×

InnovestX คาด พรุ่งนี้ กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% หลังเงินเฟ้อชะลอตัว เศรษฐกิจไทยเปราะบาง แถมสภาพคล่องตึงตัวรุนแรงหนักสุดในรอบ 16 ปี

15.10.2024
  • LOADING...
InnovestX

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า คาดว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันพรุ่งนี้ (16 ตุลาคม) มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไปสู่ระดับ 2.25% เนื่องจากเหตุผล 4 ข้อ ดังนี้

 

  1. ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อที่ชะลอลดลงค่อนข้างมาก แม้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อาจเริ่มเห็นเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นบ้าง หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนกันยายนปีนี้ที่ออกมาล่าสุดต่ำกว่าคาด เดิมคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 0.75% แต่ออกมา 0.61% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) จากที่เคยเริ่มฟื้นตัวก่อนหน้านี้ เริ่มกลับมามีสัญญาณหดตัวที่รุนแรงอีกครั้ง ซึ่งหากเข้าไปดูในรายละเอียดจะพบว่า ข้อมูลที่หดตัวหลักคือกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ น้ำมันดีเซล, น้ำตาลทราย และเหล็ก ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากจีนที่มีสถานการณ์การผลิตสินค้าที่โอเวอร์ซัพพลาย และมีการดัมป์ราคาสินค้าส่งออกเข้ามาขายในไทย

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูล ทุกครั้งที่ตัวเลข PPI หดตัวจะมีผลกระทบต่อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือตัวเลขเงินเฟ้อ มีโอกาสหดตัวในระยะต่อไป ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงรอบใหม่

 

นอกจากนี้ เริ่มเห็น CPI มีตัวเลขที่ค่อนข้างนิ่งในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น มีโอกาสที่เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้จะต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 0.6% และเงินเฟ้อในปี 2568 มีโอกาสที่จะต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 1.4%

 

  1. ภาพเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางและมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดย GDP ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาขยายตัวลดลงสู่ระดับ 2.5% และหากดูข้อมูลรายละเอียดจะพบว่าการท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวลง ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหลัก ทั้งชาวจีนและมาเลเซีย รวมถึงเป็นช่วงโลว์ซีซัน อีกทั้งมีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

 

รวมถึงยังมีผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงมีแนวโน้มลดลง แม้จะมีปัจจัยจากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อีกทั้งยังมองว่ามีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่เพิ่มมากขึ้น

 

อีกทั้งข้อมูลตัวเลขภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่กลับมาติดลบ 1.9% หลังจากเริ่มมีสินค้าคงคลังปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิตสินค้า รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนในเดือนสิงหาคมปีนี้ที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขข้อมูลการบริโภคสินค้าคงทนหรือบริการในเดือนสิงหาคมกลับมาหดตัวอีกครั้งตามภาวะทางการเงินที่ตึงตัว

 

จึงกังวลว่าการขยายตัวของ GDP ไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอลง อีกทั้งยังมีความกังวลจากปัจจัยสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจกดดันให้แนวโน้มเศรษฐกิจมีทิศทางที่แย่ลงจากเดิม ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.2% ซึ่งเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะมาช่วยชดเชยผลกระทบได้ใกล้เคียงกับผลกระทบที่มาจากน้ำท่วมที่มีต่อ GDP ดังนั้น ปัจจัยของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่มีผลต่อการกระตุ้น GDP ให้เพิ่มขึ้น

 

ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยังมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง จากข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง โดยจากการศึกษาพบว่า PMI ของโลก โดยเฉพาะของภาคการผลิต เป็นข้อมูลที่ชี้นำข้อมูลการส่งออกของประเทศไทยประมาณ 6 เดือน โดยตัวเลข PMI ล่าสุดของโลกอยู่ที่ระดับ 48.8 และเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะเห็นตัวเลขการส่งออกของไทยชะลอตัวลงชัดเจนขึ้นในระยะถัดไป

 

  1. สภาวะทางการเงินที่มีความตึงตัวค่อนข้างมาก โดยสภาพคล่องทางการเงินของไทยตึงตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 16 ปี สาเหตุหลักมาจากค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับทุกสกุลเงินในต่างประเทศ รวมถึงภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลง อีกทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี

 

  1. ภาวะปัจจุบันเข้าเงื่อนไขลดดอกเบี้ยได้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มทยอยลดดอกเบี้ย

 

“หาก กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมในวันพรุ่งนี้ มีโอกาสที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมปีนี้ หลังจากเริ่มเห็นทิศทางเงินบาทเริ่มอ่อนค่า รวมถึงรอดูผลลัพธ์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงติดตามผลกระทบจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง” ดร.ปิยศักดิ์ กล่าว 

 

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่ กนง. ต้องการแสดงความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งขณะนี้มีประเด็นในการสรรหาประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ธปท.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising