เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่เคยเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชียเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเริ่มสูญเสียโมเมนตัมแล้ว ท่ามกลางภาวะเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จ่อลดลง นักวิเคราะห์จับตา ‘บาท-วอน’ ผงาดเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในปีนี้จากอานิสงส์จีนเปิดประเทศ
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียนับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่า การแข็งค่าของรูเปียห์รอบนี้อาจอยู่ไม่นาน เนื่องจากปัจจัยฉุดให้เงินรูเปียห์อ่อนค่ากำลังก่อตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปนานขึ้น และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Surplus) ของอินโดนีเซียที่ลดลง
ขณะที่ อัลวิน ตัน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเอเชียจาก RBC Capital Markets ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกที่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มทำให้ความผันผวนข้ามสินทรัพย์ (Cross-Asset Volatility) ยังคงสูงต่อไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเงินรูเปียห์”
ทั้งนี้ เงินรูเปียห์กำลังได้รับแรงกดดันเนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และกระแสเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรของอินโดนีเซียรายเดือนครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม หลังจากก่อนหน้านี้พันธบัตรของอินโดนีเซียมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากการเดิมพันว่า Fed จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในปีนี้ ทำให้นักลงทุนวางเดิมพันกับภาวะขาขึ้นในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่
โดยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รูเปียห์ได้สูญเสียโมเมนตัมและอ่อนค่าลงประมาณ 1.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากเมื่อเดือนมกราคมรูเปียห์แข็งค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีแบบเดือนต่อเดือน ท่ามกลางการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์ และเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร
โดยการไหลออกจากตลาดพันธบัตรเมื่อเร็วๆ นี้กำลังส่งผลกระทบต่อเงินรูเปียห์ เนื่องจากกองทุนต่างประเทศได้ขายพันธบัตรของรัฐบาลอินโดนีเซียไปแล้วเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากทุ่มเงินลงไป 3.3 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก่อนหน้า
นอกจากนี้ Barclays Plc สถาบันการเงินรายใหญ่จากอังกฤษ ยังคาดการณ์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียจะแกว่งไปในแดนลบหรือขาดดุล 0.2% ของ GDP ในปีนี้ และ 0.8% ในปีหน้า
อีกหนึ่งปัจจัยฉุดรูเปียห์คือ การคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารอินโดนีเซียในเดือนนี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ทำให้นักลงทุนรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพื่อประเมินว่า วงจรการคุมเข้มของธนาคารกลางอินโดนีเซียรอบนี้จะสิ้นสุดลงหรือไม่
โดยหากรูเปียห์อินโดนีเซียสูญเสียโมเมนตัมต่อไป เงินบาทของไทยและเงินวอนของเกาหลีใต้ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย เนื่องจากผลพวงการเปิดประเทศอีกครั้งของจีนตามข้อมูลของ อัลวิน ตัน
ตามข้อมูลจาก Bloomberg ในวันนี้ (27 กุมภาพันธ์) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) เงินอินโดนีเซียอ่อนค่าแล้ว 1.95% เทียบกับเงินบาทที่แข็งค่าราว 1.55% และเงินวอนที่แข็งค่าราว 5%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
อ้างอิง: