การระบาดของโควิดสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจอีเวนต์ เพราะการเดินทาง การจำกัดจำนวนคนในกิจกรรม และความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ทำให้การจัดงานมีข้อจำกัดมากมาย อย่างไรก็ดี ความต้องการในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมยังคงมีอยู่ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การเติบโตของธุรกิจอีเวนต์ก็กลับมาอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในภาพสะท้อนคือข้อมูลจากศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่ระบุว่า ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคม-สิงหาคม 2566) มียอดจัดงานในพื้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ไปแล้วกว่า 421 งาน ส่วนช่วง 4 เดือนสุดท้ายปีนี้ (เดือนกันยายน-ธันวาคม 2566) มียอดจองพื้นที่รวมทั้งการจัดประชุม งานเลี้ยง งานแสดงสินค้า และคอนเสิร์ต เข้ามาแล้วกว่า 200 งาน
“สำหรับปี 2566 (เดือนเมษายน 2566 – มีนาคม 2567) คาดการณ์ว่าจะมีรายได้รวมกว่า 3,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดในปี 2562 แบ่งเป็นรายได้จากการบริการให้เช่าพื้นที่งานแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และการจัดคอนเสิร์ต ประมาณ 2,000 ล้านบาท และธุรกิจอาหารเครื่องดื่มประมาณ 1,000 ล้านบาท” พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คอนเสิร์ตจองจัดงานทุกสัปดาห์ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ เทงบ 200 ล้าน สร้างสะพานเชื่อมอาคาร คาดรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายจะเปิดได้ปี 2568
- ถึงเวลาอีเวนต์กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ‘อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ’ พร้อมลุยจัดงานในต่างประเทศ เน้นโฟกัสซาอุดีอาระเบีย น่านน้ำใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้เติบโตขึ้น
- ไขคำตอบ ทำไม ‘บัตรคอนเสิร์ต’ ถึงราคาพุ่งสูงปรี๊ด! ต้นตอมาจากเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวทางของผู้จัดงานประชุม สัมมนา และอีเวนต์ทั่วโลกเปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญกับการจัดงานแบบยั่งยืนเพิ่มขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกการจัดอีเวนต์ ทั้งอีเวนต์ส่วนตัว ไปจนถึงอีเวนต์ใหญ่ๆ เชิงธุรกิจในอุตสาหกรรมไมซ์ (Meetings, Incentives, Conferences and Exhibitions) ที่สร้างรายได้อันดับต้นๆ ให้แก่ประเทศ มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้น เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2565 ได้เปิดตัวแพ็กเกจ ‘IMPACT Sustainable Meeting’ รองรับกลุ่มผู้จัดงานประชุมสัมมนาที่ต้องการจัดงานในรูปแบบยั่งยืน ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้จัดงาน โดยสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 663.38 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 40 ต้น
ล่าสุดได้ออก Green Package เพื่อรองรับผู้จัดงานแบบยั่งยืนที่กว้างขึ้นในทุกประเภท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- การให้บริการสถานที่ อุปกรณ์สำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน ลดการใช้อุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น
- อาหารและเครื่องดื่ม โดยจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าร่วมงาน
- รายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) โดยจะมีการเก็บและติดตามผลตลอดการจัดงาน ตั้งแต่วันเตรียมพื้นที่ก่อนงานเริ่ม ระหว่างการจัดงาน จนถึงการรื้อถอน เช่น ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ปริมาณของเสีย และปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์
“ผลจากการเปิดตัว Green Package จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจัดงานอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนลูกค้าที่หันมาจัดงานแบบยั่งยืนเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา และจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” พอลล์กล่าว
ขณะเดียวกัน อิมแพ็ค เมืองทองธานีก็พยายามลดผลกระทบทางอ้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเดินทาง ด้วยการลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าสู่เมืองทองธานีจำนวน 2 สถานี รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 3 กิโลเมตร คือ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (บริเวณอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ 1) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปี 2568
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ส่วนต่อขยายยังไม่แล้วเสร็จจะมีบริการรถรับ-ส่งจากสถานีศรีรัชเข้ามายังอิมแพ็ค เมืองทองธานี ให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการ