×

นั่งในร้านได้! ร้านอาหารจะสร้างความมั่นใจว่าปลอดภัยจากโควิด-19 ได้อย่างไร

16.05.2021
  • LOADING...
นั่งในร้านได้! ร้านอาหารจะสร้างความมั่นใจว่าปลอดภัยจากโควิด-19 ได้อย่างไร

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • วานนี้ (15 พฤษภาคม 2564) โฆษก ศบค. ประกาศว่า จะมีการผ่อนคลายมาตรการพื้นที่สีแดงเข้ม (ปรับเหลือ 4 จังหวัด) สำหรับร้านอาหารให้สามารถนั่งรับประทานในร้านได้ 25% หรือโต๊ะ 4 คน นั่งได้ 1 คน โดยนั่งได้ถึงเวลา 21.00 น. และซื้อกลับบ้านได้ถึงเวลา 23.00 น. แต่ยังงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทว่า สถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงมีแนวโน้มคงที่ประมาณวันละ 2,000 รายมาตลอด
  • ร้านอาหารจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าปลอดภัยจากโควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง

 

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา ร้านอาหารในพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกรุงเทพฯ ถูกสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ต้องซื้อกลับบ้านหรือสั่งเดลิเวอรีเท่านั้น และจำกัดเวลาเปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. เจ้าของร้านและพนักงานตั้งแต่สตรีทฟู้ด ร้านอาหารทั่วไป แฟรนไชส์ในห้างสรรพสินค้า จนถึงภัตตาคาร ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

 

ล่าสุดวานนี้ (15 พฤษภาคม 2564) โฆษก ศบค. ประกาศว่า จะมีการผ่อนคลายมาตรการพื้นที่สีแดงเข้ม (ปรับเหลือ 4 จังหวัด) สำหรับร้านอาหารให้สามารถนั่งรับประทานในร้านได้ 25% หรือโต๊ะ 4 คน นั่งได้ 1 คน โดยนั่งได้ถึงเวลา 21.00 น. และซื้อกลับบ้านได้ถึง 23.00 น. แต่ยังงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทว่า สถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงมีแนวโน้มคงที่ประมาณวันละ 2,000 รายมาตลอด

 

ร้านอาหารจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าปลอดภัยจากโควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง

 

ทำไม ศบค. ถึงต้อง ‘ห้ามนั่ง’ ในร้านอาหาร

ก่อนอื่นคงต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจตอนที่ ศบค. ตัดสินใจสั่งห้ามนั่งในร้านอาหารและจำกัดเวลาเปิดร้านว่าน่าจะมีอยู่ด้วยกัน 2 เหตุผล คือ 

 

  • การระบาดในร้านอาหาร
  • การเดินทางของประชาชน

 

ประการแรกคือ การระบาดในร้านอาหาร ในวันที่ 29 เมษายน 2564 (วันที่มีการประกาศมาตรการ) โฆษก ศบค. ได้อธิบายชุดข้อมูล ‘คลัสเตอร์ร้านอาหาร’ ให้ประชาชนทราบว่า พบผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารประมาณ 300 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน เริ่มพบผู้ป่วยมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน และพบมากที่สุดช่วงสงกรานต์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อพบว่า

 

อันดับที่ 1 คือผู้สัมผัสร่วมบ้าน (อาจเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านที่มานั่งกับผู้ติดเชื้อที่ร้าน หรือเป็นผู้ติดเชื้อที่ร้านแพร่เชื้อต่อให้กับผู้สัมผัสที่บ้านก็ได้ ซึ่งอย่างหลังจะไม่เกี่ยวกับร้านโดยตรง) รองลงมาระบุไม่ได้ ในขณะที่ร้านชาบู หมูกระทะ สุกี้ เป็นอันดับที่ 3 (เช่น ร้านสุกี้จังหวัดนนทบุรี, ร้านหมูกระทะจังหวัดนครราชสีมา แต่จากข่าวน่าจะเป็นการติดเชื้อในกลุ่มพนักงานมากกว่า)

 

ชุดข้อมูลนี้ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นการแพร่ระบาดจากการ ‘นั่งในร้าน’ ของลูกค้า หรือการ ‘ทำงานที่ร้าน’ ของพนักงาน ทั้งที่มาตรการควบคุมโรคไม่เหมือนกัน

 

แต่ในประเทศจีน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีรายงานการระบาดในร้านอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศในโซนเดียวกัน ดังภาพที่ 1 โดยผู้ติดเชื้อรายแรก (สีม่วง) ยังไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อต่อให้กับผู้ที่นั่งโต๊ะอาหารข้างกันได้ตามการหมุนเวียนของอากาศ ในเหตุการณ์นี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม (สีแดง) 9 ราย แต่มี 5 รายที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวเดียวกันกับผู้ป่วยรายแรก

 

 

แบบจำลองการติดเชื้อในร้านอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศ เมืองกวางโจว ประเทศจีน (Yuguo Li, et al., 2020)

 

ซึ่งล่าสุด (7 พฤษภาคม 2564) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ได้ปรับปรุงองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อของโรคโควิด-19 ว่าสามารถแพร่ได้ไกลกว่า 2 เมตรในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อนานกว่า 15 นาที เมื่อเปิดให้นั่งในร้านได้ในรอบนี้ ผู้ที่นั่งรับประทานในโซนเดียวกับผู้ติดเชื้อก็จะจัดเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด

 

ประการที่ 2 การเดินทาง (Mobility) ของประชาชน การงดนั่งในร้านและการจำกัดเวลาเปิดร้านมีผลให้ชะลอการระบาดทางอ้อม เพราะประชาชนจะเดินทางออกมานอกบ้านน้อยลง หรือใช้เวลาอยู่นอกบ้านลดลง จึงลดความถี่ในการสัมผัสเชื้อ โดยทฤษฎีแล้วจะลดค่าอาร์ (Reproductive number: R) และเมื่อค่านี้ต่ำกว่า 1 ก็จะหยุดการระบาดในชุมชนได้

 

การสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

เนื่องจากมาตรการหลักในการควบคุมโรคโควิด-19 ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ปฏิบัติเหมือนกันคือ DMHTTA ได้แก่ การเว้นระยะห่าง (D) การสวมหน้ากาก (M) การล้างมือบ่อยๆ (H) การวัดอุณหภูมิ (T) การตรวจหาเชื้อ (T) และการสแกนไทยชนะ (A) ความเสี่ยงของการระบาดในร้านอาหารจะมี 2 จุดสำคัญ คือ

 

  • การระบาดระหว่างพนักงาน-พนักงาน
  • การระบาดระหว่างลูกค้า-ลูกค้า

 

การระบาดระหว่างพนักงาน-พนักงาน

กรณีการระบาดระหว่างพนักงานด้วยกันเองนี้จะเหมือนกับการระบาดในสถานที่ทำงาน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนที่มักจะติดเชื้อระหว่างช่วงพักหรือ ‘นอกเวลางาน’ เช่น การพูดคุยกันโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย การนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน การกินเลี้ยงหลังเลิกงาน หรือการยืนจับกลุ่มกันสูบบุหรี่หลังร้านอาหาร เป็นต้น

 

การป้องกันจึงควรกำชับพนักงานมาตรการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาภายในร้าน ไม่ดึงหน้ากากอนามัยลงเพื่อพูดคุย ไม่นั่งรับประทานอาหารรวมกัน ยกเว้นพักรวมกันในห้องเช่า สมาชิกแต่ละห้องไม่ควรปะปนกัน (แยกเป็นกลุ่มให้เล็กที่สุด) สำหรับลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อตามที่สำนักงานประกันสังคมจัดบริการตรวจคัดกรองให้

 

นอกจากนี้เจ้าของและพนักงานร้านอาหารซึ่งต้องสัมผัสกับผู้อื่นจำนวนมาก ควรเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยว วัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและอาการรุนแรง ทำให้น่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มพนักงาน และถ้าติดเชื้อก็จะไม่มีอาการรุนแรง

 

การระบาดระหว่างลูกค้า-ลูกค้า

การแพร่เชื้อของโควิด-19 แบ่งออกเป็น 2 ช่องทางหลัก คือ 

 

  • การหายใจ 
  • การสัมผัส 

 

สำหรับการหายใจจะแบ่งตามขนาดของละอองสารคัดหลั่ง ถ้ามีขนาดใหญ่จะป้องกันด้วยการเว้นระยะห่าง (Physical Distancing) จัดที่นั่งและโต๊ะให้ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร ถ้าไม่สามารถเว้นได้ ควรมีฉากกั้น (และทำความสะอาดฉากกั้นสม่ำเสมอ) สำหรับครอบครัวเดียวกันควรจัดให้นั่งด้วยกันได้ เพราะอาศัยอยู่และเดินทางมาด้วยกันอยู่แล้ว

 

ถ้าละอองมีขนาดเล็กมากอาจลอยได้ไกลกว่า 2 เมตร ต้องป้องกันด้วยการระบายอากาศ (Ventilation) เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเข้มข้นของไวรัส ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดตัวเลขที่แน่นอน แต่มีข้อเสนอว่าควรมีการระบายอากาศ 4-6 ACH (Air Changes per Hour) หมายถึงการไหลเวียนของอากาศ 4-6 เท่าของปริมาตรห้องต่อ 1 ชั่วโมง

 

ตรงนี้ต้องขอให้วิศวกรช่วยคำนวณและวางแผน ซึ่ง CDC แนะนำว่า สามารถทำได้โดยการเปิดหน้าต่าง (ร้านอาหารนอกอาคาร เช่น สตรีทฟู้ด ไม่ต้องกังวลในประเด็นนี้) การติดตั้งพัดลมดูดอากาศ หรืออาจติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศที่เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศที่ใช้แผ่นกรอง HEPA (High-Efficiency Particulate Air) เพิ่มเติมด้วย

 

สุดท้ายการสัมผัส ลูกค้ามักจะล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านอยู่แล้ว ช่องทางนี้น่าจะติดต่อกันได้น้อย ยกเว้นพนักงานที่สวมถุงมือยางตลอดเวลา หยิบทั้งจานสะอาด เก็บจานสกปรก และเช็ดถูโต๊ะด้วยถุงมือคู่เดิม ทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อระหว่างโต๊ะได้ ดังนั้นพนักงานไม่จำเป็นต้องสวมถุงมือ แต่ล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังหยิบสิ่งของจากลูกค้าแทน

 

ดังนั้นร้านจะต้องจัดจุดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือจัดอ่างและสบู่ล้างมือไว้สำหรับพนักงานภายในร้าน เพราะถ้าจะให้พนักงานสวมถุงมือก็ต้องเปลี่ยนถุงมือทุกครั้งที่หยิบของเสร็จ (สังเกตเจ้าหน้าที่ที่ Swab เก็บตัวอย่าง หรือพยาบาลในโรงพยาบาลต้องเปลี่ยนถุงมือใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้เข้ารับการตรวจ/ผู้ป่วย) ซึ่งน่าจะสิ้นเปลืองสำหรับร้านอาหาร

 

สรุปก็คือถึงแม้ ศบค. จะอนุญาตให้นั่งในร้านอาหารได้ แต่ด้วยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ยังคงคงที่ประมาณวันละ 2,000 ราย ร้านอาหารโดยเฉพาะร้านที่ติดเครื่องปรับอากาศ จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และลดความเสี่ยงในการระบาดด้วยการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง เพิ่มการระบายอากาศ และให้พนักงานล้างมือบ่อยๆ แทนการสวมถุงมือ รวมถึงการป้องกันการระบาดระหว่างพนักงานด้วยกันเองด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising