×

‘IMF’ ชี้เศรษฐกิจโลกกำลังเจอบททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

24.05.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ระหว่างการประชุมในงาน World Economic Forum ที่สวิตเซอร์แลนด์ 

 

คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการของ IMF กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับบททดสอบครั้งใหญ่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งจากความเสี่ยงที่รัสเซียบุกยูเครน ซ้ำเติมผลกระทบจากวิกฤตโควิด ดึงให้การเติบโตลดลง และผลักให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ 

 

ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทบต่อภาคครัวเรือนทั่วโลก ในขณะที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำลังดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดเพื่อสะกัดเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นแรงกดดันมหาศาลต่อประเทศ บริษัท หรือครอบครัวที่มีหนี้สิน

 

เมื่อรวมเอาเรื่องของความผันผวนของตลาดการเงินและอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ามาด้วย ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ IMF มองว่า โลกของเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘Potential Confluence of Calamities’ หรือการไหลมาบรรจบกันของภัยพิบัติ

 

“แต่ความสามารถในการตอบสนองของเรากำลังหยุดชะงักจากผลของสงครามในยูเครน ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” จอร์เจียวากล่าว

 

ความตึงเครียดทางการค้า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญหาความปลอดภัย กำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายปี เป็นสิ่งที่กัดกร่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งความน่าเชื่อถือในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน 

 

จอร์เจียวากล่าวต่อว่า แค่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายทางการค้าอย่างเดียวก็กระทบต่อ GDP ราว 1% ในปี 2019 อิงจากการวิจัยของ IMF และจากการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจยังพบอีกว่า ประมาณ 30 ประเทศได้จำกัดการค้าในส่วนของอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์จำเป็นอื่นๆ เพียงแค่เรื่องของ Technology Fragmentation ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีต้องบริหารจัดการหลายแพลตฟอร์มเพื่อตอบสนองต่อการใช้งานของผู้บริโภค เช่น แอปพลิเคชันสำหรับ iOS และ Android ก็สามารถนำไปสู่การหดตัวของ GDP ได้ถึง 5% สำหรับหลายๆ ประเทศ 

 

สำหรับทางออกของปัญหาเหล่านี้ IMF ระบุว่า แต่ละประเทศต้องลดข้อจำกัดในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องของภาวะขาดแคลน รวมทั้งช่วยลดราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ขณะเดียวกันก็พยายามเพิ่มสินค้าส่งออกให้หลากหลายมากขึ้น 

 

“ไม่เพียงแค่ประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทต่างๆ ที่จำเป็นต้องเพิ่มสินค้าส่งออกให้หลากหลาย เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานเอาไว้ และป้องกันผลประโยชน์มหาศาลต่อภาคธุรกิจของโลก”

 

นอกจากนี้ IMF ยังได้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการจัดการกับหนี้ เนื่องจากประมาณ 60% ของประเทศที่มีรายได้ต่ำกำลังเผชิญกับความเสี่ยงเรื่องหนี้ และจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้าง 

 

“หากไม่มีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ทั้งประเทศที่เป็นหนี้และเจ้าหนี้จะแย่ทั้งคู่ แต่การกลับสู่การเป็นหนี้แบบมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดการลงทุนครั้งใหม่และสร้างการเติบโตได้อีกครั้ง” 

 

ถัดมาคือเรื่องของการพัฒนาการชำระเงินระหว่างประเทศ เพราะความไม่มีประสิทธิภาพของการชำระเงินในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ IMF ประเมินว่าต้นทุนในการชำระเงินระหว่างประเทศสูงถึง 6.3% โดยเฉลี่ย ซึ่งเท่ากับ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ที่ต้องสูญเสียให้กับตัวกลางและทำให้รายได้ของครัวเรือนต่ำลง 

 

ข้อสุดท้าย IMF เรียกร้องให้ปิดช่องว่างระหว่างความต้องการและนโยบายในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมองหาแนวทางในการมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ผ่านการรวมเอาเรื่องของคาร์บอนเครดิตและการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising