×

IMF ห่วงเสถียรภาพไทย ย้ำรัฐบาลควรปรับดิจิทัลวอลเล็ตให้เฉพาะกลุ่ม

13.02.2024
  • LOADING...
IMF ห่วงเสถียรภาพไทย แนะปรับ ดิจิทัลวอลเล็ต

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยกับ THE STANDARD โดยระบุว่า หากรัฐบาลไม่รักษาวินัยการคลัง อาจสะเทือนถึงเสถียรภาพประเทศได้ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไทยควรปรับดิจิทัลวอลเล็ตให้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยให้มุ่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตอบคำถาม THE STANDARD ในประเด็นผลกระทบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า ในมุมมองของ IMF ระบุว่า การแจกเงินขนาดใหญ่แบบไม่เฉพาะเจาะจง (Untargeted) และกึ่งทั่วหน้า (Quasi-Universal) อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงในระยะสั้น (Short-Lived) เท่านั้น นอกจากนี้การถอนมาตรการกระตุ้นในปีงบประมาณต่อไปก็อาจทำให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจได้

 

สำหรับผลกระทบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต IMF ระบุว่า ขนาด (Size), แหล่งเงิน (Financing Terms) และรูปแบบการดำเนินงาน จำเป็นต้องมีความชัดเจนก่อน IMF ถึงจะประเมินผลกระทบได้ โดยเฉพาะผลต่อการลดความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำ

 

อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน การให้การสนับสนุนแบบตรงกลุ่มกับผู้มีความเปราะบางที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อาจพอดีกับงบประมาณที่เหลืออยู่ กระนั้นในการจัดการกับความยากจนและความไม่เท่าเทียมอย่าง ‘ยั่งยืน’ รัฐบาลควรมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Nets) และสร้างความก้าวหน้าของระบบภาษี

 

ทั้งนี้ ตามการประมาณการล่าสุดของ IMF เมื่อเดือนมกราคม IMF คาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้นเป็น 4.4% (รวมดิจิทัลวอลเล็ต) ในปี 2567 เนื่องมาจากอุปสงค์ภายนอกที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตที่แข็งแกร่งของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังของรัฐบาล (ดิจิทัลวอลเล็ต) ด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ดิจิทัลวอลเล็ต) น้อยกว่าระดับที่คาดไว้ในปัจจุบัน (ราว 2.7% ต่อ GDP) หรือโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกแบ่งออกไปใช้ 2 ปีงบประมาณ คาดการณ์การเติบโตในปี 2567 ก็อาจจะลดลง

 

เปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย อาจโตต่ำกว่าประมาณการ

 

IMF ระบุอีกว่า ไทยมีความเสี่ยงทั้งในประเทศและภายนอกหลายประการ ได้แก่ วินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) ที่ไม่เพียงพอและค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นอาจ ซึ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพระดับมหภาค

 

นอกจากนี้หนี้ภาคเอกชนก็ถือเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจได้

 

ในด้านภายนอก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะในจีนและสหรัฐอเมริกา ก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อประเทศไทย ขณะที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่หนักขึ้นก็อาจส่งผลเสียต่อไทยอย่างมาก

 

เตือนไทยขาดวินัยการคลัง อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพประเทศ

 

IMF เน้นย้ำอีกว่า การรักษาจุดยืนทางการคลัง (Fiscal Stance) ที่รอบคอบในระยะสั้น ด้วยการสนับสนุนแบบตรงเฉพาะเจาะจง (Well-Targeted) ไปยังกลุ่มเปราะบางถือเป็น ‘สิ่งสำคัญ’ จากการพิจารณาจากโมเมนตัมการบริโภคที่แข็งแกร่ง ช่องว่างของผลผลิต และพื้นที่ทางการคลังที่แคบลง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมระดับโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

 

“วินัยทางการคลังที่ไม่เพียงพอภายใต้สภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ที่ล่าช้าออกไป อาจทำให้หนี้สาธารณะแย่ลง ซึ่งอาจทำให้ภาครัฐต้องรีบหันมาใช้นโยบายที่เข้มงวดอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจกลับมาเป็นความท้าทายต่อการเติบโตอีกที” IMF ระบุ

 

ส่วนในระยะกลาง การยกระดับการระดมรายได้และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายที่ดีขึ้น จะช่วยลดหนี้สาธารณะและทำให้พื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในด้านการศึกษา สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ

 

“การปรับนโยบายการคลังและการเงินให้กลับสู่ระดับปกติ (Normalization) อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างกันชนขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจได้” IMF ระบุ

 

แนะไทยกระจายความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ อย่างเช่น ส่งออกและท่องเที่ยว

 

IMF แนะว่า การเพิ่มความหลากหลายในตลาดส่งออกอาจช่วยลดผลกระทบด้านลบจากอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอลงได้ ตัวอย่างเช่น ความพยายามในปัจจุบันของประเทศไทยในการขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ ที่กว้างขึ้น

 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังสามารถดำเนินการบูรณาการทางการค้า (Trade Integration) กับประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็แสวงหาการใช้ประโยชน์จากกลุ่มเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไปจนถึง Global Value Chains

 

แม้ปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อ GDP ทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไปได้เพิ่มความเสี่ยงของประเทศไทย (ดังที่พบในช่วงโควิด) และอาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะกลางได้

 

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดมวลชน (Mass-Market Tourists) นอกจากนี้การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวในไทยยังน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงกว่าหรือเทียบเคียงได้ 

 

ดังนั้นการพึ่งพาการท่องเที่ยวมวลชนจำนวนมากอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตระยะกลาง เนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรไปยังภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มที่ค่อนข้างต่ำ (Low Value-Added Sector)

 

IMF จึงแนะนำให้ไทยพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงขึ้น (Higher Value Tourism) เช่น การท่องเที่ยวที่หรูหรา การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ประเทศไทยควรพยายามยกระดับกำลังแรงงานและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้นและมุ่งสู่การส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โครงการ EEC จึงถือเป็นก้าวสำคัญในทิศทางนี้

 

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดและพึ่งพาการค้าเป็นอย่างมาก ดังนั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ปัญหาอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนแอในช่วงปี 2566 ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีประสิทธิภาพต่ำ การลงทุนในประเทศเพียงเล็กน้อยของปีที่แล้ว เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การเติบโตที่อ่อนแอของประเทศไทย ทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคโลกและความไม่แน่นอนภายในประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของการลงทุนที่ต่ำ” IMF ระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising