×

ILO เตือน แรงงานเกือบครึ่งของโลกอาจไม่มีชีวิตรอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 วอนรัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วนกอบกู้ธุรกิจในเศรษฐกิจนอกระบบ

30.04.2020
  • LOADING...
วิกฤตโควิด-19

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เตือนว่า การลดชั่วโมงการทำงานอย่างฮวบฮาบทั่วโลกอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้แรงงานนอกระบบจำนวน 1.6 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานทั่วโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำรงชีวีต

 

ข้อมูลจากรายงาน COVID-19 and the world of work ฉบับที่ 3 ของ ILO คาดว่า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 จะรุนแรงกว่าที่ประมาณการไว้ในตอนแรก

 

เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด (ไตรมาส 4 ปี 2019) คาดว่าชั่วโมงการทำงานจะลดลง 10.5% หรือเทียบเท่างานประจำ 305 ล้านตำแหน่ง (คำนวณจากการทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง) แต่ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าชั่วโมงการทำงานจะลดลง 6.7% หรือเทียบได้กับคนทำงานประจำ 195 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับกรอบเวลาการขยายมาตรการล็อกดาวน์

 

รายงานระบุว่า สถานการณ์จะเลวร้ายลงในกลุ่มภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยคาดว่าชั่วโมงการทำงานในภูมิภาคอเมริกาเหนือ กลาง และใต้ จะหายไป 12.4% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต ขณะที่ยุโรปและเอเชียกลางจะลดลง 11.8% ส่วนภูมิภาคที่เหลืออาจลดลงไม่ต่ำกว่า 9.5%

 

ILO ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากโรคระบาด จะทำให้แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดในตลาดแรงงาน ได้รับผลกระทบอย่างหนักในการหาเงินเลี้ยงชีพ สืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์หรือเซกเตอร์อุตสาหกรรมที่พวกเขาทำงานอยู่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

 

มีการประมาณการว่าช่วงเดือนแรกของวิกฤตการระบาด ทำให้แรงงานนอกระบบทั่วโลกมีรายได้ลดลง 60% โดยแบ่งเป็นในแอฟริกา, อเมริกาเหนือ กลาง และใต้ 81%,  เอเชียและแปซิฟิก 21.6% และยุโรปและเอเชียกลาง 70% ซึ่งหากพวกเขาไม่มีแหล่งรายได้อื่นๆ มาจุนเจือ ก็หมายความว่าแรงงานเหล่านี้รวมถึงครอบครัวของพวกเขาจะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้

 

นอกจากแรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบแล้ว คาดว่าองค์กรบริษัทหรือวิสาหกิจกว่า 436 ล้านแห่งทั่วโลกจะเผชิญความเสี่ยงสูงในการถูก Disrupt โดยเฉพาะองค์กรที่ดำเนินงานในเซกเตอร์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงธุรกิจขายส่งและค้าปลีกราว 232 ล้านราย, ธุรกิจในภาคการผลิต 111 ล้านราย, ธุรกิจภาคโรงแรมและอาหาร 51 ล้านราย และธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ 42 ล้านราย

 

ILO ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ออกมาตรการเร่งด่วนที่ยืดหยุ่นเพื่อช่วยเหลือแรงงานและธุรกิจให้ตรงเป้า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก, ธุรกิจในเศรษฐกิจนอกระบบและผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง 

 

กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการ ILO ระบุในรายงานว่า “สำหรับแรงงานหลายล้านคนแล้ว การที่ไม่มีรายได้หมายถึงการไม่มีอาหาร ไม่มีความมั่นคง และไม่มีอนาคต เมื่อวิกฤตการระบาดและการตกงานยังคงดำเนินอยู่ ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปกป้องผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเหล่านั้น”

 

โดยมาตรการชุบชีวิตเศรษฐกิจควรมุ่งเน้นการสร้างงาน สนับสนุนโดยนโยบายการจ้างงานที่ดีขึ้น ตลอดจนพัฒนาระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมและมีทรัพยากรเพียบพร้อมขึ้น นอกจากนี้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องมาตรการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระหนี้ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพและยั่งยืนขึ้น     

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising