×

ดูแลสุขภาพการเงินอย่างไรในยุคโควิด-19 เมื่อต้อง Work from Home รายได้หด รายจ่ายเพิ่ม

09.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • การทำงานอยู่บ้านหรือ Work from Home นั้น ข้อดีคือมี ‘รายจ่ายบางอย่างที่หายไป’ เช่น ค่าเดินทาง ค่ากาแฟ ค่ากินเลี้ยงสังสรรค์หลังเลิกงาน และเงินที่เตรียมไว้ไปเที่ยวช่วงวันหยุด ซึ่งรายจ่ายที่หายไปเหล่านี้จะช่วยแบ่งเบาภาระไปได้บางส่วน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจจะมี ‘รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น’ เช่น ค่าไฟ ซึ่งหลังจากหนึ่งเดือนผ่านไป เราก็จะพอรู้ว่าค่าไฟเวลาที่เราอยู่บ้านทั้งวันราคาเท่าไร และหากสูงขึ้นอย่างมากก็จะสามารถหาวิธีลดการใช้ไฟต่อไป
  • เทคนิคหนึ่งที่สายช้อปออนไลน์ต้องท่องจำให้ขึ้นใจคือการเลือกของที่อยากได้ใส่ตะกร้าเอาไว้ก่อนในเวลากลางคืนแล้วค่อยมาส่งคำสั่งซื้อตอนเช้า ซึ่งจะช่วยทำให้เราตัดสินใจซื้อของได้อย่างมีสติมากขึ้น ส่วนใครที่กลัวว่าจะพลาด ไม่ได้ซื้อของที่อยากได้ ก็ให้วางแผนล่วงหน้าและตั้งงบประมาณที่จะใช้เอาไว้ก่อน
  • ในวิชาการเงินส่วนบุคคล เรามักจะแนะนำให้ออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอยู่ที่ 3-6 เดือนของค่าใช้จ่าย เช่น ถ้าใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท ก็ออมได้ตั้งแต่ 30,000-60,000 บาท แล้วถ้าไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินก็อย่าไปหยิบมาใช้ ซึ่งสาเหตุที่ใช้เลข 3-6 เดือนก็เพราะว่าหากตกงานหรือประสบอุบัติเหตุ โดยเฉลี่ยก็จะใช้เวลาในการหางานใหม่หรือฟื้นฟูจนกลับไปทำงานได้ภายในช่วงเวลานั้น

ณ เวลานี้ ชีวิตของหลายๆ คนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันไม่มากก็น้อย หลายคนมีรายได้ลดลงและต้องใช้ชีวิตในบ้านเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน เราลองมาสำรวจกันหน่อยว่าจะมีเทคนิคการจัดการเงินอย่างไร และหลังจากเหตุการณ์นี้เราสามารถวางแผนการเงินยามฉุกเฉินกันอย่างไร

 

สิ่งแรกที่ต้องทำคือเริ่มจากการสำรวจค่าใช้จ่ายกันก่อน 

 

สำรวจค่าใช้จ่ายในวันที่ต้อง WFH ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น ลดการช้อปปิ้งออนไลน์

การทำงานอยู่บ้านหรือ Work from Home นั้น ข้อดีคือมี ‘รายจ่ายบางอย่างที่หายไป’ เช่น ค่าเดินทาง ค่ากาแฟ ค่ากินเลี้ยงสังสรรค์หลังเลิกงาน และเงินที่เตรียมไว้ไปเที่ยวช่วงวันหยุด ซึ่งรายจ่ายที่หายไปเหล่านี้จะช่วยแบ่งเบาภาระไปได้บางส่วน 

 

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจจะมี ‘รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น’ เช่น ค่าไฟ ซึ่งหลังจากหนึ่งเดือนผ่านไป เราก็จะพอรู้ว่าค่าไฟเวลาที่เราอยู่บ้านทั้งวันราคาเท่าไร และหากสูงขึ้นอย่างมากก็จะสามารถหาวิธีลดการใช้ไฟต่อไป

 

เรื่องต่อมาที่อยากให้แยกแยะออกมาคือ ‘รายจ่ายที่เราลดได้’ เช่น ใครที่สมัครสมาชิกฟิตเนสแล้วจ่ายเป็นรายเดือนเอาไว้ก็ให้ยกเลิกไปก่อน เพราะอาจจะไม่ได้ใช้ออกกำลังกายในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน 

 

แม้จะอยู่บ้านทั้งวัน ไม่ได้ออกไปไหน แต่โรคร้ายก็ไม่อาจขวางกั้นโลกออนไลน์ที่ทำให้เราช้อปปิ้งแบบเพลินๆ โดยไม่รู้ตัว สายช้อปทั้งหลายคงต้องมีสติมากขึ้น ในช่วงเวลาที่เราเบื่อหรือเครียดจากการเสพข่าวอาจทำให้หลายคนคลายเครียดด้วยการซื้อของ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว ช่วงเวลาที่อารมณ์ของเราไม่นิ่งเรียกว่า Hot State หรือช่วงร้อน เช่น อารมณ์อยากได้ ของมันต้องมี และต้องซื้อเดี๋ยวนี้ ฯลฯ จะเป็นช่วงที่มนุษย์จินตนาการถึงตัวเองในยามที่เย็นลง (Cold State) แล้วไม่ออก เช่น ช่วงที่เรารู้ว่าเราต้องใช้เงินอย่างมีสติ และเมื่ออารมณ์จากช่วง Hot State กลับสู่ช่วง Cold State ก็จะทำให้เรางงกับตัวเองว่าเราทำอะไรลงไป ซื้ออะไรมาเยอะแยะมากมาย

 

เทคนิคหนึ่งที่ทำได้คือการเลือกของที่อยากได้ใส่ตะกร้าเอาไว้ก่อนในเวลากลางคืนแล้วค่อยมาส่งคำสั่งซื้อตอนเช้า ซึ่งจะช่วยทำให้เราตัดสินใจซื้อของได้อย่างมีสติมากขึ้น ส่วนใครที่กลัวว่าจะพลาด ไม่ได้ซื้อของที่อยากได้ ก็ให้วางแผนล่วงหน้าและตั้งงบประมาณที่จะใช้เอาไว้ก่อน

 

ของฟรีมีอยู่จริง กิจกรรมยามว่างคลายเบื่อที่ไม่ต้องควักเงิน

เรื่องต่อมาที่ควรทำในช่วงนี้คือการลองหา ‘กิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เงินมาก’ ปัจจุบันมีของฟรีที่เราสามารถหาได้จากโลกออนไลน์ เช่น สายสุขภาพสามารถหาคลิปออกกำลังกายมาเปิดและทำตาม สายรักการเรียนรู้ก็สามารถใช้เวลานี้หาคอร์สเรียนออนไลน์ซึ่งมีเปิดให้เรียนฟรีจำนวนมาก ส่วนสายธรรมะก็มีคลิปธรรมะดีๆ มากมายให้เราได้เปิดฟังจากยูทูบ 

 

การใช้ชีวิตแบบรักษาระยะห่างหรือ Social Distancing ทำให้กายเราห่างกัน แต่ไม่จำเป็นที่ใจของเราจะต้องห่างกัน มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต่อให้เราจะรักการอยู่คนเดียวมากแค่ไหน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรักและคนใกล้ชิดก็เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มหัวใจของเราได้ ในยามที่เราต้องห่างจากเพื่อนสนิทและญาติมิตร เราสามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันต่างๆ ในการประชุมสายคุยกันหลายๆ คน อาจจะหาเกมมาเล่นร่วมกัน ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราแทบไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม (นอกจากค่าอินเทอร์เน็ตและค่าไฟ) และยังดีต่อใจอีกด้วย

 

‘การหาเงินเพิ่ม’ อาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนต้องทำ อาจจะเริ่มจากการส่งคำขอค่ามิเตอร์ไฟคืน เช็กว่าเราสามารถได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐหรือไม่ สำหรับใครที่ผ่อนหนี้อยู่ก็ตรวจสอบดูว่ามีนโยบายอะไรที่ออกมาช่วยเหลือเราบ้าง 

 

สำหรับคนที่ตกงาน เวลานี้นับเป็นเวลาที่ลำบาก การหางานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือการลองสำรวจความสามารถที่มี เช่น การทำขนม และขายแบบพรีออร์เดอร์ให้คนรู้จักกันก่อนในวงเล็กๆ ซึ่งสำหรับบางคนอาจรู้สึกดีกว่าการไปหยิบยืมเงินคนอื่น แต่หากใช้ลองทำทุกวิถีทางแล้วจนมาถึงจุดที่ต้องขอความช่วยเหลือจริงๆ ก็คงต้องหาหนทางในการขอความช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะเป็นการขายทรัพย์สินที่มีอยู่ออกไปก่อนหรือการกู้ยืม

 

เงินออม คลังส่วนตัวที่ขาดไม่ได้หลังผ่านยุคโควิด-19

การใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้มีใครคาดคิด อย่างไรก็ตาม เราสามารถวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตได้ด้วย ‘การออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน’

 

ในวิชาการเงินส่วนบุคคล เรามักจะแนะนำให้ออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอยู่ที่ 3-6 เดือนของค่าใช้จ่าย เช่น ถ้าใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท ก็ออมได้ตั้งแต่ 30,000-60,000 บาท แล้วถ้าไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินก็อย่าไปหยิบมาใช้ ซึ่งสาเหตุที่ใช้เลข 3-6 เดือนก็เพราะว่าหากตกงานหรือประสบอุบัติเหตุ โดยเฉลี่ยก็จะใช้เวลาในการหางานใหม่หรือฟื้นฟูจนกลับไปทำงานได้ภายในช่วงเวลานั้น

 

หลายครั้งคนที่เป็นหนี้บัตรกดเงินสดไม่ใช่เพราะไม่รู้จักหาเงิน ไม่ใช่เพราะไม่ทำงานหนัก แต่เพราะว่าไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน ทำให้ต้องไปกู้เงินมาใช้จ่ายยามเงินขาดมือ จนทำให้ชีวิตต้องเริ่มเข้าวงจรหนี้และเริ่มต้นชีวิตติดลบ

 

การออมเงินเป็นวินัยอย่างหนึ่งที่ต้องฝึกทำให้เป็นนิสัย หากใครรู้ว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจก็ต้องทำให้การออมเป็นอัตโนมัติ เช่น เมื่อมีรายได้ก็ต้องเก็บออมก่อนแล้วค่อยใช้ที่เหลือ โดยการตั้งให้ระบบโอนเงินเข้าบัญชีเงินออมทุกเดือน หากใครรู้ว่าเป็นคนควบคุมตัวเองเวลาช้อปปิ้งไม่ค่อยได้ ก็ต้องออมเงินในบัญชีที่ถอนเงินออกมายากๆ เช่น บัญชีเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาห้ามถอน และบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน เป็นต้น

 

สำหรับตอนนี้ไม่ใช่เวลามาตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่ออมเงิน หรือมาทำให้ผู้ที่กำลังเจอเหตุการณ์ที่ท้าทายนี้อยู่ต้องรู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวไปมากกว่านี้ แต่เมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติ การออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินจะเป็นเงินก้อนที่ทำให้เรามีแหล่งเงินสำรองเพียงพอที่จะต่อลมหายใจในวันที่วิกฤตมาเยือนได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising