×

3 หน่วยงานออกโรงแจงผลกระทบหุ้นกู้ EA ทำกองทุน ASP-DPLUS ปิดกองไม่น่าห่วง กระทบอุตสาหกรรมน้อย มีกลไกพร้อมดูแล

17.07.2024
  • LOADING...
หุ้นกู้ EA

3 หน่วยงาน ทั้งสมาคมบริษัทจัดการลงทุน, ThaiBMA และสำนักงาน ก.ล.ต. ออกมาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากประเด็นหุ้นกู้ EA ต่อภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุน

 

จากกรณี บลจ.แอสเซท พลัส ประกาศเลิกกองทุน ASP-DPLUS หลังผู้ลงทุนแห่ขายหน่วยลงทุนออกมากกว่า 2 ใน 3 ของทั้งหมด เหตุขาดความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้จากผลกระทบจากความกังวลที่กองทุนมีการลงทุนในหุ้นกู้ของ EA 

 

ล่าสุดสมาคม บลจ. มีมติให้สั่งกองทุนห้ามลงทุนในหุ้น-หุ้นกู้ EA เพิ่ม จนกว่าจะมีความชัดเจนของแนวทางการดำเนินงานของบริษัท พร้อมให้อยู่ใน Restricted List

 

โดย ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการลงทุนในประเทศไทย เปิดเผยว่า มติที่ประชุมที่ประกอบด้วยคณะกรรมการ AIMC และคณะอนุกรรมการ ESG Policy และ Collective Action สำหรับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) และกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (Thai CG) มั่นใจทุกบริษัทจัดการ (บลจ.) มีความพร้อมในการบริหารจัดการต่อปัญหาของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA โดยมีมติจัดให้หลักทรัพย์ของ EA อยู่ใน Restricted List จำกัดการทำธุรกรรมและห้ามมิให้มีการลงทุนเพิ่มจนกว่าจะมีความชัดเจนในแนวทางการดำเนินงานของบริษัท 

 

โดยจะติดตามความคืบหน้าของบริษัทอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าการประกอบธุรกิจของ EA ยังคงดำเนินต่อได้

 

สำหรับกรณี EA นั้น ปัจจุบันการถือครองหุ้นและตราสารหนี้ EA โดยกองทุนรวมทุกประเภทมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การจัดการ ที่ผ่านมาผู้จัดการลงทุนได้ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ EA มาโดยลำดับ 

 

โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีสัญญาณความผิดปกติของราคา ในส่วนหุ้นกู้ EA ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพคล่องของตราสาร การปรับลดสัดส่วนการลงทุนอาจต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ในการนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน บลจ. จึงได้นำเครื่องมือบริหารสภาพคล่องกองทุนรวม (Liquidity Management Tools: LMTs) ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวมตามแนวทางสากลมาใช้  ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดปริมาณการขายคืนหน่วยลงทุน (Redemption Gate) ที่จำกัดปริมาณการขายคืนหน่วยลงทุนสูงสุดในแต่ละวันเพื่อชะลอการขายคืนทรัพย์สินที่กองทุนได้ลงทุนไว้ และการคัดแยกหุ้นกู้ EA ออกจากทรัพย์สินหลักของกองทุนรวม (Side Pocket) เพื่อนำมาบริหารจัดการต่างหาก 

 

โดยหุ้นกู้ EA ในส่วนนี้จะไม่ถูกนำมาคำนวณมูลค่า NAV ผู้ถือหน่วยยังคงซื้อขายกองทุนหลักได้ตามปกติ และเมื่อมีการขายทรัพย์สินส่วนที่ได้มีการ Side Pocket เอาไว้ออกไปในอนาคตบริษัทจัดการก็จะคืนเงินให้ผู้ถือหน่วยต่อไป 

 

โดยทั้งสองวิธีนี้จะช่วยให้กองทุนไม่ต้องเร่งขายหุ้นกู้ EA ออกไปในราคาที่ไม่เหมาะสมหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์และความยุติธรรมให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน

 

อย่างไรก็ดีจากการติดตามข้อมูลปัจจุบันคาดว่าจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มาก อีกทั้งคาดว่าจะไม่มีกองทุนอื่นๆ ปิดกองเพิ่มเติมอีก หลังจากมีกองทุน ASP-DPLUS ของ บลจ.แอสเซท พลัส ปิดตัวลง เพราะปัจจุบัน AIMC มีกลไกรองรับในการดูแลปัญหาที่เกิด

 

กองทุนทยอยขายหุ้น EA กังวลธุรกิจใหม่ดันหนี้เพิ่ม

 

โดยที่ผ่านมา เชื่อว่าผู้จัดการกองทุนมีการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลในการลงทุนในหลักทรัพย์ EA ในส่วน Thai ESG ซึ่งลงทุนในหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings นั้น ปัจจุบันมีหุ้นจำนวน 196 บริษัท และ EA เคยได้รับการจัดอันดับใน SET ESG Ratings ด้วยนั้น ในทางปฏิบัติผู้จัดการกองทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นทุกบริษัท ขึ้นอยู่กับการพิจารณาคัดเลือกและการกระจายการลงทุน เชื่อมั่นว่าผู้จัดการกองทุนทุกคนทำหน้าที่อย่างมืออาชีพในการวิเคราะห์ คัดเลือก และติดตามการลงทุน ปัญหา EA ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของ ESG นั้น ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดทุนไทย แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก 

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมากองทุนรวมส่วนใหญ่มีการทยอยขายหุ้นของ EA ออกมาต่อจนเหลือสัดส่วนที่น้อย เนื่องจากผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มีมุมมองต่อธุรกิจของหลักของ EA ในธุรกิจไฟฟ้า แม้ยังดำเนินการได้ปกติ แต่อาจมีความกังวลในการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ชวินดากล่าวต่อว่า ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนจึงต้องร่วมมือกันให้มีกระบวนการรองรับ ตรวจสอบและติดตามผลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล องค์กรกลาง หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่รับรองและสอบทานข้อมูล บริษัทจัดอันดับ ผู้สอบบัญชี ผู้จัดการกองทุน ไปจนถึงตัวแทนขายที่ได้รับการแต่งตั้ง ฯลฯ เพื่อให้กระบวนการต่างๆ มีพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ สามารถปกป้องผลประโยชน์ผู้ลงทุน

 

นอกจากนี้มีความเห็นว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการหาข้อมูลสืบสวนข้อเท็จจนนำไปสู่การตัดสิน ควรใช้ระยะเวลาดำเนินการให้กระชับเหมาะสมมากขึ้น ไม่ควรใช้ระยะเวลาที่ยาวนานเกินจนส่งผลให้เชื่อได้ว่าบริษัทที่เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ไม่มีปัญหา เพราะในกรณีของ EA ไม่มีกรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน ทำให้เชื่อว่างบการเงินที่รายงานออกมาไม่มีปัญหา

 

ThaiBMA มองกองทุนลงทุนหุ้นกู้ EA สัดส่วนต่ำกระทบอุตสาหกรรมน้อย

 

ด้าน อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากข้อมูลปัจจุบันทุกกองทุนรวมของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีการลงทุนในหุ้นกู้ของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA พบว่า มีการเทกแอ็กชันอย่างรวดเร็ว โดยประกาศใช้วิธีการแยกส่วนการลงทุนที่เป็นหุ้นกู้ EA ออกจากทรัพย์สินอื่นๆ ของกองทุนรวม (Set Aside) คือกองทุนรวมจะมีการแยกหุ้น EA ออกมาเป็นอีกบัญชีจากกองทุนเดิมที่มีการลงทุนในหุ้นกู้ของ EA ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเล็กน้อยของกองทุนที่มีการลงทุนอยู่ ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันมีบางกองทุนรวมมีสัดส่วนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 4% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่สูง

 

ดังนั้นจึงมองว่าผลกระทบที่จะเกิดจากประเด็นหุ้นกู้ของ EA กับภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนไทยจะมีไม่มากจากเครื่องมือ Set Aside ที่ถูกนำมาช่วยดูแล



“เครื่องมือ Set Aside ที่นำมาใช้จะแยกการลงทุนในหุ้นกู้ออกมาอีกบัญชี ทำให้กองทุนที่เหลือจะไม่ได้ผลกระทบอะไร และยังเป็นปกติ เสมือนว่ากองทุนนี้ไม่ได้ลงทุนในหุ้นกู้ EA หาก EA ไม่ผิดชำระหนี้หุ้นกู้ผู้ลงทุนก็ยังได้รับเงินกลับมาปกติ” 

 

สำหรับกรณีที่มีกองทุนรวม 1 กองทุนของ บลจ. บางแห่งที่ประกาศปิดกองทุนนั้น คาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากกรณีที่มีลูกค้ารายใหญ่บางรายเกิดความตื่นตระหนก (Panic) จากปัญหาของ EA ที่ข่าวออกมาในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีความกังวลและไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว โดยกองทุนแห่งนี้ Set Aside ได้เร็วตั้งแต่วันเปิดทำการวันแรกในวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ กองทุนนี้ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ EA เป็นส่วนที่ต่ำเพียงประมาณ 4% ของสินทรัพย์ แต่แรงไถ่ถอนหน่วยลงทุนมาจากนักลงทุนรายใหญ่ จึงส่งผลกระทบให้กองทุนมีความจำเป็นขายสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีคุณภาพดีในกองทุนออกมาตามด้วย ทั้งพันธบัตรรัฐบาล, ตั๋วเงินคลัง, พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมา ซึ่งเป็นตราสารคุณภาพที่มีนักลงทุนพร้อมซื้อลงทุนต่อ โดยการตัดสินใจการปิดกองทุนดังกล่าวนี้มองว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย

 

นอกจากนี้ยังมีกลไกใหม่ คือการจำกัดการขายคืนหน่วยลงทุนไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ (Redemption Gate) ที่ บลจ. นำมาเริ่มใช้ดูแลการไถ่ถอนหน่วยลงทุน หลังโควิดแพร่ระบาด โดยมาช่วยดูแลบรรเทาผลกระทบแรงไถ่ถอนหน่วยลงทุนเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ถือหน่วย และไม่มีผลกระทบต่อภาพของตลาดโดยรวม และคาดว่าจะไม่มีกองทุนรวมแห่งอื่นๆ ต้องปิดตัวลงอีกเพิ่มเติม เพราะกองทุนรวมที่เหลือมีการลงทุนในหุ้น EA ในสัดส่วนที่ต่ำกว่ากองทุนที่ปิดกองไปแล้วดังกล่าว อีกทั้งยังไม่เห็นสัญญาณความตื่นตระหนกเพิ่มเติมของนักลงทุนจากกองทุนรวมกองอื่นๆ

 

“ThaiBMA มอนิเตอร์สภาวะตลาดโดยรวมอย่างใกล้ชิด ตอนนี้ไม่มีเหตุการณ์น่ากังวลว่ามีการแห่เทขายหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกมาเหมือนที่เคยเกิดกับช่วงโควิด เพราะมีกลไกมาช่วยดูแล”

 

ก.ล.ต. มองภาพรวมอุตสาหกรรมยังไม่น่าห่วงแม้มีข่าวปิด 1 กองทุน 

 

ขณะที่ วรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์และข้อมูลกองทุนรวมล่าสุดถึงวันที่ 17 กรกฎาคม พบว่า ภาพรวมในขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวการเลิก 1 กองทุน

 

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา พบว่า บลจ. มีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องที่เพียงพอ และมีการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการแยกหุ้นกู้ที่มีปัญหาออกมาต่างหาก (Side Pocket) การกำหนดสัดส่วนการไถ่ถอน (Redemption Gate) สำหรับกองที่มีการไถ่ถอนมาก ไปจนถึงการเลิกกอง เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยทุกรายอย่างเป็นธรรม โดย ก.ล.ต. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำให้ บลจ. และตัวแทนขายสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ลงทุน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising