×

ทีมพรีเมียร์ลีกกับปฏิบัติการตามล่านักเตะ Homegrown หลัง Brexit

20.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เป้าหมายและความตั้งใจของกฎ Homegrown เดิมคือ การบังคับให้สโมสรทุกแห่งต้องมีผู้เล่นท้องถิ่นอยู่ในทีมด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมโอกาสให้แก่นักเตะเหล่านี้ที่ประสบปัญหาในเรื่องของโอกาสในการลงสนาม เนื่องจากไม่สามารถต่อสู้กับนักเตะต่างชาติที่มีความพร้อมและฝีเท้าที่ดีกว่า
  • นิยามของนักเตะ Homegrown ระหว่างพรีเมียร์ลีกและยูฟ่ามีความแตกต่างกัน
  • หลัง Brexit สมาคมฟุตบอลอังกฤษกำลังพิจารณาการเพิ่มโควตานักเตะ Homegrown จากเดิม 8 เป็น 12 คน ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้นักเตะในกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าเดิม

ข่าวการย้ายทีมของ โจ ฮาร์ต อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติอังกฤษมาร่วมทัพ ‘ไก่เดือยทอง’ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ดูเผินๆ จะเป็นเหมือนการเสริมทัพด้วยการดึงตัวผู้เล่นที่มีประสบการณ์สูงเข้ามา

 

แต่ในเบื้องหลังแล้ว โจ ฮาร์ต ไม่ได้มีเพียงแค่ประสบการณ์ที่มอบให้แก่สเปอร์สต้นสังกัดใหม่เท่านั้น แต่ยังมีการวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะประตูวัย 33 ปีผู้นี้มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมกับสถานะของการเป็นผู้เล่นในกลุ่ม Homegrown หรือผู้เล่นท้องถิ่น ซึ่งกำลังจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ โดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีก

 

ความจำเป็นนั้นเกิดจากการที่อังกฤษกำลังอยู่ระหว่างการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือที่เรียกกันว่า Brexit 

 

อย่างไรก็ดี การเซ็นสัญญากับนักเตะ Homegrown แบบนี้คือสิ่งจำเป็นจริงๆ เป็นผลดีต่อวงการฟุตบอล หรือเป็นแค่สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ไม่ผิดกฎ?

 

นักเตะ Homegrown ในนิยามของพรีเมียร์ลีก

ในพรีเมียร์ลีก กฎผู้เล่นท้องถิ่น หรือ Homegrown นั้นมีการใช้มาเป็นระยะเวลาร่วมทศวรรษแล้ว โดยทุกทีมจะต้องมีผู้เล่นในข่ายนี้จำนวน 8 คน จาก 25 คนที่ลงทะเบียน

 

เป้าหมายและความตั้งใจคือการบังคับให้สโมสรทุกแห่งต้องมีผู้เล่นท้องถิ่น หรือผู้เล่นชาวอังกฤษอยู่ในทีมด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมโอกาสให้แก่นักเตะเหล่านี้ที่ประสบปัญหาในเรื่องของโอกาสในการลงสนาม เนื่องจากไม่สามารถต่อสู้กับนักเตะต่างชาติที่มีความพร้อมและฝีเท้าที่ดีกว่า

 

ปัญหาอยู่ที่ เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงแล้ว นักเตะ Homegrown นั้นก็ไม่ได้เป็นนักเตะ Homegrown แบบนั้นจริงๆ

 

เพราะถึงจะมีนิยามของคำว่า Homegrown ว่าต้องเป็น ‘คนอังกฤษ’ แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะเป็นนักฟุตบอลเชื้อชาติใดก็ได้ ขอแค่ได้อยู่ในทีมสโมสรของอังกฤษหรือเวลส์เป็นเวลา 3 ปีก่อนอายุครบ 21 ปี

 

สมมติเป็นนักเตะคนไทย แต่ได้ฝึกฝนในอคาเดมีของสโมสรในอังกฤษครบ 3 ปีก่อนอายุ 21 ปี (อาจจะฝึกตั้งแต่ 15 ปี หรือต่อให้ย้ายมาช่วง 17-18 ปีก็ยังทัน) ก็จัดเข้าเป็นนักเตะ Homegrown เหมือนกัน

 

และแต่ละสโมสรยังมี ‘ทางเลี่ยง’ ในการเอาตัวรอดจากกฎนี้ ด้วยการใส่ชื่อผู้เล่นเยาวชนที่อายุไม่เกิน 21 ปีลงไปในทีมชุดใหญ่ได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าเป็นคนชาติไหน ขอแค่อายุไม่เกิน 21 ปีจะใส่ชื่อได้หมด

 

แต่จากการที่อังกฤษจะออกจาก Brexit ทำให้มีการพูดคุยกันเรื่องของโควตาว่าจะมีการเพิ่มเติมหรือไม่เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่นักเตะภายในประเทศมากขึ้น

 

เบน เดวิส เป็น Homegrown ในพรีเมียร์ลีก แต่ไม่เป็น Homegrown ในรายการของยูฟ่า

 

นักเตะ Homegrown ในนิยามของยูฟ่า

ตรงนี้เองที่เป็นประเด็น

 

เพราะในนิยามของยูฟ่าแล้ว นักเตะ Homegrown คือนักเตะเชื้อชาติใดก็ได้ แต่ขอให้ได้ฝึกฝนในอคาเดมีของสโมสรนั้น หรือสโมสรไหนก็ได้ภายใต้สมาคมฟุตบอลเดียวกัน (เช่น สมาคมฟุตบอลอังกฤษ)​ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ในช่วงอายุ 15-21 ปี

 

ในการส่งชื่อให้กับยูฟ่านั้น หากสโมสรต้องการลงทะเบียนเต็ม 25 คนในลิสต์ A (ชุดแรก) ก็จะต้องมีผู้เล่น Homegrown รวมทั้งหมด 8 คน

 

ใน 8 คนนั้นจะต้องมี 4 คนที่มาจากระบบเยาวชนของสโมสร

 

ส่วนในลิสต์ B ที่สามารถเสริมได้ จะต้องเป็นผู้เล่นที่เกิดหลัง 1 มกราคม 1995 โดยสโมสรใส่ชื่อนักเตะในลิสต์ B ได้ไม่จำกัด

 

ปัญหาที่ไม่น่าเป็นปัญหา

จากเรื่องนี้ทำให้มีบางทีมที่ประสบปัญหา เช่น สเปอร์ส โดยเฉพาะกับรายการของยูฟ่า

 

โดยที่ผ่านมานักเตะบางรายอย่างเช่น เบน เดวิส แบ็กซ้ายซึ่งเป็นชาวเวลส์ แต่ไม่ได้เป็นผลผลิตโดยตรงของสเปอร์ส และไม่ได้ฝึกฝนกับสโมสรในอังกฤษ ทำให้ขาดสิทธิ์ที่จะได้เป็นนักเตะในกลุ่ม Homegrown ไปด้วย

 

เช่นเดียวกับ เอริค ไดเออร์ นักเตะอังกฤษที่ไปโตในโปรตุเกส ก็ไม่ได้เป็น Homegrown ด้วยเช่นกัน

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้สเปอร์สลงทะเบียนชื่อในลิสต์ A ได้เพียงแค่ 21 คนเท่านั้นในรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รอบ 16 ทีมสุดท้ายที่ผ่านมา

 

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ก็มีปัญหาในแบบเดียวกันในปี 2019 โดยพวกเขาลงทะเบียนผู้เล่น ‘ต่างชาติ’ เต็มครบ 17 คนแล้ว ดังนั้นหาก เป๊ป กวาร์ดิโอลา ต้องการเพิ่มนักเตะที่มีประสบการณ์ที่ไม่ใช่ดาวรุ่งเข้ามาในทีม ก็ต้องใช้ผู้เล่นที่เป็น Homegrown เท่านั้น

 

สุดท้าย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เลยต้องลงทุนซื้อ แองเจลิโน แบ็กซ้ายอดีตอคาเดมีของตัวเองที่ปล่อยให้กับพีเอสวี ไอนด์โฮเฟนในฮอลแลนด์ไปกลับมา เพียงเพราะแองเจลิโนเป็นผู้เล่น Homegrown ทั้งในพรีเมียร์ลีกและในแชมเปียนส์ลีก

 

เมสัน กรีนวูด (ขวา) เป็นกลุ่มนักเตะอายุต่ำกว่า 21 ปี ที่อนาคตจะเป็น Homegrown แบบเดียวกับแฮร์รี แม็กไกวร์

 

สถานการณ์ปัจจุบันและวิธีแก้ปัญหาเรื่องผู้เล่น Homegrown

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกทีมที่จะมีผู้เล่น Homegrown ครบตามโควตา ดังนั้นมันต้องมีวิธีการหาทางหนีทีไล่เผื่อเอาไว้

 

วิธีการตีความกฎแบบง่ายที่สุดทั้งในพรีเมียร์ลีกและในรายการของยูฟ่าคือ ‘อย่ามีผู้เล่นนอก Homegrown มากกว่า 17 คนพอ’

 

ที่เหลือคือมีผู้เล่น Homegrown เท่าไรก็ให้บวกเพิ่มไปตามจำนวนเท่านั้น เช่น มี Homegrown 6 คนในทีม ก็บวกเพิ่มในการลงทะเบียนผู้เล่นไปเป็น 23 คน หรือถ้ามีผู้เล่น Homegrown แค่ 5 คน ก็จะลงทะเบียนได้แค่ 22 คน

 

เพียงแต่ถ้ามีผู้เล่น Homegrown น้อยเท่าไร ทีมก็จะมีขนาดเล็กมากขึ้นเท่านั้น 

 

ปัญหาอีกอย่างสำหรับผู้เล่นที่ไม่ใช้ Homegrown แต่ใช้วิธีการ ‘เลี่ยง’ ด้วยการอาศัยว่าอายุไม่ถึง 21 ปี (ทำให้ใส่ในลิสต์ผู้เล่นเยาวชนได้) เมื่อนักเตะอายุครบ 22 ปีปุ๊บ ก็จะเลี่ยงไม่ได้อีก เหมือนที่เชลซีเจอในรายของ คริสเตียน พูลิซิช (จะครบ 22 ปีในเดือนกันยายนนี้)

 

ดังนั้นผู้เล่น Homegrown จึงเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะในหมู่ทีมระดับท็อปที่นิยมผู้เล่นต่างชาติ โดยสเปอร์สมีนักเตะในกลุ่มนี้แค่ 4 คนคือ เดเล อัลลี, แฮร์รี เคน, เบน เดวิส (ซึ่งจะไม่เป็น Homegrown ในรายการของยูฟ่า) และ แฮร์รี วิงค์ส (ซึ่งมีข่าวว่าเป็นที่ต้องการของแมนเชสเตอร์ ซิตี้) การได้ตัว โจ ฮาร์ต มาจะเป็นการเพิ่มโควตาผู้เล่นในทีมไปด้วยในตัว

 

แล้วทีมอื่นในกลุ่ม Top 6 มีปัญหาเหมือนกันไหม?

 

ในการลงทะเบียนกับพรีเมียร์ลีก อาร์เซนอลมี Homegrown อยู่ 6 คนด้วยกันคือ เฮกเตอร์ เบเยริน, คาลัม แชมเบอร์ส, ร็อบ โฮลดิง, เอนส์ลีย์ เมตแลนด์ ไนล์ส, เอมิเลียโน มาร์ติเนซ และ แมตต์ เมซีย์ 

 

แต่พวกเขายังมี วิลเลียม ซาลิบา, มัตเตโอ เกวนดูซี, บูกาโย ซากา,​ กาเบรียล มาร์ติเนลลี, รีสส์ เนลสัน และ เอ็ดดี เอ็นเคเทียห์ ที่ลงทะเบียนในกลุ่มผู้เล่นอายุต่ำกว่า 21 ปี

 

เชลซีมีนักเตะ Homegrown 5 คน ได้แก่ แทมมี อับราฮัม, รอสส์ บาร์กลีย์, อันเดรียส คริสเตนเซน, ฟิกาโย โทโมรี และ รูเบน ลอฟตัส-ชีค แต่ยังมีกลุ่มนักเตะอายุต่ำกว่า 21 ปีอย่าง รีซ เจมส์, แคลลัม ฮัดสัน-โอดอย, เมสัน เมาท์ และ คริสเตียน พูลิซิช (ซึ่งจะไม่อยู่ในเกณฑ์แล้ว)

 

แมนเชสเตอร์ ซิตี้มีแค่ 4 คนคือ สกอตต์ คาร์สัน (ทำให้ต้องต่อสัญญาออกไปอีก 1 ปี), ราฮีม สเตอร์ลิง, จอห์น สโตนส์ (อาจจะถูกขาย) และ ไคล์ วอล์กเกอร์ ส่วน เอริค การ์เซีย, ฟิล โฟเดน และ เฟร์ราน ตอร์เรส อยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี

 

ลิเวอร์พูลมี Homegrown อยู่ 8 คนเต็มโควตาถือว่าบริหารจัดการได้ดี แต่จากการที่ เปโดร ชิริเบยา, อดัม ลัลลานา, แอนดี โลเนอร์แกน และ นาธาเนียล ไคลน์ ย้ายออกไปแล้ว ทำให้เหลือนักเตะ Homegrown เพียงแค่ โจ โกเมซ, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เจมส์ มิลเนอร์ และ อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน ที่อยู่ในข่าย 

 

แต่แชมป์ล่าสุดยังใส่ชื่อของ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, นีโค วิลเลียมส์ และ เคอร์ติส โจนส์ ในกลุ่มผู้เล่นอายุต่ำกว่า 21 ปีได้ และเมื่ออายุถึง 22 ปีกลุ่มนี้จะจัดเป็นนักเตะ Homegrown เอง

 

ที่สบายที่สุดคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งมีนักเตะ Homegrown มากถึง 13 คนด้วยกัน ได้แก่ ลี แกรนท์, อันเดรียส เปเรรา, แดน เจมส์, ฟิล โจนส์, เจสซี ลินการ์ด, แฮร์รี แม็กไกวร์, สกอตต์ แม็คโทมิเนย์, เดเมตรี มิตเชลล์, พอล ป็อกบา, มาร์คัส แรชฟอร์ด, ลุค ชอว์, อักเซล ตวนเซเบ และ อารอน วาน บิสซากา

 

ส่วนโควตานักเตะอายุต่ำกว่า 21 ปียังมี เมสัน กรีนวูด และ แบรนดอน วิลเลียมส์ รวมอยู่ด้วย

 

แล้วถ้าเพิ่ม Homegrown เป็น 12 คน?

นี่คือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และเป็นสิ่งที่จะทำให้นักเตะ Homegrown ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าเดิม (และอาจจะพอตอบคำถามได้ว่านักเตะอย่าง เบน ชิลเวลล์ ทำไมค่าตัวถึงอาจทะลุไปที่ 70 ล้านปอนด์) เมื่อทางด้านสมาคมฟุตบอลอังกฤษกำลังพิจารณาร่วมกันกับทุกฝ่ายในการลดจำนวนนักเตะต่างชาติด้วยการเพิ่มโควตานักเตะ Homegrown เข้าไป

 

จาก 8 ให้เป็น 12 เพื่อให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งได้พิสูจน์ตัวเองมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ทางด้านพรีเมียร์ลีกไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้นัก โดยมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนแต่อย่างใด โดยเชื่อว่าการเพิ่มจำนวนนั้นอาจจะกลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันของทีมพรีเมียร์ลีกในเวทียุโรป

 

ที่สำคัญที่สุดที่เราได้เห็นตลอดมาคือ ไม่ใช่นักเตะ Homegrown ทุกคนจะได้ลงเล่นเต็มที่ หลายคนมีไว้เพื่อให้มันครบโควตาเท่านั้นด้วยซ้ำไป

 

ดังนั้นเรื่องนี้ยังคงต้องหารือกันอีกยกใหญ่ ซึ่งทุกทีมจับตามองอย่างใกล้ชิดและต้องมีการเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้าหากมีการเพิ่มจำนวนกันจริงๆ

 

เพราะถึงเวลานั้นรับประกันได้ว่า ‘ฝุ่นตลบ’ แน่นอน!

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising