×

เห็นแน่! 3 ซัพพลายเชนลั่นผลิตภัณฑ์ผสมสารสกัดจาก ‘กัญชง’ วางตลาดไตรมาส 4 ปีนี้ อิชิตันคาดราคาขายเครื่องดื่มจะอยู่ขวดละ 30-40 บาท แต่ดีที่สุดคือ 20 บาท

29.03.2021
  • LOADING...
เห็นแน่! 3 ซัพพลายเชนลั่นผลิตภัณฑ์ผสมสารสกัดจาก ‘กัญชง’ วางตลาดไตรมาส 4 ปีนี้ อิชิตันคาดราคาขายเครื่องดื่มจะอยู่ขวดละ 30-40 บาท แต่ดีที่สุดคือ 20 บาท

ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสารสกัดกัญชงเห็นตรงกัน คนไทยได้ลิ้มลองผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงในไตรมาส 4 ปีนี้แน่นอน แม้จะมีความกังวลเรื่องใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกที่ล่าช้า ตัวแทนจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างมั่นใจว่ามูลค่าตลาดกัญชงมีโอกาสขยายตัวถึงระดับล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี 

 

จากงานเสวนาออนไลน์ที่จัดโดย THE STANDARD WEALTH ในหัวข้อ ‘เจาะแผนธุรกิจหุ้นพันธุ์กัญชง’ ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรระดับประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนสำหรับ Up-Stream Mid-Stream และ Down-Stream ของซัพพลายเชนผลิตภัณฑ์กัญชง ได้แก่ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI, ธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD และ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG 

 

ทั้ง 3 ท่านล้วนแสดงความมั่นใจว่าแผนธุรกิจที่กำหนดไว้สำหรับพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชงเปิดตัวได้ตามแผนเดิม หรือราวในไตรมาส 4 ปีนี้

 

ต้นน้ำคือคอขวด

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มต้นน้ำเป็นส่วนที่เป็นคอขวด ปัจจัยหลักคือการควบคุมจากทางภาครัฐ ที่ทำให้การเข้าถึงเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาเพาะปลูกเกิดขึ้นได้น้อย โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างองค์การอาหารและยา หรือ อย. นั้น กำหนดทั้งฝั่งคุณสมบัติผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูก และกำหนดสายพันธุ์กัญชงที่จะนำเข้ามาปลูกเช่นกัน 

 

ในการควบคุมจากหน่วยงานรัฐนี้ นอกจากจะทำให้ซัพพลายน้อยแล้ว (ซึ่งในอนาคตอาจะเกิดผลกระทบต่อราคาและศักยภาพการเติบโตของตลาดรวมได้) ยังทำให้การวิจัยและพัฒนาสายพันธ์ุกัญชงเพื่อปลูกและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยมีข้อติดขัดเพิ่มขึ้นด้วย 

 

นพ.บุญ กล่าวว่า บทบาทของ THG ในตลาดกัญชงในไทยคือผู้เล่นต้นน้ำ โดยมีการเซ็น MOU เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนากัญชงร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ทั้งนี้ เพื่อขจัดปัญหาเรื่องคอขวด และเป็นการคัดกรองคุณภาพของผลผลิตของกัญชาเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสายผลิตภัณฑ์ที่ต้องการการวิจัยที่ซับซ้อน

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญกับข้อติดขัดบางอย่าง แต่ THG เชื่อว่าโอกาสของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ และยารักษาโรค ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง

 

ลุ้นมาร์เก็ตแคปแตะหมื่นล้านดอลลาร์ใน 4 ปี  

ทั้งนี้อ้างอิงจากงานวิจัยตลาดกัญชงในสหรัฐอเมริกา พบว่าปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของกัญชงอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการคาดการณ์กันว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐใน 4 ปีจากนี้ ขณะที่มูลค่ารวมตลาดทั่วโลก ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ   

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับมูลค่าตลาดกัญชงในประเทศไทยยังคงประเมินได้ยากในขณะน้ี เนื่องจากต้องประเมินจากดีมานด์และซัพพลาย รวมถึงอัตราส่วนที่ใส่ในแต่ละผลิตภัณฑ์ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอเกณฑ์ที่ชัดเจนจาก อย. 

 

หวังรัฐส่งเสริมชัดเจน-ต่อเนื่อง

นพ.บุญ กล่าวว่า ในการสร้างการเติบโตของตลาดกัญชงไทยนั้น ปัจจัยสำคัญคือการส่งเสริมจากภาครัฐที่ควรมีนโยบายที่ชัดเจน และส่งเสริมทุกซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดวัฏจักรการเรียนรู้และพัฒนาสายพันธุ์และผลิตภัณฑ์ 

 

‘ดีโอดี’ ดันไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกกัญชง

ธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD กล่าวว่า หากให้ประเมินโอกาสการเติบโตของกัญชงในไทย เชื่อว่าตลาดไทยมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก โดยในระยะ 2-3 ปีนี้จะเป็นช่วงของการเรียนรู้ วิจัยและพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์กัญชงในไทยมีประสิทธิภาพสูงสุดในต้นทุนที่ผู้ผลิตเข้าถึงได้และราคาขายเหมาะสม 

 

และหลังจากตลาดในไทยเริ่มสร้างมาตรฐานแล้ว หรือเกิดจุดคุ้มทุนทางธุรกิจได้แล้ว โอกาสที่น่าสนใจคือตลาดส่งออก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนเคยมีประสบการณ์กับสินค้าเชิงการเกษตรของไทยแล้วและให้การตอบรับอย่างดี 

 

“ประเทศไทยโดดเด่นมากในเรื่องการเกษตรกรรม จุดที่ตั้งของประเทศไทยมีความพร้อมด้านการส่งออกไปสู่ภูมิภาค ถ้าไทยเป็นผู้ผลิตต้นทางและส่งออกผลิตปลายทางไปสู่ผู้บริโภค การขยายตัวของตลาดก็จะเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาวะโอเวอร์ซัพพลายจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้” 

 

ยันเห็น ‘Finish Product’ ปลายปีนี้ตามแผน 

ธนินกล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้ อย. ส่งใบอนุญาตการเป็นผู้นำเข้ามาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ไม่นาน อย. ไ้ด้เรียกใบอนุญาตกลับไปเพื่อลงข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้ DOD เชื่อว่าจะสามารถนำเข้าเมล็ดพันธ์ุสู่ประเทศไทยในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะเริ่มติดต่อ Contract Farming เพื่อดำเนินการปลูกภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เป็นกัญชง (มีค่า THC ไม่เกิน 1%) ที่มีคุณภาพ 

 

“จุดโดดเด่นของเราคือการเป็น One Stop Service ของผู้เล่นกลางน้ำ DOD มีอินฟราสตรักเจอร์ หรือแพลตฟอร์มที่พร้อมและมีประสบการณ์ทำงานมายาวนาน สารสกัดกัญชงไม่ทำให้ DOD จำต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมเลย เราสามารถนำมาต่อยอดได้ทันที”

 

‘อิชิตัน’ พร้อมวางขายทันทีภายใน 60 วันหลังได้รับใบอนุญาต ชี้ราคาที่ดีที่สุดคือ 20 บาท

ด้าน ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI กล่าวว่า สำหรับอิชิตันนั้นได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งบรรจุภัณฑ์หรือในฝั่ง R&D ที่ได้เตรียมรสชาติไว้คร่าวๆ โดยเชื่อว่าจะไม่ดีเลย์เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด

 

ในช่วงแรกจะเป็นโอกาสทองของผู้ที่มาก่อน ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคา สำหรับเครื่องดื่มนั้นราคาจะอยู่ที่เท่าไรก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนสารสกัดที่ได้มา ซึ่งต้องควบคุมราคาเพราะถ้าไม่ควบคุมปลายทางจะมีปัญหาได้ 

 

ขณะเดียวกันด้วยความที่ผู้มาก่อนมีโอกาสสร้างฐานลูกค้าได้ก่อน ดังนั้นในเดือนเมษายนนี้อิชิตันเตรียมวางขาย ‘อิชิตัน กรีน แลป’ เครื่องดื่มเทอร์พีนที่มีลักษณะเด่นพิเศษช่วยในเรื่องการผ่อนคลายและบรรเทาความเครียด ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายๆ กับเครื่องดื่มจากกัญชง 

 

“การออกแบรนด์สินค้าก่อน จะทำให้ผู้บริโภครู้จักและคุ้นเคยก่อน โดยคาดว่าอิชิตัน กรีน แลปจะเริ่มผลิตช่วงต้นเดือนเมษายน และอยากให้วางขายให้ทันในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคออกเดินทาง แต่หากไม่ทันช้าสุดควรจะไม่เกิน 22 เมษายน”

 

‘อิชิตัน กรีน แลป’ จะมาพร้อมกับ 2 รสชาติคือ ผสมคาโมมายล์ กลิ่นเทอร์พีน และ กลิ่นเลมอนเทอร์พีน โดยจะมีขนาด 440 มิลลิลิตร ราคา 30 บาท สำหรับเครื่องดื่มจากกัญชงนั้นอิชิตันคาดว่าจะสามารถออกสินค้าได้ทันทีใน 60 วันหลังได้รับอนุญาต โดยราคาจะใกล้เคียงกับกรีน แลป คือขนาด 440 มิลลิลิตร ราคา 30-40 บาท แต่ตันก็ย้ำว่า “ราคาที่ผู้บริโภคจะต้องรับมากที่สุดคือ 20 บาท ซึ่งมาพร้อมกับขนาด 280-320 มิลลิลิตร”

 

ตันมองตลาดกัญชงจะเป็นเหมือน ‘ตลาดชาพร้อมดื่ม’ เมื่อ 20 ปีก่อน โดยในช่วงแรกจะมีแบรนด์จำนวนมากอยากเข้ามาเป็นเรื่องปกติ แต่สุดท้ายแล้วก็จะเหลือไม่กี่แบรนด์ อย่างชาพร้อมดื่มก็เหลือในตลาดเพียง 5 แบรนด์ กับมูลค่าตลาดราว 1 หมื่นล้านบาท 

 

“สิ่งที่จะทำให้อยู่ในตลาดได้คือคุณภาพ ราคา และที่สำคัญที่สุดคือแบรนดิ้ง ใครจะทำได้ดีกว่ากัน ส่วนตัวมองการแข่งขันเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะทำให้ตลาดมีการเติบโต อย่าตกใจ นี่เป็นโอกาสทองที่ใครๆ ก็อยากเข้ามา”

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับอิชิตันนั้นนอกเหนือจากการวางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ตัวเอง ยังรับผลิตแบบ OEM อีกด้วย โดยมีกำลังการผลิตเหลือ ปัจจุบันใช้ไปเพียง 50-55% โดยตันมองว่าการรับ OEM จะไม่ขัดกัน เพราะหากทำขายเองก็ได้กำไร ผลิตให้แบรนด์อื่นก็ได้กำไร แถมเป็นกำไรแบบคงที่ด้วย ไม่เสียค่าการตลาดและไม่มีความเสี่ยงอีกด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising