×

แพ้วัคซีนรุนแรงเป็นอย่างไร ผู้มีประวัติแพ้ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

05.03.2021
  • LOADING...
แพ้วัคซีนรุนแรงเป็นอย่างไร ผู้มีประวัติแพ้ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

HIGHLIGHTS

  • ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก จนถึงวันที่ 2 มีนาคม มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วทั้งหมด 7,262 ราย พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 20 ราย (คิดเป็น 0.3%) แบ่งเป็นอาการไม่รุนแรง 19 ราย ได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด เหนื่อย ปวดเมื่อยตัว และคลื่นไส้ และอาการรุนแรง 1 ราย
  • เอกสารกำกับยาของวัคซีน Sinovac ระบุว่า ข้อมูลจากการวิจัยในประเทศอินโดนีเซียในอาสาสมัคร 1,620 ราย พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 71.6% ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด 33.3% ปวดกล้ามเนื้อ 25.2% ไข้ 2.5% ส่วนอาการแพ้พบเพียง 1 ราย โดยเป็นอาการแพ้แบบลมพิษ พบหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 วัน
  • แม้ว่าภาวะแพ้รุนแรงจะพบไม่บ่อย แต่มีโอกาสเกิดได้ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจ ในระยะแรกกระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ประจำเท่านั้น (ไม่รวมหน่วยบริการปฐมภูมิหรือคลินิกหมอครอบครัว) และต้องสังเกตอาการ 30 นาที หากมีอาการแพ้รุนแรงก็จะสามารถช่วยเหลือได้ทัน 

ปวดบริเวณที่ฉีด ไข้ และอ่อนเพลีย เป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่พบได้ตามปกติ เพราะวัคซีนที่ฉีดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถรับประทานยาบรรเทาอาการได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียนเยอะ หน้ามืด ต้องรีบไปพบแพทย์ และกรมควบคุมโรคก็จะมีการสอบสวนโรคว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 

 

ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก จนถึงวันที่ 2 มีนาคม มีผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด 7,262 ราย พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 20 ราย (คิดเป็น 0.3%) แบ่งเป็นอาการไม่รุนแรง 19 ราย ได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด เหนื่อย ปวดเมื่อยตัว และคลื่นไส้ และอาการรุนแรง 1 ราย อย่างที่หลายท่านน่าจะทราบจากข่าวแล้ว

 

หญิงอายุ 28 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มมีอาการอาเจียนหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 4 ชั่วโมง จึงรีบมาตรวจที่โรงพยาบาล พบว่า มีความดันโลหิตต่ำ แต่หลังได้รับการรักษาด้วยยาฉีด Adrenaline อาการดีขึ้น แสดงว่าบุคลากรคนนี้น่าจะมีภาวะแพ้รุนแรง แต่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ 

 

พยายบาลฉีดวัคซีนโควิด-19

 

ภาวะแพ้รุนแรงเป็นอย่างไร

ไม่เฉพาะวัคซีน ภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหารทะเล แพ้แมลงกัดต่อย อาการที่คล้ายกับภาวะแพ้ทั่วไปคือ ผื่นลมพิษขึ้นตามตัว คัน แต่จะมีอาการทางระบบอื่นร่วมได้ ได้แก่

 

  • อาการทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก
  • อาการทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว
  • อาการทางระบบไหลเวียนโลหิต เช่น หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ

 

จากรายงานภาวะแพ้จากการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech เข็มแรกในสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-23 ธันวาคม 2563 พบผู้ที่เกิดภาวะแพ้รุนแรงทั้งหมด 21 ราย จากผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด 1,893,360 โดส คิดเป็น 11.1 ราย ต่อ 1 ล้านโดส (เทียบกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1.31 ราย ต่อ 1 ล้านโดส) โดยภาวะแพ้รุนแรงส่วนใหญ่พบภายใน 15 นาทีแรกหลังฉีดวัคซีน

 

ทั้งหมดได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น และไม่มีผู้เสียชีวิต

 

ส่วนเอกสารกำกับยาของวัคซีน Sinovac ระบุว่า ข้อมูลจากการวิจัยในประเทศอินโดนีเซียในอาสาสมัคร 1,620 ราย พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 71.6% ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด 33.3% ปวดกล้ามเนื้อ 25.2% ไข้ 2.5% ส่วนอาการแพ้พบเพียง 1 ราย โดยเป็นอาการแพ้แบบลมพิษ พบหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 วัน

 

วัคซีนโควิด-19 ฝาสีส้ม

 

ถึงแม้ว่าภาวะแพ้รุนแรงจะพบไม่บ่อย แต่มีโอกาสเกิดได้ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจ ในระยะแรกกระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ประจำเท่านั้น (ไม่รวมหน่วยบริการปฐมภูมิหรือคลินิกหมอครอบครัว) และต้องสังเกตอาการ 30 นาที หากมีอาการแพ้รุนแรงก็จะสามารถช่วยเหลือได้ทัน 

 

นอกจากนี้ผู้ได้รับวัคซีนยังควรสังเกตอาการตนเองต่อ ผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักเกิดภายใน 1-2 วัน หากมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นก็ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ส่วนบัญชีทางการของไลน์ (LINE OA) ‘หมอพร้อม’ จะมีการติดตามอาการและเก็บข้อมูลผลข้างเคียงในวันที่ 1, 7 และ 30 หลังจากได้รับวัคซีนด้วย 

 

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 

อย่างไรก็ตาม อาการหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน (AEFI: Adverse Event Following Immunization) อาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนก็ได้ เพราะหลังจากฉีดวัคซีน ผู้รับวัคซีนมีโอกาสไปสัมผัสสิ่งกระตุ้นอื่น หรือผู้รับวัคซีนอาจมีอาการป่วยจากโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิมในเวลาใกล้เคียงกับการได้รับวัคซีนก็เป็นได้

 

โดยองค์การอนามัยโลกแบ่งประเภทสาเหตุของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนออกเป็น 5 กลุ่ม

 

  • ปฏิกิริยาของวัคซีน คือผลจากวัคซีนโดยตรง แบ่งเป็นอาการเฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด และอาดารต่อระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ไข้ ปวดเมื่อย ชัก ภาวะแพ้รุนแรงก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้

 

  • ความบกพร่องของวัคซีน หมายถึงวัคซีนไม่ได้มาตรฐาน เช่น การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราจากการควบคุมกระบวนการผลิตที่ไม่ดีพอ หรือการทำลายฤทธิ์ไม่มีประสิทธิภาพ

 

  • ความคลาดเคลื่อนด้านการให้บริการ เกิดจากการบริหารจัดการและวิธีการให้วัคซีน เช่น การเก็บรักษาวัคซีนไม่เหมาะสม การเตรียมวัคซีนไม่ถูกต้อง การฉีดวัคซีนผิดวิธีหรือเกินขนาดที่แนะนำ

 

  • ความกลัวหรือความกังวลต่อการฉีดวัคซีน เป็นการตอบสนองของแต่ละคน บางคนกลัวเข็ม บางคนกังวลผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ หายใจเร็ว หน้ามืด เป็นลม

 

  • เหตุการณ์ร่วมอื่นโดยบังเอิญ คือไม่ได้เป็นผลมาจากวัคซีนหรือการฉีดวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ที่บังเอิญเกิดขึ้นภายหลังจากได้รับวัคซีน เช่น การเสียชีวิตในผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอยู่เดิม

 

ยกตัวอย่างข่าวเมื่อต้นปี 2564 ผู้เสียชีวิต 23 รายหลังได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech เข็มแรกที่นอร์เวย์ หลายคนได้ยินก็ตื่นตระหนกว่าวัคซีนดังกล่าวไม่ปลอดภัย แต่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนก่อนคือผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตอยู่แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน กรณีนี้คณะผู้เชี่ยวชาญได้ลงความเห็นว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีนแต่อย่างใด

 

ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนจะต้องตระหนักว่าเหตุการณ์นั้นสามารถเกิดได้จากวัคซีนเอง การให้บริการของเจ้าหน้าที่ หรือไม่เกี่ยวกับวัคซีนเลย จึงควรรอฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะทบทวนสาเหตุอย่างละเอียด ก่อนจะสรุปว่าวัคซีนมีผลข้างเคียงรุนแรง จนกระทั่งไม่กล้ารับการฉีดวัคซีน

 

ผู้ที่มีประวัติแพ้ สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน Sinovac หรือวัคซีน AstraZenca คือ ผู้ที่แพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน (วัคซีนไม่มีส่วนผสมของไข่ ผู้แพ้ไข่สามารถฉีดได้) 

 

ส่วนประวัติแพ้อย่างอื่นยังไม่มีข้อมูลว่าจะทำให้เกิดอาการแพ้วัคซีนนี้หรือไม่ แต่ข้อมูลจากวัคซีน Pfizer-BioNTech ที่กล่าวถึงภาวะแพ้รุนแรงข้างต้น ในจำนวน 21 ราย มีผู้เคยแพ้ยา อาหาร หรือแมลงกัดต่อย 81% และมีประวัติแพ้รุนแรง 33% (รวมผู้ที่เคยแพ้วัคซีนพิษสุนัขบ้าและวัคซีนไข้หวัดใหญ่) ดังนั้นผู้ที่มีประวัติแพ้มาก่อนควรสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด

 

โดยสรุป การฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ไข้ อ่อนเพลีย เป็นปกติ ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ภาวะแพ้รุนแรง มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย ผู้ได้รับวัคซีนจะได้รับการสังเกตอาการที่โรงพยาบาล 30 นาที และเมื่อกลับบ้านไปมีความผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียนเยอะ หน้ามืด ควรรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X