×

ไอ เจ็บคอ แบบไหนใช่ ‘ไข้หวัดใหญ่’ ทำไมถึงระบาดเพิ่มขึ้นช่วงนี้

13.01.2024
  • LOADING...

หลังปีใหม่มาหลายคนเริ่มมีอาการไอ เจ็บคอ บางคนคัดจมูก น้ำมูกไหล ถ้ามีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวด้วยก็อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ต้องแยกกับโควิดด้วยการตรวจ ATK ก่อน ถ้าขึ้นขีดเดียว ‘ไข้หวัดใหญ่’ ก็น่าสงสัยที่สุด เพราะตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 จนถึงช่วงนี้ไข้หวัดใหญ่ยังคงระบาดอยู่ ส่วนโควิดก็กลับมาระบาดอีกรอบตั้งแต่ช่วงปลายปี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

 

‘อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่’ คืออะไร

 

ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับไอ หรือเจ็บคอ เป็นอาการที่สงสัยโรคไข้หวัดใหญ่ หรือในทางการแพทย์จะเรียกว่า ‘อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่’ (Influenza-like illness: ILI) โดยอาจมีอาการอื่นๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดเมื่อย อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย ในขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา ใช้เกณฑ์ไข้สูงมากกว่า 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป

 

แต่คนที่เคยป่วยมาก่อนน่าจะเห็นตรงกันว่า ปวดศีรษะ/ปวดเมื่อยตัว เป็นอาการที่กระทบชีวิตประจำวันมากที่สุด เพราะทำให้นอนซมอยู่กับเตียง ไม่อยากลุกไปไหน

 

ไข้หวัดใหญ่ vs. โควิด: ก่อนยุคโควิด ถ้าผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ไอ เจ็บคอ แพทย์ก็จะรักษาเสมือนว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่เลย เพราะเป็นไวรัสทางเดินหายใจชนิดเดียวที่มียารักษา แต่ยุคหลังโควิด ผู้ป่วยจะต้องตรวจ ATK ยืนยันก่อนว่าไม่ใช่โควิด เพราะ 2 โรคนี้มีอาการคล้ายกัน ทั้งนี้ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็อาจมีอาการเล็กน้อยแบบไข้หวัดทั่วไปได้เช่นกัน

 

ไข้หวัดใหญ่ vs. ไข้หวัดทั่วไป: ไข้หวัดทั่วไปมักไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำๆ ไม่ปวดศีรษะ/ปวดเมื่อยตัว เกิดจากไวรัสทางเดินหายใจอื่น เช่น ไรโนไวรัส ซึ่งพบ 30-50% ของผู้ป่วยหวัด, โคโรนาไวรัส, พาราอินฟลูเอนซา, อาร์เอสวี เป็นต้น ทว่าเราไม่จำเป็นต้องตรวจยืนยันว่าเป็นเชื้อชนิดใด เพราะสามารถหายได้เอง และใช้ยารักษาตามอาการเท่านั้น

 

ไข้หวัดใหญ่ vs. ภูมิแพ้อากาศ: ภูมิแพ้อากาศเป็นการอักเสบของโพรงจมูกหลังจากได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่นละออง อากาศเย็น อาการที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่คือ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ภูมิแพ้อากาศมักมีอาการคันตา อาจมีน้ำตาไหล คันในจมูก น้ำมูกไหลลงคอ (โพรงจมูกด้านหลังเชื่อมกับคอหอย) จามบ่อยร่วมด้วย และที่สำคัญจะไม่มีไข้ ไม่ปวดศีรษะ

 

ไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันอย่างไร

 

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) สายพันธุ์ที่ก่อโรคในคนมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ A, B และ C ซึ่งสัดส่วนและความรุนแรงของโรคก็เรียงตามลำดับตัวอักษร กล่าวคือ

 

สายพันธุ์ A พบมากกว่า 95% และมีความรุนแรงสูง เคยเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี 2552 ในชื่อ ‘ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009’ (H1N1) และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดตามฤดูกาลทุกปีจนถึงปัจจุบัน สายพันธุ์ A ยังมีอีกกลุ่มที่หลายคนอาจได้ยินเวลาประชาสัมพันธ์เรื่องวัคซีนคือ H3N2 (H และ N เป็นตัวย่อของชื่อโปรตีน 2 ชนิดบนผิวเซลล์ของไวรัส) 

 

สายพันธุ์ B มีความรุนแรงน้อยกว่า แยกเป็นอีก 2 กลุ่มย่อยคือ วิกตอเรีย (B/Victoria) และยามากาตะ (B/Yamakata) ส่วนสายพันธุ์ C พบเป็นสัดส่วนน้อยมาก

 

ไข้หวัดใหญ่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ที่เป็นละอองขนาดใหญ่ (Droplets) ซึ่งสามารถสัมผัสโดยตรงเข้าทางจมูกหรือปาก จากการไอจามหรือพูดคุยกันในระยะ 1-2 เมตร หรือสัมผัสโดยอ้อมผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อน เมื่อใช้มือหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนแล้วยกขึ้นมาสัมผัสกับตา จมูก หรือปากต่ออีกทอดหนึ่ง  

 

ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนเริ่มมีอาการ จนถึง 5-7 วันหลังมีอาการ ส่วนผู้ที่ได้รับเชื้อจะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 วัน (1-4 วัน)

 

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันได้รวดเร็ว

 

ซึ่งคล้ายกับโควิดที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการ จนถึง 5 วันหลังมีอาการ และผู้ที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะเริ่มมีอาการภายใน 3-4 วัน

 

จำเป็นต้องตรวจยืนยันไข้หวัดใหญ่หรือไม่

 

ถ้าพูดถึงชุดตรวจ ATK ทุกคนน่าจะนึกถึงชุดตรวจโควิด แต่ความจริงการตรวจไข้หวัดใหญ่ก็ใช้วิธีการเดียวกันคือ การตรวจหาแอนติเจนของไวรัส ด้วยการใช้ไม้ป้ายด้านหลังโพรงจมูก ผสมน้ำยา แล้วหยดลงบนชุดตรวจ ซึ่งยุคก่อนโควิดมีเฉพาะตามโรงพยาบาลหรือคลินิกเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีขายตามร้านขายยาหรือร้านค้าออนไลน์ และบางยี่ห้อยังตรวจหาเชื้อได้หลายชนิดอีกด้วย

 

จึงเกิดคำถามตามมาว่าผู้ที่มี ‘อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่’ จำเป็นต้องตรวจยืนยัน หรือแม้กระทั่งตรวจแยกสายพันธุ์หรือไม่? คำตอบคือ ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกราย เพราะ 

 

  1. การรักษาไข้หวัดใหญ่ให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มที่มีอาการรุนแรง (ผู้ป่วยสีแดง) เช่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก และกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง (ผู้ป่วยสีเหลือง) ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์, เด็กต่ำกว่า 2 ปี, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น อ้วน เบาหวาน หอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต มะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งถ้าไม่ใช่กลุ่มนี้ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส

 

  1. การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ใช้เกณฑ์อาการเป็นหลัก หมายถึง ถ้าผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แพทย์ก็สามารถให้การรักษาเสมือนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ได้เลย เพราะชุดตรวจไม่ได้มีความแม่นยำ 100% และเดิมไข้หวัดใหญ่เป็นไวรัสทางเดินหายใจชนิดเดียวที่มียารักษา แต่ปัจจุบันโควิดก็มียารักษา ดังนั้นหากต้องเลือกตรวจเพียงอย่างเดียว อาจเลือกตรวจ ATK สำหรับโควิด 

 

ไข้หวัดใหญ่รักษาและป้องกันอย่างไร

 

ในโรงพยาบาลทั่วไปมียารักษาไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิดคือ โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) และฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หลายคนน่าจะคุ้นกับยาตัวหลัง เพราะประเทศไทยนำมาใช้ในการรักษาโควิดด้วย ซึ่งความจริงแล้วยาฟาวิพิราเวียร์ถูกวิจัยขึ้นมาสำหรับการรักษาไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่น แต่ยาที่แพทย์สั่งจ่ายเป็นหลักจะเป็นโอเซลทามิเวียร์ เพราะมีหลักฐานรองรับมากกว่า

 

โอเซลทามิเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน 

 

หากเริ่มรับประทานยาภายใน 1-2 วันหลังเริ่มมีอาการ (ภายใน 48 ชั่วโมง) สามารถลดความรุนแรงของอาการและลดระยะเวลาป่วยลง 1-2 วัน (ถือว่าไม่มากสำหรับผู้มีอาการเล็กน้อย) และในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ และลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลได้ ดังนั้นในการรักษาไข้หวัดใหญ่จึงต้องเริ่มยาให้เร็วที่สุด

 

สำหรับการป้องกันไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับโควิด เพราะช่องทางการติดต่อเหมือนกัน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ซึ่งต้องกลับมาปฏิบัติให้เคยชินอีกครั้ง อย่างน้อยในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจ ส่วนการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร หากไม่สามารถปฏิบัติได้ก็อาจเป็นการลดกิจกรรมรวมตัวกัน หรือหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดแทน

 

นอกจากนี้ไข้หวัดใหญ่ยังมีวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งเป็นการฉีดเพื่อป้องกันอาการรุนแรง (ป้องกันการติดเชื้อได้น้อย) โดยแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และผู้ที่ดูแลกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนปีละ 1 เข็ม เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ทุกปี วัคซีนรุ่นใหม่จะเริ่มฉีดประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และหากเริ่มฉีดตั้งแต่ช่วงกลางปีก็จะสามารถป้องกันตั้งแต่รอบการระบาดฤดูฝนเป็นต้นไป

 

ทำไมช่วงนี้ไข้หวัดใหญ่ถึงระบาดเพิ่มขึ้น

 

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีการระบาดตามฤดูกาล ประเทศในเขตอากาศอบอุ่นพบการระบาดรอบเดียวในฤดูหนาว แต่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตลอดทั้งปี แต่มักระบาดเพิ่มขึ้น 2 รอบ คือฤดูฝนกลางปี (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาวต้นปี (มกราคม-มีนาคม) ดังนั้นหลังปีใหม่มาจึงพบคนใกล้ตัวป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มากขึ้น รวมถึงโควิดที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้วด้วย

 

แต่ในทางระบาดวิทยาก็มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ 2 ประเด็น ดังนี้ 

 

  1. รูปแบบการระบาดตามฤดูกาลที่น่าจะเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมโควิด กล่าวคือ ต้นปี 2565 ไม่พบการระบาดของไข้หวัดใหญ่เลย ในขณะที่ปี 2566 ไข้หวัดใหญ่กลับมาระบาดต้นปี-กลางปีเหมือนเดิม แต่ช่วงกลางปีพบการระบาดระลอกใหญ่ต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่ เพราะไม่มีการระบาดตามฤดูกาลมานานในยุคโควิด

 

  1. สายพันธุ์หลักที่ระบาดแต่ละรอบเป็นคนละสายพันธุ์ กล่าวคือ กลางปี 2565 ต่อต้นปี 2566 เป็น A/H3N2 ต่อมากลางปี 2566 เป็น A/H1N1 (2009) ในขณะที่สัปดาห์ก่อนสิ้นปี 2566 พบสัดส่วนของสายพันธุ์ B และ A/H3N2 เพิ่มขึ้น (53% และ 33%) ในขณะที่ A/H1N1 ลดลงเหลือ 13% ดังนั้นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เมื่อกลางปีที่แล้วกับหลังปีใหม่นี้น่าจะเป็นคนละสายพันธุ์กัน

 

โดยสรุปไข้หวัดใหญ่มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เหมือนไข้หวัดทั่วไป แต่ที่ ‘ใหญ่’ กว่าคือ ไข้สูง ปวดศีรษะ/ปวดเมื่อยตัว ซึ่งอาจคล้ายกับโควิด จึงควรตรวจ ATK ก่อนไปพบแพทย์ ส่วนภูมิแพ้อากาศมักไม่มีไข้ เพราะไม่ใช่การติดเชื้อ การรักษาไข้หวัดใหญ่ใช้ยารับประทานชื่อ ‘โอเซลทามิเวียร์’ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง-แดง ส่วนผู้ป่วยสีเขียวรักษาตามอาการ เพราะสามารถหายได้เอง

 

ไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดในช่วงที่มีการระบาด สามารถป้องกันอาการรุนแรงด้วยการฉีดวัคซีนปีละ 1 เข็ม 

 

ส่วนสาเหตุที่ไข้หวัดใหญ่กลับมาระบาดเพิ่มขึ้นช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถึงรอบการระบาดในฤดูหนาวและเป็นช่วงหลังงานเทศกาลปีใหม่ และอีกส่วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X