×

รัฐบาลไทยจ่ายดอกเบี้ยปีละกว่า 2 แสนล้านบาท สูงกว่างบประมาณที่จ่ายให้กระทรวงส่วนใหญ่ และอาจเพิ่มต่อเนื่อง น่ากังวลแค่ไหน?

23.05.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • รัฐบาลไทยจ่ายดอกเบี้ย ‘มากกว่า’ เงินต้นมาหลายปีติดต่อกัน
  • โดยภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ สูงมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี และภาระนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เหตุจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง
  • เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายในแต่ละปี ‘สูงกว่า’ งบประมาณที่จ่ายให้กับกระทรวงส่วนใหญ่ในประเทศ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

รายจ่าย ดอกเบี้ย ของ รัฐบาลไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากหนี้สาธารณะ (Public Debt) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) ทั้งในประเทศและนอกประเทศที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี

 

ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แสดงให้เห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดการชำระดอกเบี้ย (Interest Payment) ของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับสูงมาตลอด เกินระดับ 2 แสนล้านบาท โดยอยู่ที่ 219,272.46 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565, 226,153.91 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 และ 211,438.93 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2563

 

ทั้งนี้ THE STANDARD WEALTH รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากปีงบประมาณดังกล่าวเป็นปีแรกที่ สบน. รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีการแยกการรายงานผลการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกมาอย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทย ชำระเงินต้นน้อยกว่า ดอกเบี้ย มาหลายปีติดต่อกัน โดยรัฐบาลชำระหนี้เงินต้นอยู่ที่ 72,724.63 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565, 90,431.84 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 และ 101,304.83 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2563

 

 

แม้การจ่ายดอกเบี้ยของทางการไทยมากกว่าเงินต้นมาหลายปี อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายดังกล่าวยังเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ

 

ซึ่งระบุว่า สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาลรับภาระ ต้องไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

 

ขณะที่สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาลรับภาระ ต้องตั้งตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น

 

 

รายจ่ายดอกเบี้ยรัฐบาลไทยสูงแค่ไหน?

 

เมื่อให้เข้าใจภาพได้ง่ายขึ้น พบว่า รายจ่ายดอกเบี้ยรัฐบาลไทย (ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ) ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่สูงกว่า 2.61 แสนล้านบาท ยังสูงกว่างบประมาณที่ถูกจัดให้กระทรวงส่วนใหญ่ของประเทศในปีงบประมาณ 2567 ตัวอย่างเช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

 

รายจ่ายดอกเบี้ยรัฐบาลไทยจ่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566-2567 และแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน แสดงให้เห็นว่า รายจ่ายดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

โดยในปีงบประมาณ 2566 การชำระดอกเบี้ยของรัฐบาลไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 233,492.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.4% และเพิ่มขึ้นแตะ 261,828.90 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้น 12.13% จากปีก่อนหน้า

 

นอกจากนี้ ยังมีหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ล้วนออกมาเตือนว่า หากรัฐบาลเดินหน้าทำดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งต้องใช้ทุนราว 5 แสนล้านบาท ก็จะผลักดันให้ภาระหนี้หรือภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกได้

 

รายจ่ายดอกเบี้ยสูงจ่อกระทบเครดิตเรตติ้ง?

 

ตามข้อมูลจาก สบน. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แสดงให้เห็นว่า ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ของรัฐบาลไทยในสิ้นปีงบประมาณ 2562-2566 อยู่ที่ 6.54%, 7.18%, 7.92%, 8.29% และ 8.34% ตามลำดับ

 

ตามการคำนวณของ THE STANDARD WEALTH ผ่านแผนการชำระดอกเบี้ย (จาก สบน.) และประมาณรายได้รัฐบาลสุทธิ (จากแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2567-2570 ฉบับทบทวน) พบว่า สัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ (Interest Payments to Revenue Ratio) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ความสำคัญ จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 9.39% ในสิ้นปีงบประมาณ 2567

 

ขณะที่ตามการประมาณการของ รศ.ดร.อธิภัทร ระบุว่า มีโอกาสที่ต้นทุนทางการคลังจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจผลักดันให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้เพิ่มขึ้นใกล้เพดาน Upper Medium Investment Grade ที่ 10%

 

เมื่อเดือนเมษายน รศ.ดร.อธิภัทร ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยระบุว่า ปัจจุบันภาระดอกเบี้ยต่อรายได้อยู่ที่ประมาณ 9% ดังนั้น ถ้ารัฐบาลทำดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งต้องใช้ทุนถึง 5 แสนล้านบาท ก็จะผลักดันให้ภาระหนี้หรือภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ขึ้นไปเฉียด 10% และสิ่งที่น่ากังวลคือ 10% เป็นเพดานของ Investment Grade ดังนั้น เราก็มีความเสี่ยงมากขึ้นว่าอาจถูกลดอันดับมุมมอง (Outlook) หรืออาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ได้

