×

อย่าฝืน! IMF แนะ BOJ เพิ่มความยืดหยุ่น Bond Yield 10 ปี และสื่อสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายมากขึ้น

26.01.2023
  • LOADING...
IMF แนะ BOJ

IMF ชี้ว่า การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่นเหมาะสมแล้ว แต่แนะให้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมเส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และสื่อสารกับตลาดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายมากขึ้น

 

วันนี้ (26 มกราคม) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานประจำปีเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยระบุว่า การใช้นโยบายผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ ยังคง ‘เหมาะสม’ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ในระดับสูงว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเสี่ยงที่จะเอียงไปทางขาขึ้น โดยอ้างถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยน การเปิดพรมแดนอีกครั้งของญี่ปุ่น และมาตรการสนับสนุนทางการคลัง

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม BOJ ได้ขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี จากระหว่างบวกและลบ 0.25% เป็นระหว่างบวกและลบ 0.5% จาก 0.25% โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว BOJ ยังคงนโยบายนี้ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวยืนยันว่า จะยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป โดยตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ให้ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

 

 

IMF ระบุในรายงานว่า “ความยืดหยุ่นที่มากขึ้นสำหรับอัตราผลตอบแทนระยะยาวจะช่วยหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในภายหลังได้” พร้อมย้ำว่า สิ่งนี้จะ “ช่วยจัดการความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้ดีขึ้น และยังช่วยแก้ไขผลข้างเคียงของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ยืดเยื้อได้อีกด้วย”

 

IMF ยังแนะนำอีกว่า BOJ อาจพิจารณาขยายกรอบการเคลื่อนไหว Bond Yield 10 ปีให้กว้างขึ้น หรือขยายเป้าหมายกรอบการเคลื่อนไหวของ Bond Yield 10 ปี หรือเปลี่ยนจากเป้าหมายอัตราผลตอบแทนไปเป็นปริมาณการซื้อพันธบัตรแทน

 

นอกจากนี้ IMF ยังแนะอีกเรื่องว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแบบ ‘มีการสื่อสารที่ดี’ จะช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างราบรื่นขึ้น และช่วยปกป้องเสถียรภาพทางการเงินได้ด้วย 

 

IMF ยังคาดการณ์ด้วยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.4% ในปี 2022 และ 1.8% ในปี 2023 อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงด้านลบภายนอกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลึกขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างกะทันหัน และภัยคุกคามทางไซเบอร์

 

IMF แนะอีกว่า การสนับสนุนทางการคลังสำหรับการฟื้นตัวหลังโควิด ‘ควรถอนออกโดยเร็ว’ เนื่องจากมาตรการเหล่านั้นสามารถกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising