×

ประชุมสันติภาพยูเครนครั้งแรกสำเร็จแค่ไหน

17.06.2024
  • LOADING...

การประชุมสันติภาพ (Peace Summit) ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปิดฉากลงแล้วเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีผู้นำและผู้แทนจากรัฐและองค์การระหว่างประเทศกว่า 80 แห่งเข้าร่วมประชุม เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าจะสนับสนุนสันติวิธีและผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้นในยูเครน หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังเข้าสู่ปีที่ 3 อย่างไรก็ตาม มีหลายประเทศไม่ได้ลงนามรับรองแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ครั้งนี้ 

 

ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ร่วม

 

แถลงการณ์ร่วมในช่วงท้ายของการประชุมเป็นเหมือนเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของบรรดาผู้ร่วมลงนามที่สนับสนุนการละเว้นจากการคุกคามหรือการใช้กำลังรุกรานต่อบูรณภาพแห่งดินแดนหรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ รวมถึงเคารพอำนาจอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกรัฐ รวมถึงยูเครน ซึ่งเป็นหลักการที่ยอมรับกันในระดับสากล

 

แถลงการณ์ร่วมนี้มีแนวทางสอดคล้องกับแผนสันติภาพ 10 ประการของ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งร่างขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2022 โดยเรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนยุติความเป็นศัตรูระหว่างกัน ฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ถอนทหารรัสเซียทั้งหมดออกจากยูเครน รวมถึงกลับไปใช้เส้นเขตแดนเดิมก่อนที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเปิดฉากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ยูเครนควรเข้าถึงเขตพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของตนเองได้ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียที่รัสเซียยึดครองอยู่ในขณะนี้ ขณะที่เด็กและพลเรือนทุกคนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นอย่างผิดกฎหมายจะต้องถูกส่งกลับไปยังยูเครน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ‘ยากที่จะยอมรับได้’ 

 

ประเทศที่ไม่ลงนามรับรอง

 

มีบางประเทศที่เข้าร่วมการประชุม แต่ไม่ได้ลงนามรับรองแถลงการณ์ร่วม เช่น อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก รวมถึงอินโดนีเซีย ขณะที่บราซิล ซึ่งเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ก็ไม่ได้รับรองแถลงการณ์ที่สนับสนุนบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

 

ขณะที่บรรดาตุรกี ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกับรัสเซีย และพยายามเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย ตัดสินใจลงนามรับรองแถลงการณ์ดังกล่าวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยในแถบอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และติมอร์ตะวันออก

 

สำหรับไทยไม่ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม แต่ไทยไปโฟกัสที่ประเด็นย่อยในเรื่องความมั่นคงทางอาหารแทน

 

สำหรับอาเซียนนั้น มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ล้วนไม่ได้ไปร่วมประชุม มีเพียงไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เท่านั้นที่เข้าร่วม

 

รัสเซียไม่ได้รับเชิญ-จีนไม่เข้าร่วม

 

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และผู้แทนคนอื่นๆ ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพที่สวิตเซอร์แลนด์ในครั้งนี้ ทำให้จีนซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดของรัสเซีย ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เช่นเดียวกัน แม้จะได้รับการโน้มน้าวจากยูเครน สหรัฐอเมริกา และบรรดาชาติตะวันตกอย่างมากก็ตาม 

 

ปูตินวิพากษ์วิจารณ์การประชุมครั้งนี้ว่า ‘ไร้ประโยชน์’ ทั้งยังเรียกร้องให้ยูเครนปฏิบัติตามแผนสันติภาพของรัสเซีย โดยให้กองกำลังทหารยูเครนถอนตัวจากพื้นที่ทางตอนใต้และทางภาคตะวันออกทั้ง 4 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย ซึ่งรัสเซียอ้างว่า ดินแดนเหล่านี้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว รวมถึงเรียกร้องให้ยูเครนละทิ้งความพยายามที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO ซึ่งจะสั่นคลอนความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านอย่างรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า “จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมสันติภาพจะไม่กลายเป็นพื้นที่ที่สร้างให้ฝักฝ่ายต่างๆ เผชิญหน้ากัน” พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “การไม่เข้าร่วมไม่ได้หมายความว่าไม่สนับสนุนสันติภาพ” และผลักดันแนวทางสันติภาพยูเครนของตัวเอง โดยเรียกร้องให้การประชุมสันติภาพระหว่างประเทศจัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากทั้งรัสเซียและยูเครน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนมีการอภิปรายอย่างยุติธรรมเกี่ยวกับแผนสันติภาพทั้งหมด 

 

ท่าทีของยูเครน สหรัฐฯ ชาติพันธมิตร และไทย

 

เซเลนสกีระบุว่า การประชุมสันติภาพนี้คือพื้นที่ที่ทุกคนจะได้ร่วมสนับสนุนบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน โดยสันติภาพที่ยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้นหากปราศจากสิ่งนี้ และเชื่อว่าจุดยืนที่หลายประเทศมีร่วมกันจะปูทางไปสู่การประชุมสันติภาพครั้งที่สองในอนาคต

 

โดยผู้นำยูเครนยังระบุอีกว่า จีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อรัสเซีย และเชื่อว่าจีนจะสามารถช่วยเราได้ ทั้งยังกล่าวเสริมว่า เพื่อนคือคนที่ช่วยเหลือเราในเวลาที่ยากลำบาก ผมอยากให้จีนเป็นเพื่อนกับยูเครน ที่ผ่านมายูเครนเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน และยูเครนต้องการให้จีนทำสิ่งนี้เช่นเดียวกัน

 

ขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กับ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้ว่า ข้อเรียกร้องของรัสเซียท้าทายศีลธรรมขั้นพื้นฐานอย่างมาก ไม่เพียงแต่ยูเครนจะต้องสละดินแดนและถอยทัพออกจากเขตอธิปไตยของตนเองก่อนการเจรจากับรัสเซีย ยูเครนยังจะต้องปลดอาวุธ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกรุกรานอีกในอนาคต ข้อเรียกร้องเหล่านี้จึงอาจไม่ใช่เงื่อนไขที่สมเหตุสมผล ซึ่งจะปูทางไปสู่การเจรจาสันติภาพที่ยั่งยืน

 

ด้าน อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุว่า จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาคมโลกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า สันติภาพในยูเครนไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยก้าวเพียงก้าวเดียว แต่นี่คือการเดินทางที่อาศัยทั้งความอดทนและความมุ่งมั่น 

 

ด้าน รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นผู้แทนจากไทยเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมย่อยในการประชุมสันติภาพครั้งนี้ โดยชี้ว่า สันติภาพจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบอาหารโลกในหลายด้านเพื่อประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย โดยไทยสนับสนุนข้อริเริ่มทั้งหลายที่มีส่วนช่วยรักษาความมั่นคงของระบบอาหารโลกในยามวิกฤตอย่างเต็มที่ ทั้งยังได้ย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือยูเครน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะสงคราม

 

สันติภาพในยูเครนที่ยังเลือนราง

 

โวโลดิเมียร์ ลูโบวิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองยูเครนประจำสถาบันวิเคราะห์นโยบายยุโรปในวอชิงตัน มองว่า การที่ยังมีบางประเทศตัดสินใจไม่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วม แม้จะมีเพียงไม่กี่ประเทศนั้น เป็นเพราะประเทศเหล่านี้กำลังเล่นเกมและชอบที่จะอยู่ในจุดที่แสดง ‘ความเป็นกลาง’

 

ลูโบวิกเชื่อว่า การประชุมครั้งนี้จะทำให้ยูเครนได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านอาวุธและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากบรรดาพันธมิตร เพื่อทำให้ยูเครนมีสถานการณ์การสู้รบที่ดีขึ้น และมีจุดยืนที่มั่นคงและแข็งแกร่งขึ้นในการเจรจา โดยความท้าทายที่สุดของการประชุมสันติภาพครั้งนี้คือ การสื่อสารต่อรัสเซียอย่างแข็งกร้าว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดพื้นที่ให้รัสเซียเข้าสู่โต๊ะเจรจา

 

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบีย หนึ่งในประเทศที่ได้รับการจับตามองว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสันติภาพครั้งที่สองขึ้น ก็ดูเหมือนจะสงวนท่าทีมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังให้คำมั่นว่า ซาอุดีอาระเบียพร้อมที่จะช่วยเหลือกระบวนการสันติภาพ แต่ข้อตกลงจะบรรลุผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ‘การประนีประนอม’ ที่ดูเหมือนจะยากลำบาก

 

นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่า การประชุมสันติภาพครั้งแรกนี้จะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อการยุติสงครามได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากคู่ขัดแย้งหลักอย่างรัสเซียไม่ได้รับเชิญ ประกอบกับมหาอำนาจอย่างจีน รวมถึงบราซิล ก็กำลังร่วมกันวางแผน ‘ทางเลือกอื่น’ ในการผลักดันสันติภาพในสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงเลือนรางอยู่ในขณะนี้ 

 

ภาพ: Urs Flueeler / Pool via Reuters, Denis Balibouse / Reuters

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X