×

เจาะลึกดีลซื้อหุ้นแมนฯ ยูไนเต็ด เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เข้าเส้นชัยได้อย่างไร?

16.10.2023
  • LOADING...
แมนฯ ยูไนเต็ด

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ข้อเสนอจาก ชีค ยัสซิม คือเงินสดจำนวน 5.5 พันล้านปอนด์ พร้อมกับล้างหนี้ทั้งหมดที่คาดว่าใกล้เคียง 1 พันล้านปอนด์ให้ พร้อมลงทุนอีก 2 พันล้านปอนด์เพื่อปฏิรูปสโมสร ตั้งแต่การพัฒนาศูนย์ฝึกให้ทันสมัย ไปจนถึงปรับปรุงสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดที่เก่าและทรุดโทรม เป็นข้อเสนอที่น่าจะดีที่สุดหากคิดถึงอนาคตของแมนฯ ยูไนเต็ด
  • ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุดคือข้อเสนอจากฝั่งของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เป็นข้อเสนอที่ดีกว่าข้อเสนอ เพราะพวกเขาประเมินมูลค่าของแมนฯ​ ยูไนเต็ดสูงกว่าฝั่งของกาตาร์มาโดยตลอด พร้อมกับยังมอบโอกาสให้เกลเซอร์ในการยังลงทุนอยู่กับสโมสรได้ผ่านการถือหุ้นอยู่
  • The Times, The Telegraph และอีกหลายสำนักข่าวระบุตรงกันว่าในข้อเสนอขอซื้อหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ของ INEOS มีเงื่อนไขที่สำคัญคือการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในการบริหารมาอยู่ในมือของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ แทน

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วแฟนฟุตบอลทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เหมือนได้ยินเสียงระฆังแห่งสวรรค์ เมื่อครอบครัวเกลเซอร์ เจ้าของสโมสรที่ถือครองทีมมานานตั้งแต่ปี 2005 ส่งสัญญาณพร้อมจะทำการขายหุ้นของสโมสรออกไป

 

ช่วงเวลาแห่งความมืดมนกำลังจะผ่านพ้นไป วันที่ยิ่งใหญ่ในโอลด์แทรฟฟอร์ดกำลังจะกลับมา

 

เวลาผ่านมาเกือบครบ 1 ปี เสียงระฆังดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ได้เป็นระฆังของสวรรค์แล้ว แต่เป็นระฆังเหง่งหง่างในงานเลี้ยงที่แสนเศร้า เพราะถึงครอบครัวเกลเซอร์มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจขายหุ้นของสโมสรออกไปจริงๆ แต่สัดส่วนของหุ้นที่จะขายนั้นเป็นเพียงแค่ 1 ใน 4

 

ข้อเสนอเดียวที่มีอยู่คือข้อเสนอจาก เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีชาวอังกฤษผู้ประกาศตนเป็นแฟน Red Army เต็มขั้น (อยู่ในคัมป์นูวันคว้า 3 แชมป์ในปี 1999 ด้วย) ที่ขอซื้อหุ้นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ โดยที่หุ้นส่วนใหญ่ที่เหลือยังเป็นของเกลเซอร์ที่จะอยู่คู่สโมสรต่อไป

 

แบบนี้แปลว่าแมนฯ ยูไนเต็ด ยังเป็นปีศาจที่ติดอยู่ในนรกอเวจีต่อไปหรือไม่

 

หรือจริงๆ แล้วนี่คือสัญญาณแรกของการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพา “Glory Glory Man United” กลับมาอีกครั้ง

 

มหากาพย์การขายหุ้นสโมสรแมนฯ​ ยูไนเต็ดถือเป็นหนึ่งในหนังยาวที่ยืดเยื้อที่พิสูจน์ความอดทนของคนที่เกี่ยวข้องอย่างมาก

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องทางตรงอย่าง Raine Group ในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบหมายในการหาผู้ซื้อที่ ‘ดีที่สุด’​ ให้แก่ครอบครัวเกลเซอร์ ไปจนถึงผู้ที่ทำการยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นของสโมสรเข้ามาอย่าง เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ และ ชีค ยัสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี ที่เปรียบได้เป็นดังตัวแทนของรัฐกาตาร์

 

รวมถึงแฟนๆ ปีศาจแดงที่รอลุ้นข่าวนี้มาตั้งแต่ต้น ด้วยความหวังว่าเจ้าของสโมสรที่พวกเขามองว่าเลวร้ายที่สุดอย่างครอบครัวเกลเซอร์จะไปจากสโมสรฟุตบอลที่พวกเขารักและหวงแหนเสียที

 

เรื่องราวนั้นต้องย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายนปีกลาย ไม่กี่วันหลังจากที่มีสัญญาณจาก Fenway Sports Group (FSG) เจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลว่าพร้อมพิจารณา ‘ขาย’ สโมสรให้แก่นักลงทุนที่สนใจ ทางด้านครอบครัวเกลเซอร์ดูเหมือนพยายามชิงจังหวะตัดหน้าด้วยการประกาศขายสโมสรเช่นกัน

 

และดูเหมือนด้วยแบรนดิ้งและศักยภาพที่เหนือกว่าของแมนฯ ยูไนเต็ด ทำให้นักลงทุนดูจะสนใจในทีมจากเมืองแมนเชสเตอร์มากกว่า

 

ในช่วงแรกนั้นมีข้อเสนอบนโต๊ะเจรจาอยู่หลายราย แต่สุดท้ายแล้วมีเพียงแค่ 2 รายเท่านั้นที่ฟาดฟันกันเพื่อการได้ครอบครองหนึ่งในสโมสรที่มีฐานแฟนฟุตบอลมากที่สุดในโลก โด่งดังที่สุด และครองแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษมากที่สุด

 

หนึ่งคือข้อเสนอจากกาตาร์ โดย ชีค ยัสซิม หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของกาตาร์

 

และอีกหนึ่งคือข้อเสนอจาก เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีเจ้าของ INEOS บริษัทพลังงานซึ่งเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษ

 

ทั้งสองดูมีโปรไฟล์ที่ดีและพอจะทำให้เชื่อได้ว่าจะพาแมนฯ ยูไนเต็ดกลับมาเป็นทีมระดับท็อปอีกครั้งหลังจากที่ตกต่ำอย่างหนักเป็นเวลา 10 ปีแล้ว หลังจากที่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศวางมือ

 

แต่ปัญหาคือกระบวนการเจรจาที่ติดขัดล่าช้าไปหมด ซึ่งเกิดจากครอบครัวเกลเซอร์ในฐานะเจ้าของสโมสรที่พยายามเรียกข้อเสนอให้ได้ใกล้เคียงกับที่พวกเขาต้องการ และเป็นตัวเลขที่มาจากคำแนะนำของ โจ ราวิตช์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Raine Group

 

โดยตัวเลขที่เชื่อกันว่าเหมาะสมคือ 6 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นราคาที่บ้าคลั่งอย่างมาก เชื่อกันว่าเป็นมูลค่าที่สูงเกินกว่าราคาประเมินถึง 2 เท่า เพราะมีการประเมินมูลค่าของแมนฯ ยูไนเต็ดเอาไว้ที่ 2.63 พันล้านปอนด์เท่านั้น (และความจริงราวิตช์ประเมินไว้สูงสุดถึง 8 พันล้านปอนด์ด้วย โดยอ้างเรื่องฐานแฟนฟุตบอลที่มีทั่วโลก)

 

ตัวเลขดังกล่าวจะทำให้หากมีการซื้อขายจริงแมนฯ ยูไนเต็ดจะกลายเป็นทีมกีฬาที่แพงที่สุดในโลกไปโดยปริยาย แซงหน้าการซื้อขายทีมฮอกกี้น้ำแข็ง วอชิงตัน คอมมานเดอร์ส ในราคา 6.05 พันล้านดอลลาร์ หรือ 5 พันล้านปอนด์

 

แมนฯ ยูไนเต็ด

 

เกมทดสอบความอดทน

 

ในจุดยืนที่แข็งกร้าวของครอบครัวเกลเซอร์ ทำให้ผู้ที่สนใจอย่าง ชีค ยัสซิม และ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ต้องหนักใจ

 

เพราะการที่พวกเขาจะยอมจ่ายค่า Premium ที่ทำให้สูงกว่าราคาประเมินเกิน 2 เท่าไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผลนัก และนั่นทำให้การเจรจาติดขัดอยู่นาน เพราะข้อเสนอแบบ ‘สุดๆ’ ที่ทั้งสองฝ่ายยื่นได้เสมอกันที่ราว 5 พันล้านปอนด์

 

ไม่ขอจ่ายมากกว่านี้อีกแล้ว

 

แต่สุดท้ายทั้งสองด้วยความไม่อยาก ‘เสียโอกาส’ ในการคว้าเพชรเม็ดงามของวงการฟุตบอลไป ทำให้มีการขยับข้อเสนออีกครั้ง เพียงแต่ข้อเสนอบนโต๊ะเจรจาของทั้งสองก็มีความแตกต่างกันอยู่

 

ข้อเสนอจาก ชีค ยัสซิม คือเงินสดจำนวน 5.5 พันล้านปอนด์ พร้อมกับล้างหนี้ทั้งหมดที่คาดว่าใกล้เคียง 1 พันล้านปอนด์ให้ โดยที่จะไม่มีการกู้ยืมเงินจากแหล่งใดมา เรียกว่าปลอดหนี้โดยสมบูรณ์ พร้อมลงทุนอีก 2 พันล้านปอนด์เพื่อปฏิรูปสโมสร ตั้งแต่การพัฒนาศูนย์ฝึกให้ทันสมัย ไปจนถึงปรับปรุงสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดที่เก่าและทรุดโทรมเพราะขาดการดูแลอย่างหนัก รวมถึงการลงทุนกับทีมฟุตบอลหญิงของสโมสร

 

เรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอที่น่าจะดีที่สุดหากคิดถึงอนาคตของแมนฯ ยูไนเต็ด ยกเว้นแค่ข้อเดียวคือเรื่องของการที่จะมีทีมฟุตบอลอังกฤษตกเป็นสมบัติของรัฐไปอีกแห่งต่อจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และนิวคาสเซิล (ซาอุดีอาระเบีย)

 

ขณะที่ข้อเสนอในขั้นต่อมาของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มีมูลค่ามากกว่า โดยอยู่ที่ราว 6 พันล้านปอนด์ และมีจุดที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญตรงที่ โจเอล และ อัฟราม เกลเซอร์ สองพี่น้องในครอบครัวเกลเซอร์จะยังคงถือหุ้นในสโมสรอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ด้วย

 

จุดนี้เองที่ดูเหมือนจะเป็นจุดหักเหของการเจรจา

 

นั่นเป็นเพราะดูเหมือนครอบครัวเกลเซอร์เองไม่ได้มีความตั้งใจที่จะขายสโมสรออกไปจริงๆ พวกเขายังต้องการที่จะเก็บสโมสรเอาไว้อยู่ และมีความเชื่อว่ามีโอกาสที่มูลค่าของแมนฯ ยูไนเต็ดจะสูงขึ้นกว่านี้ได้อีก ซึ่งข้อเสนอของทาง INEOS ถือว่า ‘เปิดช่อง’ ให้พอสมควร

 

จากนั้นมีสัญญาณต่อมาในเดือนมีนาคม เมื่อทาง Raine Group ได้เชิญให้ผู้ยื่นข้อเสนอทั้งฝ่ายของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ และ ชีค ยัสซิม มาเยี่ยมชมสโมสรก่อนหน้าที่จะเปิดให้มีการ ‘ยื่นข้อเสนอครั้งสุดท้าย’ อีกครั้ง (แม้ว่าจะมีการบอกแบบนี้มาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง)

 

ทางด้านเจ้าของ INEOS เดินทางมาโอลด์แทรฟฟอร์ดตามเทียบเชิญ และกลายเป็นภาพที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก เพราะดูเหมือนสถานการณ์ในตอนนั้นจะเริ่มเข้าทางเขาแล้ว ขณะที่ทางด้าน ชีค ยัสซิม หรือตัวแทนจากฝั่งกาตาร์ไม่ได้มาแต่อย่างใด

 

แต่สุดท้ายก่อนที่จะถึงเส้นตาย ทางด้าน ชีค ยัสซิม ตัดสินใจที่จะยื่นข้อเสนอสุดท้ายในมูลค่า 6 พันล้านปอนด์

 

รับก็รับ ไม่รับก็ไม่ต้องรับ – ในทำนองนั้น

 

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนข้อเสนอจากกาตาร์จะไม่ได้เป็นข้อเสนอที่ถูกใจเกลเซอร์มาตั้งนานแล้ว

 

แมนฯ ยูไนเต็ด

 

หุ้น 25 เปอร์เซ็นต์เป็นแค่จุดเริ่มต้น

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องการเจรจาอีกครั้งหลังจากที่ค้างเติ่งมาเป็นเวลานานหลายเดือน และเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้แฟนแมนฯ ยูไนเต็ดทั่วโลกผิดหวังเป็นพิเศษ เมื่อทางด้าน ชีค ยัสซิม และกาตาร์ ตัดสินใจที่จะถอนตัวจากการแข่งขัน

 

ข้อเสนอ 6 พันล้านปอนด์ ปลดหนี้ให้ ลงทุนให้ อาจเป็นข้อเสนอที่ดูดีในสายตาของแฟนฟุตบอล แต่สำหรับฝ่ายเกลเซอร์เองมันเป็นข้อเสนอที่ยังไม่สามารถเอาชนะใจพวกเขาได้

 

ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุดคือข้อเสนอจากฝั่งของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เป็นข้อเสนอที่ดีกว่าข้อเสนอ เพราะพวกเขาประเมินมูลค่าของแมนฯ​ ยูไนเต็ดสูงกว่าฝั่งของกาตาร์มาโดยตลอด พร้อมกับยังมอบโอกาสให้เกลเซอร์ในการยังลงทุนอยู่กับสโมสรได้ผ่านการถือหุ้นอยู่

 

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ข้อเสนอล่าสุดเป็นการขอซื้อหุ้นจำนวน 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของสโมสร ด้วยมูลค่า 1.3 พันล้านปอนด์

 

เรื่องนี้นำไปสู่การตั้งคำถามอย่างมากมายว่ามันจะสามารถเปลี่ยนแปลงสโมสรได้อย่างไร?

 

อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดแล้วการขอซื้อหุ้นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ของเขานั้นเป็นแค่ ‘จุดเริ่มต้น’ เท่านั้น โดยแรตคลิฟฟ์มีแผนที่จะทำการซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดในระยะยาว แต่ในระยะแรกขอเริ่มต้นแบบนี้ไปก่อน

 

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญคือเรื่องหุ้นที่ขอซื้อนั้นเป็นหุ้นแบบใดกันแน่?

 

เดิมแผนคือการขอซื้อหุ้นตรงจากครอบครัวเกลเซอร์ที่ถืออยู่ราว 67 เปอร์เซ็นต์ แต่หากทำแบบนั้นอาจเผชิญปัญหาการฟ้องร้องจากผู้ถือหุ้นรายย่อยของสโมสรได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ถือหุ้นประเภท Class A ที่เป็นของผู้ถือหุ้นทั่วไปที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NASDAQ) ในขณะที่เกลเซอร์ถือหุ้นในประเภท Calss B

 

ทางออกสำหรับแรตคลิฟฟ์คืออาจจะมีการซื้อหุ้นทั้งในกลุ่ม Class A และ Class B เพื่อที่จะลดแรงเสียดทานและปัญหาที่จะเกิดขึ้น

 

ที่สำคัญยังมีเงื่อนไขสำคัญด้วย

 

สมมติถ้าหลังจากนี้เกลเซอร์หลบฉากไปอยู่ข้างหลัง โดยให้อำนาจในการบริหารแก่ผู้ถือหุ้นใหม่อย่าง เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เป็นคนลุยแทน

 

จะรับได้ไหม?

 

แมนฯ ยูไนเต็ด

 

ยุคใหม่ปีศาจแดง?

 

ตามรายงานข่าวจาก The Times, The Telegraph และอีกหลายสำนักข่าวระบุตรงกันว่าในข้อเสนอขอซื้อหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ของ INEOS มีเงื่อนไขที่สำคัญ

 

เงื่อนไขดังกล่าวคือการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในการบริหารมาอยู่ในมือของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ แทน

 

พูดง่ายๆ คือมาออกหน้าแทน และเริ่มกระบวนการฟื้นฟูสโมสรทันที

 

ทั้งนี้ แม้จะมีคำถามสำคัญในเรื่องของ ‘ทุน’ ที่จะนำมาใช้ในการฟื้นฟูสโมสรที่ตกต่ำอย่างหนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่าจะมาจากไหน? และคนที่ถือหุ้นแค่ 1 ใน 4 สุดท้ายแล้วจะมีอำนาจในการตัดสินใจมากแค่ไหน แต่ดูเหมือนจะมีส่วนที่มีแผนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

 

เรื่องใหญ่คือเรื่องของระบบ Recruitment ซึ่งแมนฯ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่ล้มเหลวอย่างมากในเรื่องของการจัดหาผู้เล่นเข้ามาเสริมทีม ที่แม้จะลงทุนอย่างมากมายมหาศาลแต่ผลตอบแทนที่ได้กลับย่ำแย่ ดังจะเห็นได้จากการซื้อนักเตะค่าตัวแพงมหาศาลหลายคนที่ทำไม่ได้ตามความคาดหวัง เช่น แฮร์รี แม็กไกวร์, เจดอน ซานโช หรือแม้แต่ แอนโทนี

 

จุดนี้เป็นสิ่งที่เชื่อว่าทางด้านแรตคลิฟฟ์จะเข้ามาดู และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของโครงสร้างการบริหาร หรือการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารที่อาจกระทบถึง ริชาร์ด อาร์โนลด์ ซีอีโอของสโมสร และ จอห์น เมอร์โท ผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายฟุตบอลที่ยังทำผลงานได้ไม่ดีอย่างที่คาดหวัง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

 

คนที่จะได้รับการสนับสนุนต่อคือ เอริก เทน ฮาก ผู้จัดการทีมที่จะได้โอกาสในการเดินหน้าเปลี่ยนแปลงสโมสรในเรื่องของเกมในสนามต่อไป

 

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงสโมสรในส่วนที่จำเป็น ทั้งเรื่องของศูนย์ฝึกแคร์ริงตัน ไปจนถึงการปรับปรุงสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดที่ปัจจุบันทรุดโทรมลงไปมาก ระดับที่หลังคาสนามที่รั่วก็ไม่เคยได้รับการปรับปรุงสักที ซึ่งมีรายงานว่ามหาเศรษฐีอันดับ 1 ของอังกฤษ มีแผนจะเพิ่มความจุสนามไปอีกจาก 74,310 ที่นั่ง เป็น 90,000 ที่นั่งเลยทีเดียว

 

เรียกได้ว่าเป็น ‘ภาพฝัน’ ที่พอดูดีทีเดียว

 

เพียงแต่ความกังวลของฝ่ายคนที่รักแมนฯ ยูไนเต็ดยังมีอยู่ หนึ่งในเสียงที่พร้อมจะต่อสู้ในเรื่องนี้มาจาก ริคกี แซนด์เลอร์ ผู้ก่อตั้งกองทุน Eminence Capital ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับที่ 3 ของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่บอกว่าจะต่อต้านเรื่องนี้อย่างสุดกำลัง

 

ขณะที่แฟนบอลแมนฯ ยูไนเต็ดเองก็เตรียมพร้อมที่จะเดินหน้าต่อเช่นกัน พวกเขาต้องการที่จะขับไล่ให้ครอบครัวเกลเซอร์ไปจากสโมสรให้ได้ เพราะไม่ไว้ใจครอบครัวนี้มาตั้งนานแล้วจากสิ่งที่พวกเขาทำกับสโมสรตลอด 18 ปีที่ผ่านมา

 

จุดที่จะตัดสินคือการประชุมของบอร์ดบริหารสโมสรที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ (19 ตุลาคม) ที่จะเป็นการประชุมรวมกันระหว่าง 6 สมาชิกครอบครัวเกลเซอร์, ผู้อำนวยการอิสระ 3 คน และคนในสโมสรอีก 3 คน โดยที่เชื่อว่า โจเอล เกลเซอร์ จะพยายามผลักดันการขายหุ้นให้เกิดขึ้นให้ได้

 

โดยที่ระหว่างนี้ไปจนถึงการประชุม ทุกอย่างยังสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเราได้เห็นตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาแล้วว่าไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X