×

เจอหัวหน้าทิ้งทุ่นโยนความผิดให้ลูกน้องอย่างเดียว ปัดปัญหาออกจากตัว จะทำอย่างไรดีคะ

06.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • หัวหน้าที่ดีต้องเลือกที่จะน้อมรับคำชมให้ ‘น้อยกว่า’ คนอื่นในทีม และยืดอกรับคำติมากกว่าคนอื่นในทีม ไม่ใช่รับเอาความดีความชอบมาไว้ที่ตัวเองคนเดียว ยิ่งเราให้เกียรติคนอื่นมากเท่าไร เราจะยิ่งได้รับเกียรติมากขึ้นกว่าเดิม
  • เมื่อไรก็ตามที่งานได้รับคำติ หัวหน้าที่ดีต้องรีบออกมายืนรับคำติก่อนลูกน้อง ต่อให้ลูกน้องผิด แต่หัวหน้าก็ต้องรับความผิดนั้นไปด้วย และต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าหัวหน้ามีส่วนอย่างไร
  • เวลาที่ลูกน้องทำผิดแล้วเห็นหัวหน้าโดนดุไปด้วย มันสร้างบทเรียนให้ลูกน้อง ว่าลูกน้องได้ลากเอาหัวหน้ามาโดนด่าด้วย เขาก็จะจำว่าอย่าทำผิดอีก เพราะเดี๋ยวหัวหน้าจะโดนไปด้วยอีกคน เราเป็นทีมเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน เราต้องสร้างความรู้สึกว่าเราห่วงใยคนในทีมไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

Q: ดิฉันทำงานที่เอเจนซีโฆษณา ไม่ชอบเลยที่หัวหน้าเป็นคนทิ้งทุ่น เวลาไปขายงานลูกค้าแล้วลูกค้ามีคอมเมนต์เรื่องงาน หัวหน้ามักจะตำหนิดิฉันและทีมต่อหน้าลูกค้า และโยนความผิดให้ลูกน้องรับเต็มๆ แล้วเอาตัวเองรอดอยู่คนเดียว หัวหน้าไม่ยอมรับผิดด้วยกันทั้งที่ทำงานด้วยกันมา และหลายอย่างก็เป็นสิ่งที่หัวหน้านั่นแหละทำ แต่พอถึงหน้างานที่ลูกค้าคอมเมนต์มาก็โยนให้ลูกน้องเฉยเลย หันมาดุลูกน้องด้วยซ้ำว่าทำงานแบบนี้ได้ยังไง ทำงานแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นทีมเดียวกันเท่าไร ไม่ชอบหัวหน้าแบบนี้เลย สงสารทีมด้วย ดิฉันควรจะทำงานกับหัวหน้าคนนี้อย่างไรดีคะ

 

A: น่าเห็นใจคุณและทีมมากครับ และขอชื่นชมคุณด้วยที่รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่มันจะส่งผลต่อตัวคุณ แต่คุณกำลังช่วยทีมให้รอด เพราะกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อทุกคนรู้สึกอย่างเดียวกันว่าหัวหน้าทิ้งทุ่น ความรู้สึกอยากทำงานก็จะน้อยลง งานก็จะออกมาไม่ดีเต็มศักยภาพของคนทำ เพราะฉะนั้น คุณนี่แหละครับที่จะเป็นคนช่วยทีมได้ อย่าเพิ่งท้อนะครับ ทุกปัญหาแก้ได้ เรื่องนี้ก็เหมือนกัน

 

อย่างแรกคือ เพื่อไม่ให้เราไปตายเอาต่อหน้าลูกค้าในห้องประชุม ก่อนหน้าที่จะส่งงานเราสามารถลองเช็กกับทางลูกค้าว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นจะเป็นประมาณไหน ลูกค้าคิดว่าอย่างไร โดยสามารถทำได้ก่อนจะถึงห้องประชุมด้วยซ้ำ ถ้าเราหมั่นคอยเช็กทางกับลูกค้าเรื่อยๆ นอกจากลูกค้าจะเห็นความกระตือรือร้นของทีมแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงที่เราจะนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าไม่ต้องการแล้วต้องไปตายในห้องประชุม และยังเป็นการกวาดเอาลูกค้ามาเป็นพวกเราด้วย เพราะลูกค้าสามารถให้ไอเดียบางอย่างหรือเห็นดีเห็นงามกับเราตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน โดยไม่ต้องไปรอไปเห็นทุกอย่างเอาในห้องประชุมอย่างเดียว เราเองก็สามารถอ้างได้ด้วยว่างานที่นำเสนอนี้ปรึกษากับลูกค้ามาตลอด เราร่วมกันสร้างงานนี้ตั้งแต่ต้น ลูกค้าเองก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของร่วมในงานชิ้นนี้ โอกาสที่นำเสนองานไปแล้วต้องมารื้อใหม่ก็จะน้อยลง

 

อย่างที่สองคือ พยายามดึงหัวหน้าท่านนี้ให้มารับรู้การทำงานตั้งแต่ต้น หมั่นอัปเดตหัวหน้าบ่อยๆ หรือไม่ก็เซตการประชุมภายในให้หัวหน้าได้ดูงานก่อนจะไปถึงมือลูกค้า มีอะไรจะได้ปรับแก้กัน อยากแก้อะไรแก้กันตรงนั้น ถ้าหัวหน้ารับรู้ทุกอย่างตั้งแต่ต้น จะมาบอกว่า “พี่บอกแล้วใช่ไหมว่าให้ทำแบบนี้” ก็คงไม่ได้แล้ว เพราะรับรู้ทุกอย่างร่วมกันตั้งแต่ต้น

 

ถ้าทำทั้งสองอย่างแล้ว อย่างที่สามคือ เมื่อต้องนำเสนองานให้ลูกค้า คุณสามารถเกริ่นได้เลยว่า งานที่จะนำเสนอได้ผ่านการคิดร่วมกันของทั้งทีมงานและลูกค้า นอกจากเป็นการให้เกียรติคนทำงานทุกคนแล้ว ยังเป็นการป้องกันการทิ้งทุ่นทั้งจากลูกค้าเองหรือหัวหน้าคุณด้วย เพราะคุณได้ประกาศแล้วว่าระหว่างการทำงานได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็น และผ่านการทำงานร่วมกันมาทั้งทีมเอเจนซีเอง และทีมของลูกค้าจริงๆ แต่เวลาสื่อสารประเด็นนี้ พยายามสื่อไปในลักษณะการให้เครดิตคนทำงานด้วยความสุภาพ ไม่ใช่สื่อไปในทางลากคนมาลงเรือลำเดียวกัน เพื่อไม่ให้ใครว่าเราได้ เพราะสุดท้ายงานที่นำเสนอไปอาจมีการปรับแก้ไข ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราทำอะไรไม่เคยผิด แต่เราบอกไว้ก่อนว่าการทำงานนี้ผ่านการคิดร่วมกัน วิธีการนี้ยังช่วยให้คุณป้องกันการที่หัวหน้าอ้างว่าไม่รู้เห็นการทำงานใดๆ ของทีมงานได้ด้วย

 

ผมคิดว่า ถ้าหัวหน้าจะโยนความผิดทั้งหมดให้ลูกน้องรับผิดชอบ ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ดีกับหัวหน้าเท่าไร เพราะเท่ากับหัวหน้ายอมรับว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนตรวจทานงานนี้ หรือไม่ได้มีบทบาทใดๆ กับงานนี้ มันก็จะกลับไปฟ้องที่ตัวหัวหน้าเองว่า แล้วจะมีหัวหน้าไว้ทำไมในเมื่อมีแล้วก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับงาน และปล่อยให้งานแบบนี้ออกมาให้ลูกค้าได้อย่างไร ผลเสียก็จะตกอยู่ที่หัวหน้ามากกว่าอีก ซึ่งผมคิดว่าลูกค้าเองก็คงรู้สึกแบบนี้บ้างเหมือนกันเวลาที่เห็นหัวหน้าคุณโยนความผิดไปให้ลูกน้องหมด และคงไม่รู้สึกเชื่อมั่นในหัวหน้าคนนี้เท่าไร

 

หัวหน้าที่ดีต้องเลือกที่จะน้อมรับคำชมให้น้อยกว่าคนอื่นในทีม และยืดอกรับคำติมากกว่าคนอื่นในทีม แปลว่าเมื่อไรก็ตามที่งานได้รับคำชม หัวหน้าที่ดีควรให้เครดิตคนทำงาน ไม่ใช่รับเอาความดีความชอบมาไว้ที่ตัวเองคนเดียว ยิ่งเราให้เกียรติคนอื่นมากเท่าไร เราจะยิ่งได้รับเกียรติมากขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกัน เมื่อไรก็ตามที่งานได้รับคำติ หัวหน้าที่ดีต้องรีบออกมายืนรับคำติก่อนลูกน้อง ต่อให้ลูกน้องผิด แต่หัวหน้าก็ต้องรับความผิดนั้นไปด้วยในฐานะที่เป็นคนดูแลลูกน้อง และต้องกลับมาทบทวนตัวเองเสมอในทุกความผิดของลูกน้องว่าหัวหน้ามีส่วนอย่างไร เช่น เราสอนลูกน้องไม่ดีหรือเปล่า เราให้เวลากับเขาน้อยไปไหม เรามีระบบการทำงานที่ป้องกันการผิดพลาดได้ดีจริงหรือเปล่า ฯลฯ กลับกัน ถ้าเราเป็นหัวหน้าแล้วลูกน้องทำผิดแล้วก็คิดว่าไม่เกี่ยวกับเรา เราก็จะไม่ได้ช่วยให้ลูกน้องดีขึ้น ลูกน้องผิดอยู่แล้ว หัวหน้าต้องมาดูว่าตัวเองจะมีส่วนช่วยให้ลูกน้องพัฒนาขึ้นได้อย่างไร

 

เวลาที่ลูกน้องทำผิดแล้วเห็นหัวหน้าโดนดุไปด้วย มันเป็นบทเรียนให้ลูกน้องเลยนะครับว่า เมื่อลูกน้องทำผิดแล้ว ลูกน้องได้ลากเอาหัวหน้ามาโดนด่าด้วย เขาก็จะจำว่าอย่าทำผิดอีก เพราะเดี๋ยวหัวหน้าจะโดนไปด้วยอีกคน เราเป็นทีมเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน เราต้องสร้างความรู้สึกว่าเราห่วงใยคนในทีมอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แบบนี้ลูกน้องจะจำว่าหัวหน้าไม่ทอดทิ้งเขา หัวหน้ายังรักเขาอยู่แม้ในเวลาที่เขาทำผิด เขาก็จะรักหัวหน้า และจำวิธีการที่ดีของหัวหน้าไปใช้ในวันที่เขาเป็นหัวหน้า แต่ถ้าลูกน้องทำผิดแล้วเจอหัวหน้าทิ้งทุ่นให้ไปรับผิดคนเดียวเต็มๆ เขาจะยิ่งเคว้ง มันคือการที่หัวหน้ากันตัวเองออกจากปัญหาทั้งปวงแล้วปล่อยให้ลูกน้องจะเป็นอะไรก็เป็นไป ข้าไม่สน แทนที่จะมีคนช่วยให้เขาปรับปรุงแก้ไขได้ก็กลายเป็นปล่อยเขาทิ้งไว้กับปัญหา เขาก็อาจจะกลายเป็นคนที่กันตัวเองออกจากปัญหาทั้งปวง ไม่รู้สึกอยากเป็นทีม พร้อมจะทิ้งทุ่นทันทีที่เห็นความพังพินาศที่อาจจะเกิดขึ้น มากกว่าจะรีบช่วยกันแก้ไขปัญหา คนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ข้าต้องรอด

 

เห็นตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว วันหนึ่งที่คุณเป็นหัวหน้า อย่าเป็นแบบนี้นะครับ

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising