×

วิธีจับโกหกของคนพูดอย่างทำอย่าง คำพูดแบบไหนส่อแววกลับกลอกมากที่สุด

01.09.2020
  • LOADING...

คุณจะทราบได้อย่างไรครับว่าคนที่พูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง เขาใช้คำพูดของเขาในการโกหกอย่างไรบ้าง

 

มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งที่ดูวิธีการสื่อสารของคนสองคนในเกมโชว์ที่มีชื่อว่า Golden Balls ที่ต้องตกลงกันว่าจะร่วมมือกันไหม ถ้าหลังจากคุยกันแล้วทั้งสองคนตกลงร่วมมือกัน ต่างคนก็จะแบ่งเงินกองกลางกลับบ้านไปกันคนละครึ่ง แต่ถ้าคนหนึ่งตอบว่าจะร่วมมือแต่อีกคนหนึ่งหักหลัง คือบอกว่าจะร่วมมือแต่กลับไม่ร่วมมือจริงๆ คนที่หักหลังก็จะได้เงินกองกลางกลับบ้านไปทั้งหมด ส่วนคนที่โดนหักหลังก็จะไม่ได้อะไรเลย 

 

แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างหักหลังซึ่งกันและกัน ทั้งคู่ก็จะเสียเงินกองกลางด้วยกันทั้งคู่ และจะไม่มีใครได้รับเงินกลับบ้านไปเลย 

 

ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษารูปแบบการเจรจาของผู้เล่นเกมนับร้อยๆ คู่ โดยแบ่งจำพวกคำพูดของผู้เข้าแข่งขันเป็น 4 กลุ่ม คือ 

 

  1. Explicit-Unconditional (ชัดเจน-ไม่มีเงื่อนไข)

เช่น “I will split” (ฉันจะแบ่งเงินกับคุณ), “I will not steal” (ฉันจะไม่ขโมยเงินกองกลาง)

 

  1. Explicit-Conditional (ชัดเจน-มีเงื่อนไข)

เช่น “I will split if you split” (ฉันจะแบ่งเงินถ้าคุณแบ่งเหมือนกัน), “We will split together” (เดี๋ยวเราทั้งสองจะแบ่งเงินกันนะ)

 

  1. Implicit-Unconditional (ไม่ชัดเจน-ไม่มีเงื่อนไข)

เช่น “I want to split” (ฉันอยากจะแบ่ง), “It is not in my nature to steal” (ปกติฉันไม่ใช่คนที่ชอบขโมยอะไร), “If I stole from you, the audience will never forgive me!” (ถ้าฉันขโมยล่ะก็ คนดูต้องไม่อภัยฉันแน่ๆ เลย), “You can trust me” (คุณเชื่อฉันได้)

 

  1. Implicit-Conditional (ไม่ชัดเจน-มีเงื่อนไข)

เช่น “I think we should split” (ฉันคิดว่าเราน่าจะแบ่งเงินกันนะ), “I am willing to split if you split” (ฉันจะยอมแบ่งถ้าคุณแบ่ง)

 

ลองทายดูสิครับว่าคำพูดแบบไหนที่จะตามมาด้วยการหักหลังมากที่สุด

 

ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะพอเดากันถูกนะครับ คำตอบก็คือข้อ 4 นั่นเอง คือคำพูดแบบไม่ชัดเจน และมีเงื่อนไข รองลงมาก็คือข้อ 3 คือ ไม่ชัดเจน ไม่มีเงื่อนไข ส่วนคนที่ใช้คำพูดแบบชัดเจน และไม่มีเงื่อนไข ในข้อ 1 มากที่สุด ส่วนใหญ่มักจะทำตามที่พูดจริงๆ

 

สรุปก็คือเวลาที่คนส่วนใหญ่โกหก คำพูดที่เราใช้มักจะเป็นคำพูดที่ไม่บ่งบอกถึงเจตนาที่ชัดเจนของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดที่มีความยืดหยุ่น กำกวม และไม่แน่นอน และอาจจะเป็นคำพูดที่ค่อนข้างมีเงื่อนไข เช่น “ฉันคิดว่าฉันจะทำถ้าคุณจะทำ” เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้นโปรดลองสังเกตการใช้คำพูดของคนรอบข้างดูนะครับว่า คำที่เขาใช้มักจะอยู่ในประเภทไหนบ้าง ทั้งแบบชัดเจนหรือไม่ชัดเจน มีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข

 

อ่านเพิ่มเติม

  • Turmunkh, U., van den Assem, M.J. and Van Dolder, D., 2019. Malleable lies: Communication and cooperation in a high stakes TV game show. Management Science, 65(10), pp.4795-4812.

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising