×

เรือล่องมา ผักตบชวาหายไป นวัตกรรมแก้ปัญหาสวะล้นคลอง จิตอาสาเพื่อแม่น้ำไทย

31.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • ผักตบชวา ปัญหาสวะแห่งหนองน้ำ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของแม่น้ำไทยที่ต้องเร่งแก้ไข ด้วยพลังจิตอาสาได้คิดค้นนวัตกรรมเรือที่ช่วยขจัดปัญหานี้
  • แม้ผักตบชวาจะถูกมองเป็นวัชพืช แต่ในแง่ประโยชน์ก็มี หากเรารู้จักนำมาแปรรูปใช้งาน เพื่อให้ซากผักตบฯ มีค่ามากกว่าแค่เป็นปัญหา

น้ำถือเป็นสิ่งจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ที่มีน้ำเป็นส่วนสำคัญในหลายๆ องค์ประกอบของการดำเนินชีวิต

 

แต่ในปัจจุบันการใช้ชีวิตแบบนั้นมีน้อยลงมาก ด้วยปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ผู้คนที่เคยอาศัยแถวลุ่มน้ำต้องย้ายถิ่นฐาน เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม

 

แต่หากพูดถึงตัวแปรที่สร้างปัญหาให้สภาพแวดล้อมเหล่านั้นต้องเปลี่ยนไป คงหนีไม่พ้นผลกระทบจากสารเคมีตามโรงงานที่ไหลลงสู่แม่น้ำ รวมไปถึงซากขยะที่ทำลายระบบนิเวศต่างๆ นานา

 

แต่ก็ยังมีปัญหาอีกอย่างที่เกิดจากธรรมชาติเองนั่นคือ ‘ผักตบชวา’

 

 

ผักตบชวา สวะแห่งหนองน้ำ

ปัญหาผักตบชวาที่อยู่ตามแม่น้ำลำคลอง นับว่าเป็นปัญหาที่เกิดในระบบนิเวศของไทยมาเนิ่นนาน

 

ไม่ว่าจะเป็นการทำให้น้ำเน่าเสีย แหล่งน้ำตื้นเขิน และยังไปกีดขวางการไหลของน้ำ จนเกิดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ

 

สำหรับผักตบชวานั้นจัดเป็น ‘เอเลี่ยน สปีชีส์’ หรือ ‘ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น’ ที่เข้ามาแพร่ระบาดรุกรานจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในไทย เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยผักตบชวาเพียง 1 ต้น สามารถแพร่พันธุ์ได้ถึง 1,000 ต้น ในเวลา 1 เดือน ซึ่งถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตาย แต่เมล็ดของมันก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 15 ปี และทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอ มันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป

 

กลายเป็นปัญหาทางน้ำและทวีความรุนแรงจนเป็นปัญหาระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น อีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน เว้นแต่ประเทศในแถบยุโรปเท่านั้นที่ปลอดการรบกวน และบริเวณที่ถูกผักตบชวาคุกคามมากที่สุดคือ ทะเลสาบวิกตอเรีย

 

ปัญหาผักตบชวานี้ก็ไม่ได้เพิ่งมาสร้างปัญหาในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในประเทศมาตั้งแต่อดีต โดยประเทศไทยเริ่มมีการกำจัดผักตบชวามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ถึงขนาดมีการออก พ.ร.บ. สำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 แต่ก็มีการยกเลิก พ.ร.บ. ดังกล่าวไปในปี 2546 เนื่องจากเป็น พ.ร.บ. ที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน

 

 

น้ำพระทัยในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานแนวทางจิตอาสาพัฒนาลำน้ำ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยประชาชน และมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานราชการในพระองค์ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสาร่วมแรงร่วมใจกันในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับลุ่มน้ำต่างๆ จึงเกิดเป็น ‘โครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลำน้ำกับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียงเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน’

 

 

นวัตกรรมเรือเก็บผักตบฯ เรือล่องมา ผักตบชวาหายไป

THE STANDARD ได้ร่วมเดินทางลงพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามรายละเอียดของ ‘โครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลำน้ำกับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียงเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน’ ที่คลองเชียงราก ตำบลสวนพริกไทย จังหวัดปทุมธานี

 

ที่นี่เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากผักตบชวาเป็นอย่างมาก ไฮไลต์น่าสนใจคือ เครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยกำจัดผักตบชวา ซึ่งก็คือนวัตกรรมเรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อน และเรือเก็บผักตบชวาแบบสายพานลำเลียง

 

สำหรับนวัตกรรมเรือเก็บผักตบชวาทั้ง 2 แบบนี้ มีขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาผักตบชวาที่ลอยอยู่ตามลำคลองต่างๆ ในไทย ตามแนวทางของโครงการที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม จากชุมชนที่อยู่ในโครงการทั้งหมด 76 แห่ง ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 ชุมชนที่มีปัญหาผักตบชวา: จากสภาพปัญหาส่วนใหญ่จะมีผักตบชวาตามลำน้ำจำนวนมาก ทำให้กีดขวางทางไหลของน้ำ น้ำสกปรก เน่าเสีย และตื้นเขิน ซึ่งแนวทางนี้จะร่วมกันกำจัดผักตามแหล่งน้ำ และจะนำผักตบฯ เหล่านั้นมาแปรรูปเป็นปุ๋ยชีวภาพสร้างรายได้แก่ชุมชน

 

กลุ่มที่ 2 ชุมชนที่มีปัญหาวัชพืช: สภาพปัญหาอีกแบบจะมีวัชพืชและขยะตามลำน้ำจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร น้ำเน่าเสีย และตื้นเขิน ซึ่งแนวทางแก้ไขคือ จะร่วมกันกำจัดพืช ขยะ ขุดลอกแหล่งน้ำ และนำวัชพืช ขยะมาแปรรูป ไปจนถึงการฟื้นฟูและพัฒนาลำน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้เกิดแก่ชุมชน

 

กลุ่มที่ 3 ชุมชนที่มีปัญหาน้ำเน่าเสียและแหล่งน้ำตื้นเขิน: สภาพปัญหาลำน้ำจะตื้นเขินและมีขยะสะสม เกิดการกัดเซาะและพังทลายของดิน การชะล้างสารเคมีผิวดินและน้ำเน่าเสีย ซึ่งแนวทางการแก้ไขจะต้องร่วมกันขุดลอกแหล่งน้ำก่อสร้างและบำรุงรักษาแหล่งน้ำ กำจัดขยะวัชพืช และฟื้นฟูระบบนิเวศ

 

 

นายพชร ศิลาน้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา บอกว่า เรือเก็บผักตบชวาทั้ง 2 ลำนี้ จะเป็นนวัตกรรมต้นแบบที่ทำให้แม่น้ำลำคลองสะอาดอย่างครบวงจร ทั้งการเก็บผักตบชวาขึ้นมา ไปจนถึงการจัดการตะกอนที่อยู่ใต้น้ำ เท่านี้โครงการก็จะลุล่วงไปด้วยดี

 

โดยจุดเด่นของเรือทั้ง 2 ลำนี้ มีประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

 

  1. เรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อน

– สามารถเก็บผักตบชวาและอัดเป็นก้อน 12,000 กิโลกรัม/ชั่วโมง

– ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 12.5 ลิตร/ชั่วโมง

– ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดผักตบชวา

– สร้างความสะอาดในแม่น้ำลำคลอง ตลอดจนหน้าประตูระบายน้ำให้ปราศจากวัชพืชทางน้ำ

– เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติให้มีความสวยงามและสะอาด

– สามารถทำงานได้ทั้งวัน ขึ้นอยู่กับผู้ควบคุมและปริมาณของผักตบชวา

 

ในขณะที่จุดเด่นของเรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อนนี้คือ

– ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเรือจากต่างประเทศที่มีราคาถึงลำละ 8 ล้านบาท

– เรือลำนี้พัฒนาจากแบบของต่างประเทศ เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะแก่การใช้งานในลำคลองที่มีขนาดเล็ก และหน้าประตูระบายน้ำของไทย

– ชิ้นส่วนอะไหล่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

 

 

  1. เรือเก็บผักตบชวาแบบสายพานลำเลียง

– เก็บผักตบชวาได้ 6,000-8,000 กิโลกรัม/ชั่วโมง

– ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 7 ลิตร/ชั่วโมง

– ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดผักตบชวา

– สร้างความสะอาดในแม่น้ำลำคลอง ตลอดจนหน้าประตูระบายน้ำให้ปราศจากวัชพืชทางน้ำ

– เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติให้มีความสวยงามและสะอาด

– สามารถทำงานได้ทั้งวัน ขึ้นอยู่กับผู้ควบคุมและปริมาณของผักตบชวา

 

ในขณะที่จุดเด่นของเรือเก็บผักตบชวาแบบสายพานลำเลียงนี้คือ

– ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเรือจากต่างประเทศที่มีราคาถึงลำละ 5 ล้านบาท

– เรือลำนี้พัฒนาจากแบบของต่างประเทศ เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะแก่การใช้งานในลำคลองที่มีขนาดเล็ก และหน้าประตูระบายน้ำของไทย

– มีความรวดเร็วในการเก็บผักตบชวาขึ้นจากแหล่งน้ำ และขนถ่ายออกจากลำเรือได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

– ชิ้นส่วนอะไหล่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

 

 

ผักตบชวา แง่มุมประโยชน์ และอนาคตแม่น้ำไทยในมือเรา

แน่นอนว่า การมีอยู่ของผักตบชวาตามแม่น้ำลำคลองย่อมส่งผลกระทบหลายอย่างกับระบบนิเวศของลุ่มน้ำนั้นๆ การเข้ามาของนวัตกรรมนี้ดูเหมือนจะช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้ดีขึ้น

 

คำถามที่ตามมาต่อจากนี้จึงมีอยู่อีกว่า ผักตบชวาเหล่านี้ เมื่อเก็บซากแล้ว จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

 

ผู้เกี่ยวข้องในโครงการนี้ให้คำตอบว่า ผักตบชวาสามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้แห้ง แล้วจึงสามารถนำมาเพาะเห็ดฟางเพื่อสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี หรือจะทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสานหรือสินค้าอื่นๆ ที่เกิดจากผักตบชวา เช่น กล่อง กล่องใส่กระดาษทิชชู ตะกร้าผักตบชวา กระเป๋าผักตบชวา ถาดรองผลไม้ ถาดรองแก้วน้ำ แจกันสาน เสื่อผักตบชวา กระดาษจากผักตบชวา เป็นต้น

 

และนั่นคือประโยชน์ของผักตบชวาในแง่ที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ยังมีลำคลองอีกหลายแห่งในประเทศไทยที่ยังต้องรอการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

 

โครงการจิตอาสาฯ ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้โดยลำพัง แต่การพัฒนาฟื้นฟูลำคลองยังคงต้องการผู้ที่มีจิตอาสาอีกจำนวนมากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อพัฒนาแม่น้ำลำคลองให้มีสภาพที่สมบูรณ์ และอยู่คู่ประเทศไทยไปอีกนานแสนนาน เพราะนั่นอาจหมายถึงหน้าบ้านของทุกคนเช่นเดียวกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X