อินเดียและปากีสถานตกลงหยุดยิงทันทีเมื่อวานนี้ (10 พฤษภาคม) หยุดการสู้รบที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีระหว่างสองประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติที่หวั่นใจว่า ความขัดแย้งกำลังจะบานปลายจนเกือบควบคุมไม่ได้
การหยุดยิงครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความบน Truth Social เมื่อวานนี้ เวลาประมาณ 17.00 น. ตามเวลาอินเดียและปากีสถานว่า “หลังจากการเจรจาตลอดทั้งคืนซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ผมมีความยินดีที่จะประกาศว่า อินเดียและปากีสถานตกลงที่จะ หยุดยิงโดยสมบูรณ์และทันที”
หลังจากนั้น มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า อินเดียและปากีสถานไม่เพียงตกลงหยุดยิงระหว่างกัน แต่ยังตกลงที่จะ “เริ่มการเจรจาในประเด็นกว้างๆ ณ สถานที่ที่เป็นกลาง” โดยรูบิโอระบุว่าข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาและ เจ. ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศตลอดสองวันที่ผ่านมา
ก่อนที่ทั้งปากีสถานและอินเดียจะยืนยันในเวลาต่อมาว่า การหยุดยิงมีผลทันที
บทบาทสหรัฐฯ กับข้อมูลที่ขัดแย้งกัน?
แม้ว่าทรัมป์จะเป็นคนแรกที่ประกาศเรื่องการหยุดยิงและอ้างเครดิตในความสำเร็จนี้ แต่อินเดียและปากีสถานกลับให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในข้อตกลงครั้งนี้
กระทรวงสารสนเทศของอินเดียระบุว่า ข้อตกลงนี้ “เกิดขึ้นโดยตรงระหว่างสองประเทศ” พร้อมยืนยันว่า “ยังไม่มีการตัดสินใจ” ที่จะเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งสะท้อนนัยการลดทอนบทบาทของสหรัฐฯ ขณะที่ฝั่งปากีสถานกลับยกย่องบทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ โดย เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ได้กล่าว ขอบคุณทรัมป์ที่แสดงความเป็นผู้นำและบทบาทเชิงรุกเพื่อสันติภาพในภูมิภาคนี้
ด้านแหล่งข่าวจากฝั่งปากีสถานที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเผยกับ CNN ว่า สหรัฐฯ โดยเฉพาะรูบิโอ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อตกลงนี้ แม้ว่าจนถึงนาทีสุดท้ายจะยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ผลจริงหรือไม่
นักวิเคราะห์ระบุว่า อินเดียมองตนเองเป็นมหาอำนาจที่กำลังเติบโต จึงมักไม่ยอมรับการแทรกแซงจากภายนอก ไม่ว่าจะกับปากีสถาน จีน หรือประเทศใดๆ ในขณะที่ปากีสถาน ซึ่งพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ยินดีต้อนรับการไกล่เกลี่ย เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่สามารถกดดันให้อินเดียพูดคุยและแก้ปัญหาแคชเมียร์ได้
ก่อนที่จะตกลงหยุดยิง การปะทะกันของอินเดีย-ปากีสถาน เต็มไปด้วยการกล่าวหากัน ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน และการโต้กลับจากทั้งสองฝ่าย ขณะนี้เมื่อสงครามสงบลง ทั้งสองฝ่ายพยายามควบคุมการรับรู้ของสาธารณชนว่า ฝ่ายตน ‘ชนะ’ หรือได้เปรียบจากข้อตกลงนี้
ทำไมสหรัฐฯ ถึงเข้ามาเกี่ยวข้อง?
สองวันก่อนหน้านี้แวนซ์เพิ่งกล่าวว่า สหรัฐฯ คงไม่มีบทบาทสำคัญในวิกฤตนี้ ขณะให้สัมภาษณ์กับ Fox News โดยระบุว่า สิ่งที่เราทำได้คือพยายามกระตุ้นให้ทั้งสองฝ่ายลดความตึงเครียดลง แต่เราไม่ควรเข้าไปยุ่งในสงครามที่ไม่ใช่เรื่องของเรา
แต่ท่าทีของแวนซ์เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน สะท้อนความกังวลของสหรัฐฯ และประชาคมโลกต่อสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงระหว่างสองประเทศนี้ที่มีอาวุธนิวเคลียร์
เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลทรัมป์เผยกับ CNN ว่า หลังจากได้รับข่าวกรองที่น่ากังวลในวันศุกร์เกี่ยวกับการยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จึงเห็นว่า สหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการเจรจา จึงเข้ามาเป็นตัวกลางในข้อตกลงนี้
การหยุดยิงจะยั่งยืนหรือไม่?
แม้อินเดียและปากีสถานจะถอยห่างจากขอบเหวของสงครามชั่วคราว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าการหยุดยิงจะยืนยาวแค่ไหน
วิกรม มิศรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียอ้างว่า ปากีสถานละเมิดข้อตกลงหยุดยิงหลายครั้ง หลังมีเสียงระเบิดทั้งในฝั่งอินเดียและฝั่งปากีสถานของแคชเมียร์ ขณะที่ปากีสถานก็กล่าวหาอินเดียในทำนองเดียวกัน แต่ยืนยันว่า ปากีสถานยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างเคร่งครัด
หลังจากเหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวในแคชเมียร์ส่วนที่อินเดียครอบครอง ทั้งอินเดียและปากีสถานยังออกมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม เช่น การระงับวีซ่า การห้ามการค้า และอินเดียยังระงับการเข้าร่วมข้อตกลงแบ่งปันน้ำระหว่างประเทศทั้งสอง ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการเหล่านี้จะถูกยกเลิกด้วยหรือไม่
ภาพ: Sharafat Ali / Reuters
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/articles/cvg9d913v20o
- https://edition.cnn.com/2025/05/10/asia/india-pakistan-ceasefire-explainer-latam-intl
- https://www.aljazeera.com/news/liveblog/2025/5/11/india-pakistan-live-pakistan-committed-to-truce-india-claims-breaches