×

พิษเงินเฟ้อยังกดดันการค้าโลก สหรัฐฯ สั่งสินค้าจีนลดลง 40% หันหัวเรือพึ่งยุโรป

07.12.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

แนวโน้มการค้าโลกดูเหมือนจะยังไม่สดใสนักเมื่อมองข้ามไปยังปี 2023 ปัจจัยกดดันสำคัญยังคงมาจากเรื่องของเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทั่วโลก และตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่

 

ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะประกาศออกมาในวันนี้ (7 ธันวาคม) คาดว่าจะหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ โดยตัวเลขส่งออกมีแนวโน้มจะหดตัว 3.5% เทียบกับเดือนตุลาคมที่หดตัว 0.3% อิงจากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 28 ราย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ด้านตัวเลขการนำเข้าสินค้าของจีนคาดว่าจะหดตัว 6% ในเดือนพฤศจิกายน เทียบกับการหดตัว 0.7% ในเดือนตุลาคม ถือเป็นการหดตัวมากที่สุดนับแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2020 

 

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก CNBC Supply Chain Heat Map สะท้อนให้เห็นว่าคำสั่งผลิตสินค้าจากทางฝั่งสหรัฐอเมริกามายังโรงงานในจีนลดลงไป 40% ส่งผลให้โรงงานต่างๆ ในจีนอาจจะหยุดงานในช่วงก่อนวันปีใหม่จีนถึงประมาณ 2 สัปดาห์ จากปกติที่โรงงานแต่ละแห่งมักจะหยุดล่วงหน้าเพียงแค่ประมาณ 7 วัน ทั้งนี้ วันปีใหม่จีนตรงกับวันที่ 21 มกราคม 2023

 

“การลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการขนส่งสินค้าจากเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่หดหายไป ทำให้อัตราการใช้ประโยชน์ของเรือ (Vessel Utilization) ลดลงทำระดับต่ำสุดใหม่” Joe Monaghan ซีอีโอของ Worldwide Logistics Group กล่าว 

 

ขณะที่บริษัทวิจัยด้านห่วงโซ่อุปทานอย่าง project44 เปิดเผยว่า หลังจากที่การขนส่งสินค้าคึกคักอย่างมากในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิดระยะแรก หลังจากนั้นตัวเลขการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะจากจีนไปยังสหรัฐฯ ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างปริมาณการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลง 21% ระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

ด้าน HLS บริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่ออกมาส่งสัญญาณเตือนไปยังลูกค้าของบริษัทว่า “เวลานี้ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับอุตสาหกรรมขนส่งสินค้า เราต้องเผชิญกับทั้งอุปสงค์ที่ลดลง และจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก”

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของ HLS คาดการณ์ว่าปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์จะลดลงอีกราว 2.5% สวนทางกับพื้นที่ตู้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มอีกราว 5-6% ในปี 2023

 

“ตลาดของการส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์จะซับซ้อนมากขึ้น เป็นผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรง” 

 

ไม่เพียงแค่ปัจจัยภายนอก การค้าจีนยังถูกกดดันจากนโยบาย Zero-COVID ทำให้กระบวนการผลิตและการขนส่งระหว่างเมืองล่าช้า 

 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ยังได้ส่งผลกระทบต่อเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้อานิสงส์จากการที่ธุรกิจจีนย้ายฐานการผลิตออกมา 

 

จากรายงานด้านสถิติของ General Statistics Office of Vietnam ระบุว่า นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีบริษัทในเวียดนามปิดตัวไป 12,500 บริษัทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 24.8% จากปีก่อน โดย HLS ระบุว่า ปริมาณคำสั่งซื้อที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นจาก 6.5% เป็น 13.2% ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ในเวียดนามเลือกที่จะปิดโรงงานแทนที่จะวิ่งหาลูกค้าใหม่ 

 

แม้ว่าการค้าระหว่างจีนไปยังสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง แต่แผนที่การค้าโลกอันใหม่กำลังถูกวาดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างการค้าระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ โดยปีนี้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากยุโรปมากกว่าจากจีน ซึ่งเป็นภาพที่เปลี่ยนไปอย่างมากจากช่วงปี 2011-2020 จากการวิเคราะห์ของ project44 

 

ประเทศอย่างเยอรมนีส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปีก่อนหน้า สำหรับตัวเลขเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา 

 

Josh Brazil รองประธานฝ่ายข้อมูลห่วงโซ่อุปทานของ project44 กล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของตัวเลขการค้าระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเพราะโควิดอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของสงครามการค้ากับจีน รวมทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์จากกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การค้าระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ บูมขึ้นมา” 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X