×

ความเหลื่อมล้ำ กับดักความจน ทำอย่างไรจะปลดล็อกสมองเด็กไทย

25.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์อย่างยิ่งในศตวรรษนี้ ผลกระทบที่มีต่อเด็กก็มีมาก ส่งผลต่อวิธีคิดสำหรับพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ในขณะที่กรอบโครงสร้างสังคมในแง่ความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาหนักต่อการพัฒนาคน
  • โจทย์ที่นักวิชาการเสนอคือต้องให้เขาเรียนรู้ที่จะกำหนดเป้าหมายเอง และโลกแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน รัฐและพ่อแม่จึงต้องหาทางให้เด็กที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรได้เข้าถึง ไม่ถูกปัดทิ้ง และส่งเสริมการพัฒนา​สมองด้วย

เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า บ้างก็ว่าคืออนาคตของสังคมที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ต่างคาดหวังกันไปต่างๆ นานา


ก่อนจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ วัยเด็กก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะนั่นคือช่วงสร้าง ช่วงเก็บเกี่ยว ตลอดจนโอกาสที่เขาจะได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่


ศตวรรษที่ 21 ของโลกและของสังคมไทย ขีดจำกัดบางอย่างยังคงเป็นขวากหนามและอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการเหล่านั้น โดยเฉพาะ ‘ทักษะด้านความคิด’ ที่มีสมองเป็นอวัยวะสำคัญ และเมื่อถูกสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เข้ามาขวางการพัฒนารอยหยัก


คำถามคือเราจะ ‘ปลดล็อก’ สิ่งนี้เพื่อเด็กและเยาวชนอย่างไร?

 

 

เหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงทรัพยากร ทำเด็กด้อยพัฒนา

“ผมเรียนหนังสือในสมัยก่อน ผมไม่ต้องมีเป้าหมาย พ่อแม่บอกให้ผมเป็นหมอ สังคมก็สั่งให้ผมเป็นหมอ เพราะเห็นว่าผมเรียนเก่ง แต่ตอนนั้นมันคือศตวรรษที่ 20 ไม่มีอะไรต้องคิด แต่ตอนนี้ไม่ใช่

 

“บ้านไหนที่ยังกำหนดเป้าหมายให้ลูก บ้านนั้นจะเสี่ยงมาก ลูกจะเจอตัวแปรสูงมาก ตรงกันข้าม ถ้าบ้านที่เลี้ยงลูกให้มีความสามารถในการกำหนดเป้าหมายเอง และกำหนดถูกอีกต่างหากว่าชอบอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ ชอบจริง รักจริง ถูกจริง แล้วก็ไปได้จริง เราเรียกความรู้แบบนี้ว่า EF แต่นี่เป็นความรู้สมัยใหม่ที่เราอยากให้พ่อแม่และการศึกษาสร้าง”

 

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านเด็กและเยาวชน กล่าวถึงบรรยากาศการเรียนรู้ของตนเอง พร้อมๆ กับสะท้อนภาพความเป็นไปในยุคสมัยปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปตามตัวแปรใหม่ของสังคมในศตวรรษที่ 21

 

EF หรือ Executive Function คือความสามารถของสมองที่จะควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย การเลี้ยงลูกให้มี EF คือเด็กที่มีปัญญา ใช้เครื่องมือเป็น เพราะเครื่องมือนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ที่โรงเรียน  

 

คุณหมอขยายความไปถึงโครงสร้างของสังคมไทยว่าปัญหาสำคัญที่มีผลต่อเป้าหมายและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ หรือสมองของเด็ก ก็คือการเข้าไม่ถึงทรัพยากร เพราะโครงสร้างสังคมไทยที่มี ‘ความเหลื่อมล้ำ’ มันล็อกไว้ที่ตรงนั้น หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ แต่สภาพโครงสร้างที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงทรัพยากรอาจต้องใช้ประโยคใหม่แบบที่คุณหมอสื่อสารว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอาจไม่ได้อยู่ที่นั่น’

 

เพราะเมื่อเข้าไม่ถึงทรัพยากร โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องเงิน รวมทั้งระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ ลองดูแค่การสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อให้เขาเข้าถึง เช่น การที่ต้องไปเรียนพิเศษ การยอมจำนนต่อปัจจัยในชีวิตที่คิดว่าตนเองไม่มีความสามารถจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้

 

 

“ภาพความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรม สมัยผมเป็นเด็ก ผมมาจากเชียงราย จะมีเด็กกลุ่มหนึ่งไปติวที่เชียงราย อีกกลุ่มนั่งรถทัวร์เข้ากรุงเทพฯ อีกกลุ่มมาบ้านญาติที่กรุงเทพฯ มีคอนเน็กชัน มารถพ่อแม่ หรือมาเครื่องบิน อีกกลุ่มก็คือพ่อแม่มีกำลังจ่ายค่าคอนโดฯ หรือหอพักแถวพญาไท เงินมากก็เรียนมาก เงินน้อยก็เรียนน้อย”

 

คำถามก็คือเด็ก high class ประสบความสำเร็จจริงหรือ? ในศตวรรษที่ 20 เราทำงานตามสายพาน ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ศตวรรษที่ 21 งานไม่เป็นไปตามสายพาน มีตัวแปรมากกว่าปริญญาใดๆ ที่จะบอกให้ทำ บัณฑิตไทยบางส่วนจบมา แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรหรือจะเริ่มต้นอย่างไรก็มี

 

“การศึกษาประเภทท่องทั้งหมดแล้วสอบได้ไม่มีแล้ว ตัวกวนสำคัญก็คือไวไฟและไอที พวกนี้รบกวนพัฒนาการเด็กตั้งแต่แรกเกิด” คุณหมอย้ำและขยายความเพิ่มอีกว่า

 

ตัวเลือกที่มากมายของชีวิตมันเข้าไปกระทบเด็ก มันทดลองความสามารถเขาได้ แล้วพ่อแม่ก็เอาไม่อยู่ ต่อให้จบสูง ถ้าทักษะชีวิตไม่ดี ชีวิตก็ไปได้ไม่ดี เพราะหลายอย่างมันเข้ามากระทบ

 

เราเลี้ยงลูกให้รับมือในศตวรรษที่ 21 เรามีเครื่องมือคือ Executive Function เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรับมือ อยากให้แต่ละบ้านเลี้ยงลูกโดยให้เด็กสามารถกำหนดเป้าหมายด้วยตนเอง ซึ่งพบว่าพัฒนาการของเด็กไปได้ดี

 

“เราอยากให้พ่อแม่และระบบการศึกษารับทราบ หากทลายสิ่งเหล่านี้ได้ก็ทลายความเหลื่อมล้ำได้ หลักสูตรไม่ได้อยู่ที่กระทรวงอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีเข้ามาจำนวนมาก ถึงเวลาที่ต้องปลดล็อกแล้ว

 

“สังคมที่ปัดเด็กบางส่วนทิ้ง ไม่ให้เขาได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย นั่นคือความเหลื่อมล้ำที่ต้องแก้ไขอย่างยิ่ง”

 

 

คุณหมอบอกว่า เด็กที่มี EF คือเด็กที่มีปัญญาจะใช้เครื่องมือนี้เป็น โดยประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ความสามารถในการควบคุมตนเอง เพราะทุกวันนี้มันมีสิ่งที่ทำให้เราวอกแวก เราต้องควบคุมตนเองเป็น ไม่วอกแวก ตั้งใจทำแต่งานตรงหน้า ต้องมีความสามารถที่จะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เป็นทักษะที่ต้องฝึก ทำงานก่อน เล่นที่หลัง เพราะเมื่อเทคโนโลยีอย่างมือถือเข้ามา พ่อแม่สอนลูกในเรื่องนี้ยากมาก แหล่งเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียนหรืออยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ชายทะเล บนดอย หรือในเมือง สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เด็กมีปัญญาในการใช้เทคโนโลยีให้เป็นและเหมาะสม

 

ต่อมาคือ ความจำสำหรับใช้งาน ต้องทำอย่างไรให้เด็กสามารถนำความรู้ที่จดจำไว้ ไปใช้งานได้เมื่อเจอสถานการณ์จริงในชีวิต ไม่ใช่เอาความรู้ไปใช้แค่ในห้องสอบ ให้เขาสามารถชั่งน้ำหนักผลดี-ผลเสียเมื่อพบสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหาในชีวิตจริง

 

สุดท้ายคือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สิ่งนี้คือความสามารถของสมองแต่ละคน ไม่ได้เกิดจากลักษณะนิสัย การพัฒนาทักษะ EF นั้นทำได้ดีที่สุดในช่วงอายุไม่เกิน 6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของเด็ก โดยการปล่อยให้เด็กได้เล่นสนุกตามประสา การปล่อยให้เด็กเล่นอะไรที่ใช้นิ้วทั้งสิบจะดีต่อการพัฒนาสมอง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีนิ้วแล้วสามารถเอานิ้วโป้งแตะได้ทั้งสี่นิ้วที่เหลือได้ เด็กอนุบาลควรเล่นมากที่สุด ไม่ใช่เรียนในตำราอย่างเดียว

 

คุณหมอแนะนำข้อปฏิบัติสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ว่า “ให้กลับไปทำตารางเวลาว่าตนเองต้องทำอะไรบ้าง รายวัน รายสัปดาห์ เพราะปัจจุบันวัยรุ่นยุคใหม่ไม่สามารถวางแผนไปข้างหน้าได้เกิน 7 วัน

 

“ส่วนการสร้างรากฐานตั้งแต่เด็ก การส่งต่อให้คนรุ่นหลังก็สำคัญ สิ่งที่ผมพูดเสมอคือ นี่เป็นโอกาสของพ่อแม่ที่ยากจนในการสร้างลูก แต่พ่อแม่จะทำได้ยากถ้ารัฐไม่ปลดล็อก ยกตัวอย่างเช่น การอ่านนิทานให้เด็กฟัง รัฐต้องส่งเสริมให้นิทานมีราคาถูก และกระจายไปตามต่างจังหวัด สวัสดิการของพ่อแม่ในการดูแลลูกก็ต้องปรับ

 

“การทำงานบ้าน ทุกบ้านควรปรับเพื่อให้นิ้วของเด็กทำงาน การอ่านออกเขียนได้ รัฐควรปลดล็อก ท่อง จำ สอบ ชนะ การปัดเพื่อนทิ้งลงข้างทางควรยกเลิก เด็กควรเรียนรู้จากการทำงาน เราปล่อยแบบนี้มานานกว่า 40 ปีแล้ว นี่เป็นโอกาส โรงเรียนจะถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ สิ่งยั่วยวนจะมาก เล่น ทำงาน อ่านนิทานเยอะๆ เพื่อพัฒนาการของเด็ก”

 

กับดักความจน ผลต่อพัฒนาการเด็ก เก่งไม่เท่ามีความสุข

ดร.นุชนาฎ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคลุกคลีอยู่กับประเด็นด้านนี้มานาน ขยายภาพสิ่งเหล่านั้นเพิ่มเติมว่า

 

โรงเรียนเป็นสถานที่หนึ่งที่แบ่งความรู้สึกในการเรียน ภาพที่เราเห็นในต่างจังหวัด คู่แฝดของความเหลื่อมล้ำก็คือเงินและการศึกษา ครอบครัวที่มีฐานะต่ำ เวลาในการพูดคุยกันระหว่างลูกกับพ่อแม่ก็น้อยลงไปด้วย ความเหลื่อมล้ำส่งผลกระทบไปในหลายๆ เรื่อง

 

สำหรับคนเรานั้น สมองพัฒนามาตั้งแต่ในครรภ์ ช่วงที่เป็นหน้าต่างของโอกาสสำหรับเด็กเพื่อพัฒนาส่วน EF ก็คือวัย 2-6 ปี อยากเรียนรู้ ค้นหา สำรวจ ธรรมชาติของเด็กวัยนี้ต้องการการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 ในช่วงวัยที่ยังเล็กเป็นช่วงที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่เมื่อถูกจัดให้ไปนั่งทำงานก็เกิดความเครียด เด็กที่ถูกส่งไปเรียนหนังสือจะเก่งไหม เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เด็กช่วงวัยเล็กๆ ตั้งแต่ปฐมวัย การพัฒนาเด็กมันต้องมีการส่งต่อและพัฒนาเป็นช่วงๆ และความเครียดมีผลต่อทักษะสมองมาก เซลล์ประสาททำงานลดต่ำลง ขาดความสุข เซลล์สมองเหี่ยวลง ฮอร์โมนความเครียดก็สูง

 

“เรียนพิเศษ ถ้าไม่ได้เรียนเพราะอยาก มีความเครียด ก็ส่งผลต่อสมอง”

 

ดร.นุชนาฎ กล่าวอีกว่า แม้เราจะโตแล้วเราก็พัฒนาได้ ต้องสามารถที่จะคิดวิเคราะห์เองได้ คนที่อยู่รอบข้างควรที่จะให้โอกาสเขาเลือกและตัดสินใจว่าจะทำอะไร เมื่อเขาสามารถตัดสินใจได้เอง เราก็ต้องถอยออกมาให้เขาเรียนรู้และลองทำ

 

พ่อแม่มักมีความเข้าใจว่าเด็กที่อ่านออกเขียนได้ถือว่าเก่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วช่วงเด็กเล็กๆ ในวัยก่อน 7 ขวบเป็นช่วงที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่เมื่อถูกบังคับให้ต้องไปนั่งเขียน นั่งเรียนกวดวิชา ก็เกิดภาวะเครียดขึ้นมา การเรียนอย่างเดียวไม่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้ เพราะเขาไม่มีความสุข ไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

 

“จากที่มีการสำรวจในปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับที่ 3 รองจากรัสเซีย และอินเดีย และคู่แฝดของความเหลื่อมล้ำก็คือรายได้กับการศึกษา ในปี 2555 PISA Test พบว่าเด็กไทยเกือบ 50% สอบตกวิชาคณิตศาสตร์ มีเพียงแค่ 8.3% เท่านั้นที่ได้คะแนนที่ดี แล้วพอไปดูในเรื่องของรายได้ เกือบ 50% ของครัวเรือนไทยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่น้อยมาก มีเพียง 10% เป็นผู้ที่มีรายได้มาก ซึ่งตรงนี้เขาบอกว่ากับดักความยากจนก็เป็นกับดักความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องของโอกาสต่างๆ ที่เด็กจะสามารถเข้าถึง” ดร.นุชนาฎ กล่าว

 

“การให้ไปเรียนพิเศษเยอะๆ ศตวรรษที่ 21 มันไม่ใช่แล้ว เพราะว่าการเรียนอย่างเดียวมันไม่ได้ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้ เราจะเห็นข่าวเยอะแยะมากมายว่าเด็กเก่งได้รางวัล แต่เขาไม่มีความสุข ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้”

 

เมื่อลองอ่านมาทั้งหมดแล้วต้องคิดต่อไปว่าเราจะสร้าง ‘เด็ก’ ให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพอย่างไร และคำถามว่าจะ ‘ปลดล็อก’ แบบไหนน่าจะพอเห็นทางอยู่บ้าง หากรัฐหันมาสนใจเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง

FYI
  • บทความข้างต้นถอดความและเรียบเรียงจากงานเสวนาเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำมีผลต่อทักษะสมองของเด็กไทย?’ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2560 จัดโดยสถาบันอิศรา ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ถนนราชปรารภ กรุงเทพมหานคร
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X