×

ไขข้อสงสัย เหตุใดคำสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดียจึงกระทบหลายประเทศทั่วโลก

07.06.2022
  • LOADING...
ข้าวสาลี

วานนี้ (6 มิถุนายน) รัฐบาลอินเดียได้ออกมาแก้ต่างถึงคำสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลีไปยังต่างประเทศที่บังคับใช้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า นโยบายดังกล่าวอาจซ้ำเติมวิกฤตอาหารโลกซึ่งบอบช้ำจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียอยู่ก่อนแล้ว

 

เซม ออซเดเมียร์ รัฐมนตรีกระทรวงอาหารและการเกษตรของเยอรมนี กล่าวในเดือนพฤษภาคมหลังจากที่อินเดียออกคำสั่งดังกล่าวว่า “หากทุกประเทศบังคับใช้นโยบายห้ามส่งออก ก็จะยิ่งซ้ำเติมให้วิกฤตย่ำแย่ลงอีก”

 

อย่างไรก็ตาม ปิยุช โกยาล รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของอินเดีย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า คำสั่งห้ามส่งออกของอินเดียไม่น่าส่งผลกระทบต่อตลาดโลก เนื่องจากอินเดียไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่

 

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามตามมาว่า ผลกระทบจากการตัดสินใจของอินเดียในครั้งนี้คืออะไรบ้าง?

 

นับตั้งแต่ที่อินเดียประกาศแบนการส่งออกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เพื่อแก้ปัญหาสต๊อกข้าวสาลีในประเทศขาดแคลนจากภาวะอากาศร้อนจากคลื่นความร้อน ก็ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีในอินเดียปรับตัวสูงขึ้นทันที

 

แม้อินเดียจะไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ แต่ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ก็ได้สั่นคลอนตลาดโลก โดยดันให้ดัชนีราคาข้าวสาลีที่ซื้อขายในตลาดชิคาโกพุ่งขึ้นเกือบ 6% ขณะที่ราคาข้าวสาลีหลักบางประเภทปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน โดยทะยานสูงสุดในวันที่ 17-18 พฤษภาคม

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมานั้น ราคาข้าวสาลีได้ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครน ขณะราคาอาหารชนิดอื่นๆ ก็ดีดตัวขึ้นด้วยในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากสงครามที่เกิดขึ้นส่งผลให้ยูเครนซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลกไม่สามารถขนส่งสินค้าออกนอกประเทศได้

 

เคลลี กัวอารี เจ้าหน้าที่ของ Gro Intelligence ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลการเกษตรอธิบายว่า คำสั่งห้ามส่งออกของอินเดียได้ดันให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากผู้ซื้อทั่วโลกต้องพึ่งพาผลผลิตจากอินเดียหลังจากการส่งออกจากภูมิภาคทะเลดำลดลง

 

ทั้งนี้ แม้อินเดียจะเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสองของโลก แต่ยอดที่ส่งออกมานั้นคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการค้าข้าวสาลีทั่วโลก เนื่องจากอินเดียมีนโยบายใช้ข้าวสาลีจำนวนมากในประเทศเพื่อดูแลกลุ่มคนยากจน

 

แต่ก่อนจะมีคำสั่งห้ามส่งออกเพียงไม่นานนั้น อินเดียเคยประกาศตั้งเป้าที่จะกระตุ้นการส่งออกข้าวสาลีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10 ล้านตันในปีนี้ เทียบกับเพียง 2 ล้านตันในปีที่แล้ว โดยได้เสนอการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในเอเชียและแอฟริกา อย่างไรก็ดี แม้จะมีคำสั่งแบนออกมา แต่รัฐบาลยังอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศที่มีความจำเป็นตามคำขอเป็นรายประเทศ

 

ตลาดใหญ่ที่สุดในการส่งออกข้าวสาลีของอินเดียคือ บังกลาเทศ เนปาล และศรีลังกา รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี

 

ตามรายงานของ Observatory of Economic Complexity (OEC) ระบุว่า ในปี 2019-2020 ศรีลังกาและยูเออี นำเข้าข้าวสาลีจากอินเดียมากกว่า 50% ของจำนวนข้าวสาลีทั้งหมด และเนปาลนำเข้ามากกว่า 90% ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าประเทศเหล่านี้จะยังคงได้รับข้าวสาลีจากอินเดียภายใต้สัญญาที่มีอยู่หรือไม่ หรือจะได้สินค้าเพิ่มเติมภายใต้ข้อตกลงในอนาคต

 

ส่วนอียิปต์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการซื้อข้าวสาลีของอินเดียต่อไป 

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้อินเดียพิจารณาทบทวนคำสั่งห้ามส่งออกใหม่อีกครั้ง โดยระบุว่า อินเดียอาจมีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาวิกฤตซัพพลายข้าวสาลีในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน

 

นอกเหนือจากประเด็นสงครามในยูเครนแล้ว ปัญหาสภาพอากาศยังส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่บางประเทศอีกด้วย

 

กัวอารีกล่าวว่า “ภัยแล้ง น้ำท่วม และคลื่นความร้อน ก็เป็นปัญหาคุกคามการผลิตพืชพันธุ์ของผู้ผลิตรายใหญ่ประเทศอื่นๆ” ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และฝรั่งเศส

 

ตามรายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า การผลิตข้าวสาลีทั่วโลกในช่วงปี 2022-2023 จะอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และสต๊อกข้าวสาลีทั่วโลกคาดว่าจะต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี นอกจากนี้ราคาปุ๋ยที่ทะยานสูงขึ้นกว่า 3 เท่าตัวในปีที่ผ่านมานั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้

 

Gro Intelligence ประมาณการว่า จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลให้สต๊อกข้าวสาลีทั่วโลกร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในปี 2008

 

จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลกกล่าวในเดือนมีนาคมว่า พืชผลฤดูหนาวของจีนอาจ ‘ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์’ เนื่องจากเผชิญกับฝนตกหนักในปี 2021

 

แม้ขณะนี้จีนจะยังไม่ได้รายงานผลการเก็บเกี่ยวธัญพืช แต่หากจำนวนที่ออกมาน้อยตามคาดการณ์ จีนก็อาจจำต้องพึ่งพาการนำเข้าจากตลาดโลกเพื่อเติมสต๊อกในประเทศ ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้ซัพพลายในตลาดโลกตึงตัวและกดดันให้ราคาทะยานขึ้นอีก

 

ภาพ: CFOTO / Future Publishing via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising