Q: ดิฉันทำงานออร์แกไนเซอร์ค่ะ เวลาต้องทำงานกับดาราแล้วรู้สึกเหนื่อยใจกับความเยอะของคนดังเหล่านี้มากค่ะ หลายคนเบื้องหน้าดีแต่กลับปฏิบัติตัวกับคนทำงานด้วยกันไม่ดีเลย ทั้งเอาแต่ใจ ไม่มีวินัย พูดจากับคนทำงานไม่ดี เหวี่ยงวีนไม่มีเหตุผล แต่ก็ต้องทำงานด้วยกันต่อไป บางคนก็น่ารักนะคะ แต่หลายคนก็ไม่รู้จะสรรหาคำไหนมาบรรยายความเยอะ เหนื่อยจังค่ะ ต้องทำงานกับมนุษย์ดราม่า หนูควรทำอย่างไรดีคะที่จะทำงานกับคนเหล่านี้ได้
A: ก่อนที่จะตอบคำถาม เมาท์หน่อยได้ไหมว่าดาราคนไหนบ้าง ฮ่าๆ ล้อเล่นนะครับ
พี่เคยถามผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานกับมนุษย์ดราม่าแบบศิลปินดาราว่าเขาทำอย่างไรถึงสามารถทำงานกับคนเหล่านี้ได้ จนได้คำตอบที่น่าสนใจที่พี่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเราทุกคน ต่อให้ไม่ต้องทำงานกับดารา แต่พี่คิดว่าเราอาจจะไปเจอมนุษย์ติสท์แตกแบบนี้ได้สักวัน
วันก่อนพี่ได้คุยกับพี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค พี่ก็ถามพี่ดี้นี่แหละครับว่า พี่ดี้มีวิธีการอย่างไรในการจัดการกับมนุษย์อารมณ์ศิลปินที่พี่ดี้ต้องทำงานด้วย พี่ดี้ตอบว่ามีอยู่ 2 หลักคือ อันแรก ทำให้เขารู้สึกว่าเรามาดี เราไม่ได้ทำร้ายเขา เขามาหาเราเพราะความไว้ใจ เราต้องไม่หักหลังเขา อย่างที่สองคือรับฟังว่าเขามีปัญหาอะไร ถ้าเราช่วยแก้ปัญหานั้นได้ หรืออย่างน้อยทำให้เขารู้สึกว่าเราเข้าใจเขา เขาก็จะรู้สึกดีกับเรา นี่เป็นหลักของพี่ดี้
เช่นเดียวกันพี่เคยถามพี่เล็ก-บุษบา ดาวเรือง ด้วยคำถามนี้เหมือนกัน พี่เล็กบอกว่า พี่เล็กใช้ความปรารถนาดีต่อกัน เอาความคิดดีเป็นที่ตั้ง เราจะไม่ยอมคิดไม่ดีกับเขาแม้แต่น้อย พี่เล็กยอมเป็นคนที่เขารักเราน้อยลง ดีกว่ายอมเป็นคนที่คิดไม่ดีกับเขา ตราบเท่าที่จุดตั้งต้นของเราคือความหวังดี เรื่องอื่นไม่ต้องกังวล ไม่กังวลแม้กระทั่งเรื่องเขาจะรักเราไหมด้วยซ้ำ
จุดร่วมของทั้งสองท่านที่พี่คิดว่าเราน่าเอาไปใช้เลยคือความปรารถนาดี เราไม่คิดร้ายกับเขา เรามาดี เราไม่เคยแม้แต่จะคิดไม่ดีกับเขา อย่างน้อยตัวเราคลีนแน่ๆ ส่วนใครคิดร้าย คิดไม่ดี นั่นก็เป็นเรื่องของเขา
แต่อีกมุมหนึ่ง ใครจะกล้าหือกับระดับพี่ดี้และพี่เล็กล่ะ จริงไหม? มีแต่จะเคารพ ฮ่าๆ แต่นั่นแหละครับ ความน่าเคารพมันเกิดจากการใช้เวลาสั่งสมความดี เช่นกัน น้องก็ต้องใช้เวลา
พี่ดี้เล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากคือ โรค ‘ไข้ศิลปิน’ พี่ดี้บอกว่า ศิลปินก่อนออกอัลบั้มกับหลังอัลบั้มวางแผงจะเหมือนเป็นคนละคน ก่อนออกอัลบั้มนั้นอยากให้ทำอะไรจะทำหมด ว่านอนสอนง่าย ไม่เรื่องมาก แต่พอมีชื่อเสียงก็จะเป็นโรคไข้ศิลปิน คือเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่ง เคยมีวินัยก็กลายเป็นไม่มีวินัย เรื่องมาก มาสาย เทงาน เริ่มไม่น่ารักกับคนทำงานด้วยกัน มันเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในศิลปิน คนหนึ่งที่พี่ดี้ชื่นชมว่าดังแค่ไหนก็ไม่เป็นโรคไข้ศิลปินเลยคือ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ พี่ดี้ก็มักจะสอนศิลปินก่อนที่จะออกอัลบั้มว่า ให้จำวันที่ยังไม่มีชื่อเสียงแบบนี้ไว้ว่าเราทำตัวอย่างไร เพราะพอมีชื่อเสียงแล้วมันอาจจะเปลี่ยนชีวิตเราไปได้ตลอด ส่วนหลังมีชื่อเสียงแล้วใครจะเปลี่ยนเพราะโรคไข้ศิลปินไหมอันนี้สุดแท้แต่ แต่อย่างน้อยพี่ดี้ได้เตือนแล้ว ได้สอนแล้ว
มองในมุมของศิลปิน ชีวิตเขาไม่เหมือนเดิมแล้ว กลายเป็นที่สนใจ กลายเป็นที่คาดหวัง งานเยอะจนไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นความงอแงก็อาจจะเริ่มก่อตัวขึ้น เป็นได้เพราะมาจากความเหนื่อยและการที่รู้ว่าเขามีอำนาจมากขึ้น คนเราพอมีอำนาจมากขึ้นแล้วใช้ไม่เป็นก็จะเปลี่ยน และจะพังก็เพราะอำนาจของตัวเองนี่แหละครับ บวกกับเขาต้องเจอการถูกสปอยล์มากๆ คนที่ถูกสปอยล์มากๆ บางทีมันเป๋นะ อยากสบาย ไม่อยากลำบาก พอไม่อยากลำบากก็เริ่มแผลงฤทธิ์กลายเป็นคนไม่น่ารัก
เรื่องหนึ่งที่อยากเล่าให้น้องก็คือ พี่ทำงานมากับคนมีชื่อเสียงแล้วได้เห็นอะไรหลายอย่าง เรื่องความเยอะ ความไม่น่ารัก ก็เคยได้เห็นมาหมด เคยเจอคนที่ดังมากแต่ทำตัวไม่น่าร่วมงานด้วย และวันหนึ่งก็พบว่าไม่มีใครให้ค่าเขาเท่าเดิมแล้ว เช่นเดียวกับได้เจอคนที่ดังมาก ตั้งใจทำงาน มีความรับผิดชอบสูง ก็เหมือนได้เรียนรู้ไปในตัวว่า เพราะเขาทำงานแบบนี้เขาถึงเป็นที่เคารพรัก เราได้เก็บมาใช้กับตัวเราเอง งานแบบนี้ทำดีก็อยู่ได้นาน ทำไม่ดีเดี๋ยวก็หายไปแบบไม่มีใครแล มันเป็นงานที่ขึ้นอยู่กับปากคนว่าจะชมหรือด่า คนชมมากก็อยู่ได้ คนด่ามากก็อยู่ยาก แค่นั้นเลย
พี่คิดว่าทุกการกระทำที่เขาทำก็มีคนเห็น ใครทำดีคนก็ชื่นชมบอกต่อ เช่นเดียวกัน ใครทำไม่ดีคนก็บอกต่อ บางทีดาราเขาก็อาจจะลืมว่าเราก็เป็นคนทำงานเหมือนกัน และทุกคนมีส่วนทำให้งานสำเร็จได้หมด อย่างถ้าน้องทำงานเป็นอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์แล้วแนะนำลูกค้าว่าอย่าใช้ดาราคนนี้เลย ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีใครอยากทำงานด้วย เขาก็จบ
เวลาทำงานกับคนเหล่านี้เราต้องเป๊ะไว้ก่อน คือเราต้องแม่นในรายละเอียด ทำงานรวดเร็ว กระฉับกระเฉง วันหนึ่งเขาต้องทำงานหลายงาน บางทีเขาอาจจะเหนื่อย ถ้ามาเจอคนทำงานเงอะงะก็อาจจะรำคาญได้ ยิ่งในงานอีเวนต์งานหนึ่งมันมีรายละเอียดเยอะมากที่ดาราเหล่านี้ต้องอัพโหลดข้อมูลใส่สมองให้หมด เพราะเมื่ออยู่บนเวทีแล้วจะผิดคิวไม่ได้ เราต้องยิ่งช่วยให้เขาเข้าใจได้เร็วที่สุด อย่าไปแสดงออกว่าเรากลัวเขา ไม่ต้องเกร็ง คนบางคนยิ่งเราหงอเขาจะยิ่งข่ม ให้คิดว่าเขาคือมนุษย์ธรรมดาอีกคนที่เราต้องทำงานด้วย ให้คิดว่าน้องจะช่วยอะไรได้บ้างที่ทำให้เขาทำงานนี้ได้ดีขึ้นบนขอบเขตที่ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงน้องมาก ปฏิบัติต่อเขาอย่างมีมารยาทในฐานะเพื่อนร่วมงาน แต่ไม่ต้องทำตัวเหมือนรองมือรองเท้าเขา ทำตัวดีมีมารยาทเข้าไว้ให้เขาอายไปเอง (ถ้าเขาอายเป็นนะ) เขาหน้าตึงมา เหวี่ยงมา ก็พยายามอย่าเก็บมาเป็นอารมณ์ เมื่อไรเก็บเป็นอารมณ์ เรานี่แหละจะทำงานได้ไม่ดี รีบทิ้งความคิดแย่ๆ ของเราไว้ก่อน
ให้น้องโฟกัสว่าทำงานนี้จบก็จบ อะไรก็ตามที่ทำแล้วงานจะออกมาดีเราก็ทำ น้องรับผิดชอบส่วนของน้อง ถ้าดาราคนไหนไม่รับผิดชอบ เป็นความผิดของเขา จบงานแล้วเราก็จบ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ วันรุ่งขึ้นเจอคนใหม่จะเรื่องเยอะแค่ไหนก็ให้คิดว่าเดี๋ยวจบงานก็จบ ทำงานนี้ให้ดีแค่นั้น น้องมีวินัย มีความรับผิดชอบของน้องไป ส่วนคนที่ไม่รับผิดชอบ วันหนึ่งเขาก็จะไม่มีที่อยู่ แต่น้องจะมีที่ยืนในตำแหน่งที่ดี
เอาว่าถ้าน้องทำงานร่วมกับดาราที่เรื่องมากได้ พี่ว่าน้องก็ทำทุกอย่างได้หมดแล้วล่ะ แก้ปัญหาเก่งขนาดนี้
แล้ววันหนึ่งที่น้องโตขึ้น มีอำนาจบารมีแล้ว ก็อย่าเปลี่ยนเป็นคนเรื่องมากเรื่องเยอะแบบคนที่เขาทำร้ายน้องแล้วกันนะครับ
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai