หนึ่งในสิ่งที่หลายฝ่ายวิตกกังวลท่ามกลางไฟสงครามการค้าที่กำลังลุกโชนในเวลานี้ก็คือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งล้วนเป็นเสาหลักที่ช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจโลกทั้งคู่ ขณะที่ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าความเสียหายจะเริ่มเด่นชัดในปีหน้า
ในรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ฉบับล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้หั่นคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนลงในปีหน้า สืบเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่มาจากมาตรการภาษีที่สองประเทศใช้เป็นอาวุธห้ำหั่นซึ่งกันและกัน
มอริส ออบสต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง IMF กล่าวในการแถลงข่าวว่า “เมื่อสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกทำเรื่องที่ไม่ปกติ สถานการณ์แบบนั้นจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบ”
ถึงแม้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งด้วยปัจจัยหนุนจากนโยบายปฏิรูประบบภาษีเงินได้นิติบุคคลของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แต่คณะนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF คาดว่าผลพวงจากสงครามการค้าจะฉุดรั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้โตช้าลงจากอัตราคาดการณ์ 2.9% ในปีนี้ เหลือ 2.5% ในปีหน้า ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.7% ในปี 2019
ส่วนจีนก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะโตชะลอตัวลงจาก 6.6% ในปีนี้ เหลือ 6.2% ในปีหน้า ลดลง 0.2 จุดจากรายงานคาดการณ์ฉบับก่อน
นอกจากจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่กรณีที่ได้รับความเสียหายโดยตรงแล้ว เศรษฐกิจโลกในภาพรวมก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นเช่นกัน
IMF มองว่าถึงแม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีหน้า แต่ภาพรวมมีความสดใสน้อยลงเมื่อเทียบกับที่เคยประเมินไว้ในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจฉบับเดือนเมษายน
นอกจากความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนแล้ว การที่ธนาคารกลางของหลายประเทศพร้อมใจกันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนการที่รัฐบาลในหลายประเทศงัดมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้น IMF จึงปรับลดคาดการณ์ GDP ทั่วโลกเหลือโตเพียง 3.7% จากเดิม 3.9% ในรายงานฉบับเดือนกรกฎาคม แต่สิ่งที่น่ากังวลคือนับจากปีหน้าเป็นต้นไป เศรษฐกิจโดยรวมอาจเข้าสู่ทิศทางขาลงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
การหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังมีปัจจัยจากการส่งสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน ตลอดจนความไร้เสถียรภาพในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ โดยเฉพาะเวเนซุเอลา ซึ่งคาดว่าจะยังไม่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยเป็นปีที่ 6 ในปี 2019 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งเป็นจรวดแตะ 10,000,000% ในปีหน้า
ส่วนอาร์เจนตินาที่เพิ่งตอบรับเงินกู้ช่วยเหลือจาก IMF จะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า โดยที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามเงื่อนไขของ IMF
“ผลกระทบจากนโยบายการค้าและความไม่แน่นอนในประเทศต่างๆ ได้กลายเป็นปัจจัยลบที่ชัดเจนในเศรษฐกิจระดับมหภาค” รายงาน IMF ระบุ
ขณะที่ออบสต์เฟลด์กล่าวเสริมว่า “นโยบายการค้าสะท้อนการเมือง แต่จะเห็นว่าปัญหาการเมืองในหลายประเทศยังไม่ได้รับการสะสางหรือแก้ไข ดังนั้นจึงเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน IMF ยังเตือนด้วยว่าหากทรัมป์เดินหน้าลงโทษจีนด้วยมาตรการต่างๆ ตามที่ลั่นวาจาไว้ เช่น เก็บภาษีรถยนต์นำเข้าทั้งหมดที่อัตรา 25% และรัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยนโยบายต่างๆ จะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้น เพราะการขยายตัวของอุปสรรคทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจในวงกว้าง
“ปัญหาพิพาททางการค้าที่ทวีความตึงเครียดขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนในนโยบายของประเทศต่างๆ อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและตลาดเงิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผันผวนกับตลาดเงิน และทำให้การลงทุนและการค้าชะลอตัวลง” IMF ระบุ
อย่างไรก็ตาม IMF บอกว่าตัวเลขคาดการณ์นี้อาจปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ
“มีความเป็นไปได้ที่จีนและสหรัฐฯ จะแก้ปัญหาที่ไม่ลงรอยกันได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เราจะปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์” หัวหน้าเศรษฐกรของ IMF กล่าว
สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจโลกนั้น แม้ว่าจะสามารถยุติสงครามการค้าได้ ทว่านักเศรษฐศาสตร์ก็ยังแสดงความเป็นห่วงว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากมาตรการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ จะเริ่มแผ่วลง ซึ่งอาจทำให้โมเมนตัมเปลี่ยนไป โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2020
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ IMF เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจในขณะที่ยังมีโอกาสอยู่ เช่น การแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณในสหรัฐฯ
ออบสต์เฟลด์เตือนว่าโลกอาจเผชิญกับปัญหายากจนเพิ่มขึ้น และมีสถานที่ที่อันตรายมากขึ้น หากผู้นำทั่วโลกไม่ทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ พัฒนาการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ภาพประกอบ: Dreaminem
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: