×

เสียงร้องวาฬหลังค่อมแสดงโครงสร้างทางภาษาคล้ายภาษามนุษย์

โดย Mr.Vop
16.02.2025
  • LOADING...
humpback-whale-song

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาตินำโดย เอ็มมา แครอลล์ นักชีววิทยาทางทะเลและผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์วาฬจากมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ ใช้เวลานานถึง 8 ปีในการเก็บรวบรวมเสียงต่างๆ หลากหลายชนิดจากฝูงวาฬหลังค่อมในนิวแคลิโดเนีย แปซิฟิกใต้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และพบว่าเสียงเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งเสียงต่ำ เสียงสูงแหลมเล็ก เสียงคราง เสียงคลิก และเสียงประกอบอื่นๆ ที่ฟังดูเหมือนวาฬกำลังร้องเพลงนั้น มีโครงสร้างคล้ายกับภาษาของมนุษย์เป็นอย่างมาก

 

ความคล้ายคลึงอันโดดเด่นระหว่าง 2 สายพันธุ์ที่อยู่ห่างไกลมากตามสายวิวัฒนาการนี้ ท้าทายแนวคิดที่ว่าคุณสมบัติเชิงโครงสร้างภาษามีเฉพาะในมนุษย์เราเท่านั้น

 

“เสียงร้องของวาฬหลังค่อม หรือที่เราเรียกว่าเพลงวาฬ เป็นการสื่อสารที่ซับซ้อน ซึ่งเราไม่เคยพบเห็นนอกสายพันธุ์ของเรา” ดร.เจลลี เอเลน ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านโครงสร้างเพลงวาฬจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธกล่าว

 

เพลงวาฬแสดงรูปแบบการกระจายความถี่ของหน่วยเสียงที่สอดคล้องกับกฎของซิปฟ์ (Zipf’s Law) และอาจมีโครงสร้างแบบเรียกซ้ำ (Recursion) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของภาษามนุษย์ 

 

ภาษามนุษย์นั้น ยกตัวอย่างในภาษาอังกฤษ คำที่ใช้บ่อยที่สุด เช่น เดอะ (the) จะปรากฏมากกว่าคำทั่วไปที่ใช้บ่อยเป็นอันดับ 2 เช่น ออฟ (of) ประมาณ 2 เท่า และมากกว่าคำทั่วไปที่ใช้บ่อยเป็นอันดับ 3 เช่น แอนด์ (and) ถึง 3 เท่า ซึ่งลักษณะทางสถิติแบบนี้ เกิดขึ้นในเพลงวาฬเช่นเดียวกัน ทีมงานได้ทดลองแบ่งเพลงวาฬที่บางครั้งมีความยาวถึง 20 นาที ออกเป็นส่วนๆ และพบว่า เสียงต่างๆ ในเพลงวาฬมีความถี่ของการเกิดซ้ำของ ‘คำ’ ต่างๆ คล้ายคลึงภาษามนุษย์มาก

 

“การใช้ข้อมูลเชิงลึกและวิธีการจากวิธีที่ทารกมนุษย์เรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่ ช่วยให้เราค้นพบโครงสร้างที่ตรวจไม่พบก่อนหน้านี้ในเพลงวาฬ” ศ. อินบาล อาร์นอน จากมหาวิทยาลัยฮิบรูกล่าว

 

งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้และการถ่ายทอดวัฒนธรรมของสัตว์สามารถกำหนดโครงสร้างของระบบการสื่อสารขึ้นมา เราอาจพบโครงสร้างทางสถิติที่คล้ายกันแบบนี้ในทุกที่ที่มีการถ่ายทอดพฤติกรรมตามลำดับที่ซับซ้อนทางวัฒนธรรม

 

“ลูกวาฬหลังค่อมใช้วิธีการเรียนรู้ภาษาแบบเดียวกับทารกมนุษย์ สมองลูกวาฬติดตามความน่าจะเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างองค์ประกอบเสียง และใช้ค่าลดลงในความน่าจะเป็นเหล่านั้นเป็นสัญญาณในการแบ่งเพลงวาฬออกเป็นส่วนของคำ

 

“อย่างไรก็ตาม แทนที่เราจะพยายามเข้าใจโดยใส่การสื่อสารของวาฬลงใน ‘เบ้า’ ที่มีรูปร่างเป็นภาษามนุษย์ คำถามที่น่าสนใจกว่านั้น คือเหตุใดระบบการสื่อสารของ 2 สายพันธุ์ที่สุดแสนจะแตกต่างกัน คือมนุษย์และวาฬหลังค่อม จึงพัฒนาความคล้ายคลึงกันดังกล่าวขึ้นมาได้”

 

ทั้งนี้ เราต้องไม่เข้าใจผิดว่า เพลงวาฬมี ‘ความหมาย’ ในเชิงภาษา (Semantics) เพราะโครงสร้างที่ซับซ้อนของเพลงวาฬอาจเกิดจากวัตถุประสงค์อื่น ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับไวยากรณ์หรือความหมายที่มนุษย์รับรู้

 

แน่นอนว่าการค้นพบนี้จะเปิดประเด็นใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของภาษาและความสามารถทางปัญญาของสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังต้องศึกษาต่อไป เพื่อหาว่าโครงสร้างเหล่านี้สะท้อนไวยากรณ์และความหมายทางภาษาได้จริงๆ หรือเป็นเพียงรูปแบบการสื่อสารที่ซับซ้อนสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะทางชีววิทยาเท่านั้น

 

ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาครั้งนี้ลงในวารสาร Journal Science

https://www.science.org/doi/10.1126/science.adq7055

 

ภาพ: Jason McCawley / Getty Images

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising