กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกโรงเรียกร้องให้จีนแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมกับนานาประเทศเดินหน้าจัดการปรับปรุง ‘หนี้’ ในหลายประเทศทั่วโลกในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ ทั้งนี้ เรื่องการจัดการหนี้ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะมีการหารือกันระหว่าง IMF และ World Bank ในการประชุมช่วงสัปดาห์หน้า
IMF กล่าวว่า จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถดำเนินการภายใต้กระบวนการบรรเทาหนี้ระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นสำหรับประเทศยากจนที่ประสบปัญหาในการจ่ายเงิน
คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF เชื่อว่าจีนจะเข้าร่วมในการปรับโครงสร้างให้กับหลายประเทศที่มีรายได้ต่ำ เช่น แซมเบีย ซึ่งขณะนี้ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการเจรจาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้มูลค่า 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์
จอร์เจียวาย้ำชัดเจนว่า จีนมีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการหนี้ในกลุ่มประเทศผู้มีรายได้น้อย และยินดีอย่างยิ่งที่จีนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกรอบการจัดระเบียบหนี้ใหม่ กระนั้น ชาติตะวันตกจำนวนหนึ่ง นำโดยสหรัฐฯ ออกโรงกล่าวหาจีนในการขัดขวางความพยายามของนานาชาติในการบรรเทาปัญหาหนี้ของหลายๆ ประเทศ เนื่องจากจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
ขณะเดียวกัน ทางผู้อำนวยการ IMF ยังได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะโตทรงตัวที่ 3% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเป็นตัวเลขคาดการณ์การเติบโตระยะกลางที่น้อยที่สุดเท่าที่ IMF เคยประเมินมาตั้งแต่ปี 1990 ทั้งยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 3.8%
ขณะเดียวกัน จอร์เจียวายังกล่าวอีกว่า เส้นทางข้างหน้าเต็มไปด้วนถนนที่ ‘ขรุขระและมีหมอกหนา’ พร้อมเตือนว่าความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหานั้นยากขึ้น
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันก่อนการประชุมประจำปีของ IMF โดยจอร์เจียวาได้แสดงความกังวลว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบเป็นพิเศษต่อประเทศรายได้น้อย เพราะเสี่ยงทำให้ประชาชนหิวโหยและยากจนมากกว่าเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้อำนวยการ IMF ยังแสดงความกังวลว่า การที่แบงก์ชาติประเทศต่างๆ แห่ขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับการที่ธนาคารหลายแห่งล้มละลาย และปัญหาทางการเมืองกำลังบั่นทอนเสถียรภาพในโลกการเงินด้วย ขณะที่วิกฤตหนี้สินในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ทำให้ประเทศเหล่านี้โตได้ยาก เพราะมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย ทำให้เกิดความยากจนและความอดอยากมากขึ้น ดังนั้นนานาประเทศควรให้การสนับสนุนกลุ่มประเทศรายได้ต่ำที่มีความเปราะบางสูง
อย่างไรก็ตาม จอร์เจียวาก็เห็นด้วยกับการที่บรรดาธนาคารกลางต่างๆ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้นำ IMF เตือนปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ ‘ความยากลำบาก’ มากขึ้น
- IMF เตือนการแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความเสียหายมากถึง 7% ของ GDP โลก
- คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้นำ IMF ชี้ การเปิดประเทศของจีนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
อ้างอิง: