จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่ง FOMC ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.5% พร้อมกับปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP) ในปีหน้าลงจาก 1.2% เป็น 0.5% พร้อมปรับเพิ่มอัตราว่างงานขึ้นเล็กน้อยจาก 4.4% เป็น 4.6%
ขณะที่ประมาณการอัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.6% เป็น 5.1% ส่วนปี 2567-2568 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอีก 0.25%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
จากประมาณการล่าสุดของ FOMC ซึ่งปรับลดคาดการณ์ GDP ลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสมาชิกบางท่านมองว่า GDP อาจจะถึงขั้นติดลบ 0.1-0.6% ส่วนอัตราการว่างงานก็มีบางมุมมองที่ว่าอาจจะขึ้นไปถึง 5-5.3% เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสจะไปถึงระดับ 5.6-5.9%
อย่างไรก็ตาม เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวว่า “ปัจจุบัน เรายังไม่รู้สึกถึงผลกระทบทั้งหมดจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เรามีงานต้องทำอีกมาก” พร้อมกับเตือนว่า “จะต้องใช้หลักฐานอีกเพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นขาลงอย่างต่อเนื่อง”
โดยประธาน Fed ย้ำว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงเพื่อช่วยให้เงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม
จากมุมมองข้างต้น ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.อินโนเวส เอกซ์ ประเมินว่า การปรับมุมมองของ Fed ต่อเศรษฐกิจแย่ลงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ แต่ยังขึ้นดอกเบี้ย และส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยต้องใช้ระยะเวลากว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ โดยรวมแล้วบ่งชี้ว่า Fed ยังคงให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อมากที่สุด แต่ก็เริ่มกังวลกับเศรษฐกิจมากขึ้น
“ฉะนั้นแล้ว เราน่าจะเห็น Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 แต่หากเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้น Fed อาจหยุดขึ้นหรือลดดอกเบี้ยลงได้ในระยะต่อไป บนเงื่อนไขที่ว่าเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่องตามทิศทางปัจจุบัน”