×

พาเหรดดอกเบี้ยนโยบายขาลง เมื่อแบงก์ชาติทั่วโลกปรับลดกระทบไทยอย่างไร?

20.09.2019
  • LOADING...
ดอกเบี้ยนโยบาย

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ธนาคารกลางทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักวิเคราะห์ไทยชี้ปี 2562 จับตาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามหรือไม่? TMB ชี้ ธปท. ลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้
  • ส่องสถานการณ์การออกมาตรการ QE ของธนาคารกลางทั่วโลกที่จะเพิ่มสภาพคล่อง และอาจส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินบาทของไทยจะแข็งค่าขึ้น ธนาคารกรุงไทยมองว่าปี 2563 ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่ามาอยู่ที่ 29.00-30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • เศรษฐกิจไทยแย่รับผลกระทบทั่วโลก ทั้งปี 2562 GDP ไทยอาจเติบโตไม่ถึง 3% เร่งรัฐเบิกจ่ายสร้างความเชื่อมั่นและการลงทุนในไทย

ตั้งแต่ต้นปี 2562 ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกขยับเป็นขาลงชัดเจนขึ้น ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาด้วย ว่าแต่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ค่าเงินบาทอย่างไร?

 

ทำไมธนาคารกลางทั่วโลกต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยเศรษฐกิจได้จริงหรือ? 

ปัจจุบันในเดือนสิงหาคมปี 2563 ธนาคารกลางของหลายประเทศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายกันหมดตั้งแต่ธนาคารกลางออสเตรเลีย ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคารกลางมาเลเซีย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฯลฯ ล่าสุดประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เดือนกันยายนนี้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75-2.00% ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี 

 

ทั้งนี้ทาง FED บอกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งสอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ ที่มีท่าทีชะลอตัวลง

 

ตามทฤษฎีการที่ธนาคารกลางของประเทศประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้ต้นทุนในประเทศต่ำลง ส่งผลให้เอกชนหันมาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ในบางประเทศยังส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ต่ำลง อาจทำให้คนในประเทศฝากเงินน้อยลง และนำเงินออกมาอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น 

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ THE STANDARD ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาโตอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้ทั่วโลกทั้งจีน สหรัฐฯ มองเห็นแล้วว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี

 

ดังนั้นทางออกทุกประเทศมี 2 ทางคือ 1. ภาคเอกชนต้องสร้างนวัตกรรมที่ทำให้หลุดจากภาวะเสี่ยงเศรษฐกิจถอถอยไปให้ได้  2. ภาครัฐอัดฉีดเงินเข้าไปให้ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ลง เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนกล้าที่จะลงทุนมากขึ้น และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น 

 

ส่วนของไทย ด้านนโยบายการคลังมีทางกระตุ้น 2 แบบคือ 1. การแก้กฎหมาย เช่น การทำเรื่อง Ease of Doing Business ฯลฯ 2. การส่งเงินตรงเข้าไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีให้ภาคเอกชน ประชาชน สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานและพัฒนาเรื่องใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น พื้นฐานด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลฟรี การเรียนที่มีคุณภาพ ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะประเทศไหนปัญหาการเมืองเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาได้เร็วที่สุด

 

ดอกเบี้ยนโยบาย

 

การลดดอกเบี้ยทั่วโลก ส่งผลต่อไทยอย่างไร?

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ในระยะสั้น 1 เดือนนี้คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่ากว่านี้ มีโอกาสที่จะแตะ 30.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่อยู่ราว 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะ FED ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะทำให้เห็น Fund Flow (การเคลื่อนย้ายเงินทุน) ที่อาจจะไหลเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น 

 

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่า มาจากการเก็งกำไรค่าเงิน ไม่ใช่พื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เพราะตามปกติเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้เงินบาทควรจะอ่อนค่าลงบ้าง ซึ่งที่บาทยังแข็งค่าแบบนี้ยิ่งต้องจับตามอง”

 

ที่ผ่านมาไทยมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าจำนวนมาก เช่น ต้นเดือนกันยายน แม้เงินต่างชาติจะไหลออกจากพันธบัตรประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่ระยะนี้เห็นเงินร้อนต่างชาติไหลกลับเข้ามาเป็นหมื่นล้านบาท เลยเป็นโอกาสที่บาทอาจจะแข็งค่าขึ้นไปอีก ซึ่งเงินร้อนเหล่านี้อาจจะเคลื่อนย้ายออกจากไทยได้อย่างรวดเร็ว

 

ดังนั้นปัจจัยที่อาจกระทบค่าเงินบาท ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทาง TMB คาดการณ์ว่าภายในปี 2562 จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง นอกจากนี้ต้องจับตามองการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ด้วย

 

อย่างไรก็ตามในระยะยาวมองว่าค่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงเพราะทิศทางการเกินดุลการค้าของไทยลดลง จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยต้องนำเข้าน้ำมันเยอะอยู่แล้วจะช่วยถ่วงดุลได้บ้าง ส่วนการท่องเที่ยวชะลอตัว เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะน้อยลง เงินบาทจึงมีโอกาสอ่อนค่าลง โดยช่วงสิ้นปี 2562 ค่าเงินบาทอาจจะอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

ทั้งนี้มองว่าไตรมาส 3/62 GDP ไม่น่าจะเติบโตถึง 2.5% ทำให้ทั้งปี 2562 GDP ไทยไม่น่าเกิน 3% และอยู่ที่ระดับ 2.7% 

 

ทำไมการทำ QE ในต่างประเทศอาจส่งผลกระทบให้เงินบาทจะทะลุต่ำ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

จิติพล กล่าวว่า เมื่อหลายประเทศจะหันมาเพิ่มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะทำราว 30,000 ล้านยูโรต่อเดือน และ FED จะทำ QE 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน น่าจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2563 และทั้งสองธนาคารกลางจะอัดฉีด QE ไปจนถึงสิ้นปี 2563 นอกจากนี้ต้องจับตาธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่น่าจะออกมาตรการ QE เช่นกัน 

 

“ไทยเรายังไม่เคยทำ QE มาก่อน เคยทำแต่แบบกึ่งๆ QE คือการนำเงินไปซื้อดอลลาร์สหรัฐเก็บไว้ แต่ไม่ได้ทำ QE ที่จะซื้อของในประเทศตัวเองเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งไทยเราน่าจะไม่ทำลักษณะกึ่ง QE อีกเพราะระมัดระวังการจับตาของสหรัฐฯ”

 

ทั้งนี้การทำ QE ทั่วโลกจะส่งผลต่อสภาพคล่องในโลกเพิ่มขึ้น และจะมีเงินทุนไหลเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีโอกาสถึง 70% ที่จะแข็งค่าในช่วงปี 2563 และอาจจะทะลุ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม อาจแข็งค่าได้ถึง 28.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลือกที่จะทำนโยบายดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า

 

นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทยคาดการณ์ว่าหากอยู่ในภาวะปกติ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกสองครั้งในปี 2562-2563 ทว่าหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าสองครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563

 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะคงที่ไม่ปรับลดลงมากกว่านี้ เพราะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในภาวะปัจจุบัน

 

อ่านข้อมูลเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้ที่

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising