×

รายงาน Human Rights Watch 2561 ชี้ ไทยสอบตก คืนประชาธิปไตย ค้ามนุษย์ ปัญหาสิทธิมนุษยชน

19.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • รัฐธรรมนูญไทยฉบับชั่วคราวปี 2560 ยังคงมอบอำนาจตามมาตรา 44 แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน คสช. ให้สามารถใช้อำนาจเต็มที่โดยที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ
  • รัฐบาลยังคงปิดกั้นสื่อที่รายงานข่าววิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และสั่งให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุหลายแห่งยุติการแพร่ภาพออกอากาศและกระจายเสียงในปีที่ผ่านมา
  • ยุค คสช. เกิดกรณีบังคับสูญหายกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ  

Human Rights Watch องค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2561 โดยระบุว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สอบตกในการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับสหประชาชาติ ทั้งในเรื่องการคืนประชาธิปไตยแก่ประชาชน และการเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้รัฐบาลยังล้มเหลวในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย

 

THE STANDARD ได้สรุปประเด็นสำคัญจากรายงานสิทธิมนุษยชนฉบับล่าสุดของ Human Rights Watch ซึ่งมีการแบ่งเป็นปัญหาด้านต่างๆ ดังนี้

 

อำนาจทหารที่ไร้การตรวจสอบ

รายงาน Human Rights Watch ระบุว่า รัฐธรรมนูญไทยฉบับชั่วคราว ปี 2560 ที่ประกาศใช้ในเดือนมีนาคม ยังคงมอบอำนาจตามมาตรา 44 แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน คสช. ให้สามารถใช้อำนาจเต็มที่ตามที่เห็นจำเป็นโดยที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบหรือรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาได้ต่อไป ดังนั้น คสช. รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ม.44 ของนายกฯ และหัวหน้า คสช. จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังกำหนดให้ ส.ว. ที่มาจากการสรรหาทำการวางรากฐานให้รัฐบาลทหารสามารถปกครองประเทศได้ต่อไป แม้ว่า คสช. จะให้คำมั่นจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ก็ตาม

 

 

การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นอกเหนือจากอำนาจที่ไร้การตรวจสอบของรัฐบาลแล้ว อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รัฐบาล คสช. สอบตกคือ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยในปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงปิดกั้นสื่อที่รายงานข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และมีการสั่งให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุหลายแห่งยุติการแพร่ภาพออกอากาศและกระจายเสียง ประกอบด้วย Voice TV, Spring News Radio, Peace TV และ TV24 ในเดือนมีนาคม เมษายน สิงหาคม และพฤศจิกายนตามลำดับ

 

ถึงแม้ในภายหลังรัฐบาลจะอนุญาตให้สื่อเหล่านี้กลับมาออกอากาศได้อีกครั้ง แต่ก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องยอมเซนเซอร์เนื้อหาก่อนออกอากาศ รวมถึงหลีกเลี่ยงประเด็นการเมืองด้วย

 

ส่วนการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกกรณีอื่นๆ ที่ระบุในรายงานฉบับนี้ ประกอบด้วยกรณีการตั้งข้อหา ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ รวมถึงนักวิชาการ นักศึกษา และนักกิจกรรมอีกรวม 4 คน ฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ภายหลังจากที่พวกเขาได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่ออภิปรายถึงบทบาทของรัฐบาลทหารไทย

 

นอกจากนี้ในวันที่ 27 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ยังเกิดกรณีเจ้าหน้าที่เข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสงบในจังหวัดสงขลา และยังห้ามผู้ประท้วงยื่นหนังสือต่อ พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในจังหวัดดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีแกนนำผู้ประท้วงถูกจับกุมอย่างน้อย 16 คน

 

รายงานระบุด้วยว่า รัฐบาลทหารยังคงใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 หรือการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่วิจารณ์และต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 116 แล้วอย่างน้อย 66 คน

 

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในการดำเนินคดีนายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโส รวมถึงนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลังจากที่พวกเขาได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจไทยบนเฟซบุ๊ก

 

ขณะที่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วยังคงมอบอำนาจแก่รัฐบาลอย่างเต็มที่ในการจำกัดเสรีภาพการพูดและเดินหน้าบังคับเซนเซอร์เนื้อหาในระบบออนไลน์ต่อไป

 

สำหรับผู้ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาในยุค คสช. นั้น ล้วนถูกคัดค้านประกันตัวและถูกขังในเรือนจำเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีในระหว่างรอการพิจารณาคดีในศาล โดยนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา มีผู้ถูกจับข้อหา 112 แล้วอย่างน้อย 105 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีความผิดฐานโพสต์หรือแชร์ข้อความวิจารณ์บนระบบออนไลน์ ขณะที่บางคนถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี

 

ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยถูกศาลจังหวัดขอนแก่นตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน จากความผิดฐานแชร์บทความเรื่อง ‘พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย’ ของเว็บไซต์บีบีซีไทย บนเฟซบุ๊กส่วนตัว

 

 

ปัญหาการกักขังคนในค่ายทหารและใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือน

รายงานระบุว่า ทหารมีอำนาจภายใต้คำสั่ง คสช. ที่ 3/2559 และ 13/2560 ในการควบคุมตัวคนนานถึง 7 วันโดยที่ยังไม่ต้องตั้งข้อหา นอกจากนี้คนที่ถูกควบคุมตัวยังไม่สามารถเรียกทนายหรือได้รับการคุ้มครองจากการถูกทรมานอีกด้วย

 

รายงานระบุด้วยว่า รัฐบาล คสช. ได้กักขังผู้ต้องสงสัยหลายคนในค่ายทหาร เพื่อสอบสวนคดีการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

นอกจากนี้ยังมีกรณีเรียกสมาชิกพรรคเพื่อไทยและกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ รวมถึงบุคคลอื่นๆ มาปรับทัศนคติอีกด้วย

 

ในปี 2560 รัฐบาล คสช. ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนที่ขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกทหารอุ้ม นอกจากนี้ คสช. ยังปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทรมานผู้ที่ถูกควบคุมตัวอีกด้วย

 

รายงานระบุด้วยว่า คสช. ยังไม่ได้โอนคดีความที่ดำเนินกับพลเรือนประมาณ 1,800 คนในศาลทหารรวม 369 คดี ไปให้กับศาลพลเรือนเพื่อพิจารณาต่อ แม้ว่าจะมีการยกเลิกการใช้ศาลทหารในคดีพลเรือนแล้วก็ตาม

 

 

ปัญหาการบังคับสูญหาย

นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) พบว่า มีการบังคับสูญหายของบุคคลรวม 82 กรณีที่เกิดขึ้นในไทย

 

ส่วนในยุค คสช. ได้เกิดกรณีการบังคับสูญหายกับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีรายงานข่าวยืนยันในภายหลังว่าโกตี๋ได้เสียชีวิตลงแล้ว

 

นอกจากนี้ตำรวจยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามคดีการหายสาบสูญของนายเด่น คำแหล้ แกนนำต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน โดยเขาหายตัวไปใกล้กับบ้านพักในจังหวัดชัยภูมิเมื่อเดือนเมษายนปี 2559  

 

ทั้งนี้ไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายในเดือนมกราคมปี 2555 แต่ยังไม่มีผลผูกพันกับรัฐบาล เนื่องจากยังไม่มีการให้สัตยาบันรับรองในขั้นตอนสุดท้าย

 

ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญายังไม่มีการบัญญัติให้กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาแต่อย่างใด  

 

 

ความล้มเหลวในการหาตัวผู้รับผิดชอบจากเหตุปะทะทางการเมือง

รายงานระบุว่า ถึงแม้มีหลักฐานบ่งชัดว่าทหารเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของสมาชิก นปช. หรือกลุ่มเสื้อแดงหลายคนจากเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีทหารหรือเจ้าหน้าที่คนใดจากรัฐบาลในยุคของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกตั้งข้อหาฆ่าหรือทำร้ายร่างกายพลเรือนจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ตรงกันข้าม แกนนำเสื้อแดงและผู้สนับสนุนหลายคนกลับถูกตั้งข้อหาร้ายแรงฐานชุมนุมประท้วงกลางถนนในปี 2553

 

ในเดือนสิงหาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินยกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนอื่นๆ จากคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรในเดือนตุลาคมปี 2551 หลังถูกยื่นฟ้องโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บกว่า 400 คน

 

ความล้มเหลวในการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน

Human Rights Watch ระบุว่า ปัญหาการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวภาคสังคมอื่นๆ ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีนักเคลื่อนไหวที่เสียชีวิตแล้วกว่า 30 คน

 

รัฐบาลไทยล้มเหลวในการทำตามคำมั่นว่าจะออกมาตรการเพื่อปกป้องนักสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น ขณะที่หน่วยงานไทย รวมถึงบริษัทเอกชนบางรายยังคงใช้วิธีการฟ้องร้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกับนักสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นการตอบโต้

 

ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547 กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional – BRN) ได้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ 90% ของประชาชน 6,800 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งล้วนเป็นพลเรือนธรรมดา

 

ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว กลุ่ม BRN ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเครือข่ายกลุ่มมารา ปัตตานี นอกจากนี้ BRN ยังตอบโต้ด้วยความรุนแรงโดยอ้างว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงไทยได้ปราบปรามอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยในเดือนพฤษภาคม คนร้ายได้ลอบวางระเบิด 2 ลูกที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในจังหวัดปัตตานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 61 คน

 

นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่จากกรณีฆ่าและทรมานกลุ่มชาติพันธุ์มาเลย์มุสลิม โดยในหลายๆ กรณี ทางการไทยได้ขอจ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อหรือครอบครัวเพื่อแลกกับการไม่ให้สืบสาวราวเรื่อง

 

ปัญหาการจัดการกับแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัย

ไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยฉบับปี 2494 ดังนั้นไทยจึงถือว่ากลุ่มผู้หนีภัยที่สหประชาติประกาศรับรองให้เป็นผู้ลี้ภัยนั้นเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องจับกุมและผลักดันออกนอกประเทศ

ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้ส่งตัว นายมูฮัมเหม็ต ฟูร์กาน ซ็อกเมน ไปให้กับทางการตุรกีตามคำร้องขอ หลังจากที่เขาต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อรัฐประหาร นำโดย เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน ซึ่งการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาลไทยครั้งนั้นได้สร้างความกังวลแก่สหประชาชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากนายซ็อกเมนอาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเมื่อเดินทางถึงตุรกี

 

นอกจากนี้ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้สั่งการให้ผลักดันเรือผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาออกจากน่านน้ำไทย ซึ่งสร้างความวิตกแก่นานาชาติเช่นกัน และทำให้วิกฤตการณ์ผู้อพยพชาวโรฮีนจาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น  

 

ส่วนปัญหาแรงงานข้ามชาติก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขเช่นกัน โดยแรงงานจากเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ต่างก็เผชิญความเสี่ยงกับการที่ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย ละเมิดสิทธิแรงงาน และแสวงหาประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง

 

นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังประสบความล้มเหลวในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย โดยในหลายๆ กรณี ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยเกิดจากความร่วมมือระหว่างเครือข่ายค้ามนุษย์กับเจ้าหน้าที่ที่คอร์รัปชัน

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising