×

จะบีบลูกน้องที่ไม่มีใจจะทำงานให้ลาออกได้อย่างไรดีครับ

12.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ถ้าตัวงานไม่ท้าทาย ไม่สนุก หัวหน้าน่าจะลองหาวิธีการทำงานแบบใหม่ให้ลูกน้องรู้สึกว่าต้องใช้ความสามารถมากขึ้น มีอะไรให้เรียนรู้มากขึ้น พร้อมกับมีรางวัลบางอย่างเป็นแรงจูงใจ ทำให้เขาอาจจะอยากทำงานมากขึ้น หรือถ้างานหนักและยากขึ้น ก็เป็นไปได้ครับที่เขาจะพิจารณาตัวเอง เพราะจะอยู่ต่อความสามารถก็ไม่ถึง
  • สิ่งที่ผมไม่อยากแนะนำให้ทำเลยคือการใช้วิธีการบีบให้ออกด้วยการไม่ป้อนงานให้ และให้ลูกน้องรู้สึกเองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการนี้เท่าไร เพราะบางคนก็อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าองค์กรไม่ให้คุณค่าเขาแล้ว ทำหน้าทนไว้หน่อยก็ไม่เป็นไรนี่ เดี๋ยวก็ได้เงินเดือนอยู่ดี ขณะเดียวกัน ถ้าเราทำให้คนนี้ไม่มีงานทำ แปลว่าเราต้องเอางานของคนนี้ไปให้คนอื่นทำมากขึ้น ลูกน้องคนอื่นก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมที่ความขี้เกียจของคนหนึ่งกลายมาเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของคนอื่นไปด้วย
  • ผมอยากชวนให้คุณกับลูกน้องได้เปิดใจคุยกันดีๆ ต้องมีข้อตกลงร่วมกันในการประเมินผลงานที่ทั้งหัวหน้าและลูกน้องวางไว้ด้วยกัน ซึ่งถ้าเขาทำไม่ได้ตามที่ว่าก็ต้องหาทางออกร่วมกันอีกที ที่สำคัญ เราลองฟังเขาดีไหมครับว่าเขามองผลงานตัวเองเป็นอย่างไร เขามองตัวเองในที่ทำงานเป็นอย่างไร เราอาจจะพบว่าเขามีปัญหาอะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ อย่าเพิ่งปักธงว่าเขาไม่ดีไปหมด ไปจนถึงจะได้รู้ด้วยว่าเขาอยากให้หัวหน้าทำอย่างไร

Q: จะทำอย่างไรให้ลูกน้องที่ดูเหมือนไม่มีกะจิตกะใจอยากจะทำงาน วันๆ มาทำงานก็เฉื่อยชา ลาออกไปเสียทีครับ ถ้ามาทำงานแล้วเหมือนไม่อยากมาก็น่าจะออกๆ ไปได้แล้ว เปลืองที่ จะเอาออกก็ไม่ได้ จะมีวิธีบีบเขาอย่างไรให้ลาออกกันไปเองครับ จะได้หาลูกน้องใหม่ที่ตั้งใจทำงานมากกว่าเดิมได้

 

A: เป็นคำถามที่ดุเดือดน่าดู สัมผัสได้ถึงความคับข้องใจถึงขั้นสุด ไม่อย่างนั้นคงไม่ปักธงมาแล้วว่าจะแก้ปัญหาด้วยการบีบให้ลูกน้องลาออกเอง ใจเย็นๆ ค่อยๆ ตั้งหลักกันก่อนครับ

 

ผมเข้าใจว่าการที่องค์กรยังคงเก็บคนที่ไม่ขยันหรือคนที่ไม่พัฒนาตัวเองไว้จะเป็นปัญหาอย่างไรบ้าง ความน่ากลัวก็คือ ถ้าองค์กรไม่ทำอะไรสักอย่างกับคนที่ไม่ยอมทำงาน พนักงานคนอื่นๆ จะเสื่อมศรัทธาองค์กร และเผลอๆ จะรู้สึกว่าทำไมเราต้องมาทำอะไรเยอะแยะ ในเมื่อคนขี้เกียจยังอยู่ได้อย่างปลอดภัย กลายเป็นว่าคนขยันก็จะกลายเป็นคนขี้เกียจไปด้วยเหมือนกัน เป็นเหมือนโดมิโน ยิ่งถ้าคนขยันเห็นแล้วว่าองค์กรก็ยังคงเก็บคนขี้เกียจไว้ให้กินแรงคนอื่น เขาก็อาจจะรู้สึกว่าองค์กรนี้ไม่ได้ให้คุณค่าคนที่ผลงาน เขาก็อาจจะพิจารณาการลาออกก็ได้ เพราะเขารู้สึกไม่ภูมิใจในองค์กรที่ตัวเองทำ หรือเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าคุณค่าที่ตัวเองทำในงานจะมีคนเห็นไหม คนขยันก็จะลาออก ส่วนคนขี้เกียจก็ยังอยู่

 

เอาว่าตรงจุดนี้เราคงเห็นตรงกันนะครับว่า องค์กรต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ปล่อยไว้ไม่ได้!

 

อยากชวนคุยแบบนี้ครับว่า ถ้าปัญหาจริงๆ มันคือการที่ลูกน้องไม่มีใจจะทำงาน ผมคิดว่าเราน่ามาสำรวจนะครับว่าทำไมเขาถึงไม่อยากทำงาน ลองกลับมามองที่งานที่เราให้เขาทำก่อน เป็นไปได้ไหมครับว่า หรืองานมันไม่น่าทำ มันไม่ท้าทาย มันไม่ได้ต้องใช้ความสามารถอะไรมากมาย ทำทุกอย่างเหมือนเดิม เดาได้หมด ความอยากทำก็เลยไม่มี แต่จะให้ลาออกก็อาจจะติดสบาย เพราะอยู่ตรงนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรมากมาย เงินเดือนก็ได้ดีแบบนี้เข้าทางคนขี้เกียจอยู่แล้วทันทีครับ

 

ถ้าตัวงานไม่ท้าทาย ไม่สนุก หัวหน้าน่าจะลองหาวิธีการทำงานแบบใหม่ให้ลูกน้องรู้สึกว่าต้องใช้ความสามารถมากขึ้น มีอะไรให้เรียนรู้มากขึ้น พร้อมกับมีรางวัลบางอย่างเป็นแรงจูงใจ อาจจะเป็นรูปแบบของความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ได้นะครับ พอเราทำให้งานไม่น่าเบื่อและมีเป้าหมายที่ชัดเจนให้เขาเห็นแล้ว ก็เป็นไปได้ครับว่า เขาอาจจะอยากทำงานมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ถ้าบังเอิญลูกน้องเป็นคนไม่อยากทำงานหนัก พอพบว่างานตำแหน่งเดิมยากขึ้น ท้าทายขึ้น และไม่สามารถทำงานนั้นได้สำเร็จเอง ก็เป็นไปได้ครับที่เขาจะพิจารณาตัวเอง เพราะจะอยู่ต่อความสามารถก็ไม่ถึง

 

สิ่งที่ผมไม่อยากแนะนำให้ทำเลยคือการใช้วิธีการบีบให้ออกด้วยการไม่ป้อนงานให้ และให้ลูกน้องรู้สึกเองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งเป็นวิธีที่บางคนใช้จริง ผมยอมรับนะครับว่าวิธีนี้ก็อาจจะได้ผล แต่โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการนี้เท่าไร เพราะบางคนก็อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าองค์กรไม่ให้คุณค่าเขาแล้ว ทำหน้าทนไว้หน่อยก็ไม่เป็นไรนี่ เดี๋ยวก็ได้เงินเดือนอยู่ดี ขณะเดียวกัน ถ้าเราทำให้คนนี้ไม่มีงานทำ แปลว่าเราต้องเอางานของคนนี้ไปให้คนอื่นทำมากขึ้น ลูกน้องคนอื่นก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมที่ความขี้เกียจของคนหนึ่งกลายมาเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของคนอื่นไปด้วย แถมเราไม่ให้เขาทำงาน แต่เขายังคงได้เงินเดือนอยู่เหมือนเดิม ผมว่ามันดูประหลาด อีกอย่างคือองค์กรดีๆ ที่ไหนกันที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า

 

ผมอยากชวนให้คุณกับลูกน้องได้เปิดใจคุยกันดีๆ อยากให้เขาขยันขึ้นก็ต้องบอกเขา พร้อมกับมีอะไรจูงใจให้เขาอยากทำแบบนั้น ต้องมีข้อตกลงร่วมกันในการประเมินผลงานที่ทั้งหัวหน้าและลูกน้องวางไว้ด้วยกัน ซึ่งถ้าเขาทำไม่ได้ตามที่ว่าก็ต้องหาทางออกร่วมกันอีกที แต่ถ้าเขาทำได้ก็เป็นสัญญาณที่ดีก็ต้องชื่นชมและให้รางวัลเขา อาจจะเพิ่มความท้าทายเข้าไปอีก ที่สำคัญ เราลองฟังเขาดีไหมครับว่าเขามองผลงานตัวเองเป็นอย่างไร เขามองตัวเองในที่ทำงานเป็นอย่างไร เราอาจจะพบว่าเขามีปัญหาอะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ อย่าเพิ่งปักธงว่าเขาไม่ดีไปหมด ไปจนถึงจะได้รู้ด้วยว่าเขาอยากให้หัวหน้าทำอย่างไร

 

สุดท้าย ผมคิดว่าพอเรามีการประเมินผลที่ชัดเจนทั้งหัวหน้าประเมินลูกน้อง ลูกน้องประเมินตัวเอง และเพื่อนร่วมงานประเมินกันเอง ไปจนถึงลูกค้าประเมินพนักงาน การประเมินรอบด้านแบบนี้จะทำให้ได้ผลการประเมินที่ไม่ลำเอียง ไม่ดูเหมือนหัวหน้ากลั่นแกล้ง เพราะคนรอบตัวเป็นกระจกสะท้อนหมดว่าลูกน้องเป็นอย่างไร พอเราเอาทั้งหมดนี้มาประมวล เราจะเห็นชัดเจนว่าลูกน้องคนไหนควรได้รับการพัฒนาอย่างไร คนไหนควรส่งเสริม คนไหนกำลังเป็นจุดอ่อนขององค์กรที่เราต้องเข้าไปจัดการ แล้วเอาผลการประเมินนี้ไปคุยกับลูกน้องโดยตรง ผมคิดว่าถึงตอนนั้น ผลงานจะเป็นตัวบอกเองครับว่าคนไหนจะได้ไปต่อ เห็นไหมครับว่าเราไม่ต้องใช้วิธีการเมืองบีบให้เขาออกเลย เราคุยกันด้วยผลงานล้วนๆ แฟร์กันเห็นๆ

 

ไม่เฉพาะลูกน้องคนนี้ แต่สิ่งที่ผมอยากชวนให้คุณมองไกลกว่านั้นคือ คุณน่าจะลองสำรวจสังคมในที่ทำงานว่าเป็นไปได้ไหมครับ ลองคิดดูนะครับว่าถ้าสังคมในที่ทำงานเราเต็มไปด้วยคนขยันเป็นส่วนใหญ่ ทุกคนกระตือรือร้นในการทำงาน ถ้าเราดันเป็นคนไม่ขยัน เฉื่อยชา เราจะรู้สึกกดดันจากคนรอบตัวเองว่าเขาขยันกันหมดเลย เราจะอายจังเลยถ้าเราต้องเป็นคนทำตัวไม่มีค่าคนเดียวในออฟฟิศ แต่การที่ลูกน้องคุณยังอยู่ได้และอยู่ดีด้วย เป็นไปได้ว่าสังคมในออฟฟิศคุณก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับความไม่กระตือรือร้นของคนทำงานด้วยกัน อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ทำงานคุณก็เป็นคนขี้เกียจแบบนั้นเลยยอมรับการกระทำของลูกน้องได้ หรือไม่ได้มีตัวอย่างที่ดีให้เห็น ไปจนถึงคนในที่ทำงานอาจจะเอือมจนไม่รู้จะพูดอะไรแล้วก็ได้ ถ้าองค์กรมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คนขี้เกียจอยู่ได้อยู่ดีอยู่ยงคงกระพัน องค์กรนั้นไม่ปลอดภัยแล้วล่ะครับ

 

ถึงบอกครับว่าบางครั้งการมีคนขี้เกียจไม่ใช่ปัญหาเฉพาะบุคคล แต่อาจเป็นปัญหาที่มาจากองค์กรที่บ่มเพาะให้คนขี้เกียจสามารถเติบโต อยู่รอด และสืบทอดทายาทอสูรได้เรื่อยๆ ก็ได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเราสร้างองค์กรให้เป็นแหล่งบ่มเพาะคนเก่ง คนขยัน มีระบบการทำงานที่สร้างให้คนแบบนี้เจริญเติบโต องค์กรก็จะดึงดูดแต่คนแบบนี้เข้ามา เดี๋ยวคนไหนเป็นข้อใดไม่เข้าพวก เขาก็จะอยู่ไม่รอดเองครับ

 

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X