นักประวัติศาสตร์การแพทย์ที่ศึกษาเรื่อง ‘ความบ้า’ (Madness) อย่าง รอย พอร์เตอร์ (Roy Porter) เคยเขียนเอาไว้ใน A Social History of Madness ว่า
ประวัติศาสตร์ของความบ้า ก็คือประวัติศาสตร์ของอำนาจ เพราะเมื่อจินตนาการถึงอำนาจขึ้นมาแล้ว ความบ้าก็เป็นได้ทั้งไร้สมรรถภาพใดๆ โดยสิ้นเชิง หรือไม่ก็อาจทรงพลังครอบจักรวาลได้ เราต้องใช้อำนาจเพื่อควบคุมความบ้า ความบ้านั้นคุกคามโครงสร้างอำนาจแบบปกติ ความบ้าคือการพล่ามพูดไม่หยุดหย่อนอย่างไร้ที่สิ้นสุด บ่อยครั้งเป็นการพูดคนเดียวอย่างคลั่งไคล้ถึงอำนาจ
ถ้ามองแบบรอย พอร์เตอร์ ความบ้าและอำนาจคือของที่มักจะมาคู่กันเสมอ
กับเรื่องนี้ เดวิด โอเวน (David Owen) ที่เป็นนักการเมืองรุ่นเก๋าชาวอังกฤษ ผู้ลาออกจากพรรคแรงงานเพื่อมาก่อตั้งพรรค Social Democratic (SDP) และเป็นแพทย์กับนักวิชาการที่ศึกษาด้านจิตวิทยาด้วย เรียกอาการ ‘โอหัง’ เมื่อเกิดความ ‘บ้าอำนาจ’ ขึ้นมาว่าเป็น ‘โรค’ อย่างหนึ่ง คือ Hubris Syndrome ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็อาจแปลได้ง่ายๆ ว่า ‘โรคโอหัง’
โอเวนบอกว่า โรคโอหังเกี่ยวพันกับอำนาจโดยตรง มันมักจะปรากฏขึ้นมาเมื่อคนคนหนึ่งอยู่ในอำนาจหรือได้บริหารอำนาจเป็นเวลานาน ยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคโอหังมากขึ้นเท่านั้น
แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกคน เพราะคนที่รักษาความถ่อมตัว เปิดกว้างต่อคำวิจารณ์ หรือมีอารมณ์ขัน จะไม่ค่อยมีอาการของโรคโอหังที่ว่านี้ โดยโอเวนบอกว่า ตัวอย่างของผู้นำที่เป็นโรคนี้มีอาทิ เดวิด ลอยด์ จอร์จ (นายกรัฐมนตรีของอังกฤษยุคต้นศตวรรษที่ 20), มาร์กาเร็ต แทตเชอร์, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และโทนี แบลร์ (บทความที่เขาเขียนถึงเรื่อง Hubris Syndrome เกิดก่อนหน้าที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นสู่อำนาจ ไม่อย่างนั้นเดาว่าเขาต้องใส่ชื่อทรัมป์เข้าไปด้วยแน่ๆ)
คำว่า Hubris Syndrome นั้น ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นศัพท์ทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการพูดถึงและศึกษาโดยนักจิตวิทยามากมายในโลกนะครับ โดยส่วนใหญ่มองว่า โรคโอหังนี้เป็นความผิดปกติที่เกิดกับผู้นำ เรียกว่า Leadership Personality Disorder คือพอเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากๆ เข้า ก็จะเกิดความผิดปกติทางจิตข้ึนมาโดยไม่รู้ตัว
ตัวอย่างเช่น เวลาคนจะขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ตัวเองหลายอย่างใช่ไหมครับ เช่นว่าผู้นำต้องมีความเข้มแข็ง เด็ดขาด แต่ก็ต้องไม่ก้าวร้าว ผู้นำมักจะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน ช่างสังเกต และเข้าอกเข้าใจคนอื่น พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้นำย่อมเป็นคนที่มี ‘คุณสมบัติดีๆ’ อย่างที่ ‘อภิมนุษย์’ พึงเป็น จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้นำ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดนะครับ เช่น อาจได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในสายงานก็ได้)
แต่ที่น่าสนใจก็คือ โอเวนพบว่า เมื่อมีอำนาจขึ้นมาระยะหนึ่ง หลายคนกลับสูญเสียความสามารถในความเป็น ‘ผู้นำ’ เหล่านี้ไป โดยเกิดพฤติกรรมโอหัง (Hubristic Behaviour) ขึ้นมา โดยโอเวนระบุอาการทางคลินิก (Clinical Features) ของโรคโอหังเอาไว้ 14 ประการด้วยกัน เช่น ชอบเหยียดหยามคนอื่นว่าโง่กว่าตัวเอง สูญเสียความสามารถในการมองเห็นความเป็นจริง ขยันทำงานไม่หยุดหย่อน แต่ผลงานที่ออกมาไร้ประสิทธิภาพและสมรรถภาพ ฯลฯ
เขายังบอกด้วยว่า มีความผิดปกติทางจิตอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ถือว่าเกี่ยวเนื่องหรือเป็น ‘โรคโอหัง’ ในระดับ (Continuum) ต่างๆ เช่น อาการที่เรียกว่า ADHD หรือ Adult Attention Deficit Hyperactivity Disorder ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดในเด็ก พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะหายไป แต่พวกที่เป็นผู้มีอำนาจและเป็นโรคโอหัง อาการทำนองนี้จะกลับมา
นักพฤติกรรมศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมของพวกผู้นำเหล่านี้ ขนานนามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า Power Paradox หรือ ‘ปฏิทรรศน์แห่งอำนาจ’ คือเมื่อเรามีอำนาจขึ้นมาแล้ว เรากลับสูญเสียความสามารถที่จำเป็นในการขึ้นสู่อำนาจไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกผู้นำที่เป็นโรคโอหังคลั่งอำนาจ มักจะสูญเสียสิ่งที่เรียกว่า Empathy ในมนุษย์คนอื่นไป
คำถามก็คือ – ทำไมพวกผู้นำถึงเป็นแบบนี้กัน
Empathy เป็นเรื่องที่เกิดจาก ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่เรามีกับคนอื่นๆ นะครับ เช่น ถ้าคุณเห็นคนถูกตีหัว บางทีคุณจะหยีตา หรือกระทั่งยกมือขึ้นคลำศีรษะด้วยซ้ำไป เพราะคุณรู้สึก ‘เจ็บแทน’ หรือเวลาคุณเห็นคนกินของเปรี้ยวแล้วน้ำลายไหล ทั้งที่บางทีภาพการกินของเปรี้ยวนั้นอยู่ในทีวี คุณไม่ได้กลิ่นของเหล่านั้นด้วยซ้ำ
ความรู้สึกร่วมพวกนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่นักประสาทวิทยาเรียกว่า Mirroring คือเหมือนกับตัวคุณเป็น ‘กระจก’ ส่องสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ภายใน มันคือการที่สมองของคุณเกิดการ ‘เลียนแบบ’ พฤติกรรมต่างๆ ของคนอื่น โดยตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ คือเซลล์ประสาทที่เรียกว่า ‘เซลล์ประสาทกระจก’ (Mirror Neurons) เมื่อเรารับรู้อะไรบางอย่างขึ้น มันจะจำลองการตอบสนองแบบเดียวกันขึ้นในหัวของเรา ทำให้เราเกิด ‘ความรู้สึกร่วม’ กับมนุษย์คนอื่น
แต่นักประสาทวิทยาค้นพบว่า ‘อำนาจ’ นั้น มีโอกาสทำให้กระบวนการ Mirorring หรือเซลล์ประสาทกระจกในตัวคนที่เป็นผู้ครอบครองอำนาจเสียไปได้
นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ชื่อ ดาเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) ได้ศึกษาพฤติกรรมของคนจำนวนมากเป็นเวลานานราวสองทศวรรษ โดยเปรียบเทียบคนที่ ‘ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจ’ (Under the Influence of Power) กับคนทั่วไป เขาพบว่าคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจนั้น จะมีพฤติกรรมในการแสดงออกต่างๆ เหมือนกับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองร้ายแรงในระดับ Traumatic Injury
ลักษณะสำคัญของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจ คือมักจะหุนหันพลันแล่นมากขึ้น ตระหนักถึง ‘ความเสี่ยง’ ต่างๆ น้อยลง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ จะมีความสามารถในการมองโลกจากมุมมองของคนอื่นๆ น้อยลงอย่างมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก และเข้าใจคนอื่นน้อยลง
การศึกษาของเคลต์เนอร์ ได้รับการยืนยันด้วยการศึกษาของนักประสาทวิทยาชื่อ ซุควินเดอร์ โอบิ (Sukhvinder Obhi) แห่งมหาวิทยาลัย McMaster ในออนแทรีโอ ซึ่งแม้จะศึกษาเรื่องเดียวกันกับเคลต์เนอร์ ทว่ามีจุดเน้นต่างกัน คือเป็นการดูการทำงานของสมอง ว่าสมองของคนที่มีอำนาจและคนที่ไม่มีอำนาจนั้น เมื่อถูกกระตุ้นแล้วจะทำงานต่างกันอย่างไร
โอบิพบว่า ตัว ‘อำนาจ’ นั้น มันไปทำลายกระบวนการกระจก (Mirorring) ที่ว่าไปข้างต้น ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิด Empathy ขึ้นมา และเชื่อว่าเป็นกระบวนการทางสมองที่ทำให้มนุษย์ (และสัตว์ประเภท ‘สัตว์ฝูง’ อื่นๆ) มีพัฒนาการร่วมทางสังคม ทำให้เราดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะความรู้สึกร่วมทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมา โดยเซลล์ประสาทกระจกนั้นพบได้ในพื้นที่สมองหลายบริเวณ เรียกว่าเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งสมองเลยก็ว่าได้ แต่ในคนที่มีอำนาจ (หรือคิดว่าตัวเองมีอำนาจ) กระบวนการทำงานของสมองแบบนี้จะลดน้อยลง ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกร่วมกับคนอื่น เข้าใจคนอื่นได้น้อยลง และดังนั้นจึงนำพาคนที่อยู่ใต้อำนาจของตัวเองเข้าสู่ ‘ความเสี่ยง’ มากขึ้นเรื่อยๆ
การทดลองที่แสดงให้เห็นว่าคนมีอำนาจสูญเสียความเข้าใจในคนอื่นยังมีอีกหลายการทดลองนะครับ เช่น ให้คนมีอำนาจกับไร้อำนาจดูภาพคนอื่น แล้วประเมินความรู้สึกของคนในภาพออกมา ปรากฏว่าคนที่มีอำนาจจะประเมินความรู้สึกของคนในภาพผิดมากกว่าคนที่ไร้อำนาจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนที่มีอำนาจเข้าใจคนอื่นน้อยกว่าคนที่ด้อยอำนาจ
เขาบอกว่า ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่คนไร้อำนาจมีเหมือนๆ กัน และถ่ายทอดถ่ายเทระหว่างกันผ่านการทำงานของเซลล์ประสาทกระจกนั้น ทำให้คนทั่วๆ เกิดการ ‘เลียนแบบ’ (mimicking) กันและกันได้ คนทั่วไปจะหัวเราะไปกับเสียงหัวเราะของคนอื่น ร้องไห้ไปกับเรื่องเศร้าของคนอื่น เจ็บปวดไปกับเรื่องเจ็บปวดของคนอื่น เพราะเซลล์ประสาทกระจกจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเดียวกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – มันเตือนให้เรารู้สึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ระหว่างกัน
แต่ผู้มีอำนาจหรือคิดว่าตัวเองมีอำนาจมักสูญเสียความสามารถนี้ไป คนเหล่านี้มักจะไม่หัวเราะกับเรื่องขำขันของคนอื่น ไม่ร้องไห้ไปกับเรื่องเศร้าของคนอื่น เพราะการรับรู้ความรู้สึกที่ว่าเสียไปแล้ว ผู้นำที่คลั่งอำนาจหรือเป็นเผด็จการส่วนใหญ่จึงมักมีพฤติกรรม ความคิด และความเชื่อที่ไม่เหมือนคนทั่วไป ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า Empathy Deficit ขึ้น
มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Finance ชื่อ What Doesn’t Kill You Will Only Make You More Risk-Loving: Early-Life Disasters and CEO Behavior เป็นการศึกษาซีอีโอของบริษัทต่างๆ พบว่าซีอีโอที่ในวัยเด็กเคยผ่านพบกับภัยธรรมชาติแบบโหดๆ ถึงขนาดที่มีคนตายจำนวนมาก (หรือมีคนใกล้ตัวตาย) เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ทอร์นาโด ฯลฯ เมื่อได้เป็นซีอีโอแล้ว จะมีการทำงานในแบบที่พาบริษัทไปเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ‘น้อย’ กว่าซีอีโอที่ไม่เคยผ่านพบประสบการณ์เหล่านี้ (เรียกว่ามีความเป็น Risk-Seekers น้อยกว่า)
แต่ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ ซีอีโอที่ตอนเด็กๆ เคยเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติใหญ่ๆ แต่เป็นภัยที่ไม่ได้มีคนใกล้ตัวตาย หรือมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก กลับมีแนวโน้มทำงานแบบพาบริษัทไปเสี่ยงหรือเป็น Risk-Seekers มากที่สุด
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่เคยเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายจริงๆ ถึงระดับความเป็นความตาย จะไม่ค่อยอยากพาคนอื่นไปเสี่ยงหรือไปตายด้วย เพราะมีฐานแห่ง ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่ทำให้เกิด Empathy อยู่ลึกๆ ภายใน แต่คนที่นึกว่าตัวเองเก่ง นึกว่าตัวเองเคยเสี่ยงภัยมาแล้ว แต่ไม่ได้เผชิญหน้ากับความเป็นความตายที่แท้จริง จะมีแนวโน้มพาความเสี่ยงมาสู่กลุ่มคนที่อยู่ใต้อำนาจของตัวเองได้มากกว่า
ที่จริงแล้ว เดวิด โอเวน เอง ก็ยอมรับนะครับว่าตัวเขามีอาการของโรคโอหังนี้ด้วย โดยเขาบอกว่า โรคโอหังมีได้หลายแบบ ทั้งแบบเป็นมากเป็นน้อย ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว บางคนก็มีลักษณะอื่นๆ ร่วมด้วย (เช่น มีอารมณ์ขัน) ทำให้อาการโอหังลดน้อยลง แต่ปัญหาของโรคโอหังก็คือ ผู้นำพวกนี้จะไม่มีความสามารถในการมองเห็น ‘โลกจริง’ ได้ จึงอาจนำพาสังคม ธุรกิจ กิจการ หรือองค์กรที่ตัวเองเป็นหัวหน้า ไปสู่หายนะได้
โอเวนบอกว่า ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย (ซึ่งไม่ได้หมายถึงสังคมการเมืองอย่างเดียวนะครับ องค์กรธุรกิจหรือแม้แต่ครอบครัวก็มีความเป็นประชาธิปไตยได้) จะพัฒนาระบบตรวจสอบแบบ Check and Balance ขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจ จะได้ปกป้องสังคมจากผู้นำที่มีปัญหาแบบนี้ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลนี้ จะทำให้อำนาจไม่ตกไปอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ซึ่งจะมีโอกาสทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตขึ้นมาได้
นั่นเป็นวิธีป้องกันในระดับภาพใหญ่ ส่วนในระดับปัจเจก เราป้องกันโรคโอหังที่อาจเกิดกับตัวเองได้ด้วยการฝึกตัวเองให้มี Empathy ด้วยวิธีต่างๆ เช่น พยายาม ‘ฟัง’ และทำความเข้าใจคนอื่น รู้จักขอโทษ รวมไปถึงการฝึกความรู้สึกสำนึกบุญคุณคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจน้อยกว่าเรามากๆ ซึ่งฟังดูเหมือนคำสอนของครูอนุบาล แต่แท้จริงแล้ว สมองของคนที่ป่วยเป็นโรคโอหังคลั่งอำนาจ ก็ต้องการการ ‘ฝึก’ แบบเด็กอนุบาลด้วยเหมือนกัน เพราะการฝึกเหล่านี้จะทำให้กระบวนการ Mirroring ในสมองกลับมาทำงานได้ดีขึ้น
ย้อนกลับไปที่รอย พอร์เตอร์ อีกครั้ง
เราจะพบว่า – ประวัติศาสตร์โลกแทบทั้งหมดล้วนคือประวัติศาสตร์ของผู้นำ หรือคือประวัติศาสตร์ของ ‘อำนาจ’ ทั้งสิ้น
ดังนั้น ถ้าผู้นำมีความ ‘บ้า’ ของโรคโอหังอยู่ในตัว คำพูดของ รอย พอร์เตอร์ ก็ถูกต้องทีเดียว
เพราะประวัติศาสตร์ของอำนาจ อาจกลายเป็นประวัติศาสตร์ของความบ้าขึ้นมาได้ทุกเมื่อ
หมายเหตุ: บางส่วนของบทความนี้ดัดแปลงจากบทความเก่าของผู้เขียน (ดูได้จาก tomorn.co/2017/07/09/hubris-syndrome)
ภาพประกอบ: Pichamon W.
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์