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างเร็วและเยอะ ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4% ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี โดยเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย

 

“ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณของความอ่อนไหวในตลาดหลายตลาด เช่น ตลาดพันธบัตรของอังกฤษ ขณะที่สภาพคล่องในตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับไม่ปกติ เป็นความเสี่ยงที่ธนาคารกลางต้องพยายามดูแลให้เศรษฐกิจผ่านช่วงความเสี่ยงไปได้” ปิติกล่าว

 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เพื่อดูแลให้ผ่านความเสี่ยงในช่วงนี้ สิ่งที่ธนาคารกลางต้องทำในเชิงนโยบายคือมองทะลุผ่านความไม่แน่นอนและแรงกระแทกในระยะสั้น โดยมองภาพระยะปานกลางและพยายามไม่เพิ่มความไม่แน่นอนจากนโยบายเข้าไปเสริมความไม่แน่นอนที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันแนวการดำเนินนโยบายจะต้องยืดหยุ่นและปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องใช้นโยบายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศด้วย

 

“ในกรณีของไทย นโยบายการเงินเรามุ่งที่จะให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและไม่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อเงินเฟ้อ ซึ่งจะแตกต่างจากบางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ ที่ต้องการฉุดเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงเพื่อดึงเงินเฟ้อลง” ปิติกล่าว

 

ปิติยังกล่าวถึงแนวโน้มดอกเบี้ยไทยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นไปถึงระดับใด แต่ชัดเจนว่าดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันที่ 1% ยังไม่ใช่ระดับสูงสุด และยังไม่ใช่ระดับ Neutral Rate หรือจุดที่ดอกเบี้ยเข้าสู่สมดุล ซึ่งตามหลักการเมื่อเศรษฐกิจกลับสู่ระดับศักยภาพ ดอกเบี้ยที่แท้จริงควรเป็นบวก ดังนั้นระยะข้างหน้าจะเห็นดอกเบี้ยขึ้นต่อไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

“คงบอกไม่ได้ว่าดอกเบี้ยควรขึ้นไปอยู่ที่ระดับใด แต่ระดับปัจจุบันยังไม่ใช่จุดที่ดอกเบี้ยเข้าสู่สมดุล ซึ่งคาดว่าอาจต้องจะใช้เวลาถึง 1-2 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ระดับศักยภาพ” ปิติกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X