 

 

โดย รศ.ดร.อธิภัทร อธิบายว่า ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่สถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้งต่างๆ (Credit Rating Agencies) ใช้ประเมิน โดยยกตัวอย่างว่า “ปกติเวลาคนกู้เงิน ธนาคารก็ต้องดูว่าภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเทียบกับรายได้ของผู้กู้สมเหตุสมผลหรือไม่ ในกรณีของการดูความน่าเชื่อถือของประเทศไทย สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็ต้องดูเหมือนกันว่า ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลเทียบกับประมาณการรายได้จากภาษีจากแหล่งต่างๆ สมเหตุสมผลหรือเปล่า”

 

คนไทยควรกังวลหรือไม่?

 

จินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สบน. กล่าวว่า ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือใช้พิจารณาเท่านั้น เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่พิจารณาประกอบด้วย เช่น หนี้สาธารณะต่อ GDP และความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk)

 

นอกจากนี้ จินดารัตน์ยังชี้ว่า ระดับภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ปัจจุบันของไทย ซึ่งอยู่ระดับ 8% กว่าๆ ยังอยู่ในระดับ A- ดังนั้น หากขึ้นไปถึงระดับ 10% ก็ยังถือว่า ‘เท่าตัว’ คือระดับ BBB+ 

 

“ถ้าอยู่ระดับ 8-11% ยังโอเค แต่ถ้าเลย 12% ไปเมื่อไร จะหมายความว่าตกอันดับการลงทุน (Investment Grade)”

 

จินดารัตน์อธิบายอีกว่า แนวโน้มของภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยและรายได้ของรัฐบาล

 

ตามรายงานของ Moody’s Investors Service ระบุว่า การพิจารณาถึงความแข็งแกร่งทางการคลัง (Fiscal Strength) มี 4 ปัจจัยหลักที่พิจารณา โดยให้น้ำหนักอย่างละ 25% ได้แก่

  • หนี้รัฐบาลต่อ GDP
  • หนี้รัฐบาลต่อรายได้
  • ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้
  • ภาระดอกเบี้ยต่อ GDP

 

 

องค์กรระหว่างประเทศประสานเสียงให้รัฐบาลไทยรัดเข็มขัด-ลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาว

 

ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) หรือใช้งบประมาณแบบขาดดุล เนื่องจากมองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต และต้องการการอัดฉีดเงินลงไปในระบบ โดยเฉพาะผ่านนโยบายเรือธงอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

 

หน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เคยกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า เตือนไทยขาดวินัยการคลัง อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพประเทศ การรักษาจุดยืนทางการคลัง (Fiscal Stance) ที่รอบคอบในระยะสั้น ด้วยการสนับสนุนแบบเฉพาะเจาะจง (Well-Targeted) ไปยังกลุ่มเปราะบางถือเป็น ‘สิ่งสำคัญ’ จากการพิจารณาจากโมเมนตัมการบริโภคที่แข็งแกร่ง ช่องว่างของผลผลิต และพื้นที่ทางการคลังที่แคบลง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมระดับโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

 

“วินัยทางการคลังที่ไม่เพียงพอภายใต้สภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ที่ล่าช้าออกไป อาจทำให้หนี้สาธารณะแย่ลง ซึ่งอาจทำให้ภาครัฐต้องรีบหันมาใช้นโยบายที่เข้มงวดอย่างกะทันหัน และอาจกลับมาเป็นความท้าทายต่อการเติบโตอีกที” IMF ระบุ

 

ส่วนในระยะกลาง การยกระดับการระดมรายได้และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายที่ดีขึ้นจะช่วยลดหนี้สาธารณะและทำให้พื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในด้านการศึกษา สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ

 

“การปรับนโยบายการคลังและการเงินให้กลับสู่ระดับปกติ (Normalization) อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างกันชนขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจได้” IMF ระบุ

 

เช่นเดียว Dr.Hoe Ee Khor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD WEALTH เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับนโยบายการคลังและโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมองว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับดี ดังนั้น รัฐบาลควรใช้จ่ายทางการคลังเพื่อวัตถุประสงค์ระยะยาวอื่นๆ มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงครั้งเดียว เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับทักษะของกำลังแรงงาน และการลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยถูกยกระดับขึ้นอีกครั้ง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising