×

‘Boehlyball’ เชลซีซื้อนักเตะเฉียด 1 พันล้านปอนด์ได้อย่างไรโดยไม่ผิดกฎ FFP?

15.08.2023
  • LOADING...
Todd Boehly

สภาพของแฟนบอลลิเวอร์พูลทั่วโลกอาจไม่ได้ต่างกันมากนัก คือเหม่อลอย แววตาไม่สดใส ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาพ่ายแพ้ต่อเชลซีในเกมนัดแรกของพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่ 2023/24

           

แต่เป็นเพราะพวกเขาพ่ายแพ้นอกสนามอย่างย่อยยับต่อคู่ปรับจากลอนดอนที่เชื่อว่าต่อจากนี้จะกลับมาเป็น Rivalry ข้ามถิ่นกันเหมือนครั้งหนึ่งที่เคยมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยของ ราฟา เบนิเตซ กับ โชเซ มูรินโญ

           

ตัดประเด็นความล้มเหลวในการเจรจาของลิเวอร์พูลที่พลาดการได้ตัว มอยเซส ไกเซโด ชนิดหน้าแตกหมอไม่รับเย็บ เมื่ออุตส่าห์รีบปิดดีลกับไบรท์ตันตัดหน้าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 สิงหาคม) และกำลังจะเสียเป้าหมายหลักที่คิดว่าได้ชัวร์ๆ มาเป็นแรมเดือนอย่าง โรเมโอ ลาเวีย ที่ขอเลือกย้ายมาร่วมทีมเชลซีอีกคนไปก่อน

           

คำถามสำคัญที่วงการฟุตบอลอังกฤษกำลังถกเถียงกันอย่างเมามันอยู่ที่เชลซี

           

เพราะการได้ไกเซโดมาร่วมทีมด้วยค่าตัวสถิติสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ 115 ล้านปอนด์ ซึ่งก็ทำลายสถิติเดิมของ เอนโซ เฟร์นันเดซ กองกลางจอมทัพของทีมที่ย้ายมาจากเบนฟิกาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดการใช้จ่ายของเชลซีในเวลานี้แตะหลัก 900 ล้านปอนด์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

           

โดยที่คาดว่าในสัปดาห์นี้ยอดจะขยับไปอีกเพราะกำลังจะได้ตัวลาเวีย กองกลางอนาคตไกลมาจากเซาแธมป์ตันด้วยค่าตัวที่คาดว่าจะจบที่ 60 ล้านปอนด์ เท่ากับที่ลิเวอร์พูลตกลงกับทีมแดนใต้ได้สำเร็จ และยังน่าจะมีนักเตะเข้ามาเพิ่มอีกโดยมีชื่อของ ไมเคิล โอลิเซ ปีกฝีเท้าจัดจากคริสตัล พาเลซอีกราย

           

นั่นหมายถึงเชลซีมีโอกาสจะใช้จ่ายถึง 1 พันล้านปอนด์ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 รอบตลาดการซื้อขายเท่านั้น

           

พวกเขาทำได้อย่างไร? มันไม่ผิดกฎการเงิน Financial Fair Play หรือ?

 

 

ค่าตัวคือภาพลวงตา

The Athletic สื่อกีฬาระดับโลกพยายามอธิบายกลเม็ดวิธีการซื้อขายผู้เล่นของเชลซี โดยบอกว่าสิ่งแรกที่เราต้องรู้คือการที่เราต้องพยายามลบความเข้าใจพื้นฐานที่มีมาแต่เดิมออกไปก่อน

 

สิ่งนั้นก็คือ ‘ค่าตัว’​ (Transfer Fee)

 

สมมติสโมสร A เซ็นสัญญาผู้เล่นด้วยค่าตัว 50 ล้านปอนด์ และให้ค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 100,000 ปอนด์เป็นเวลา 5 ปี กับสโมสร B ที่ได้นักเตะมาฟรีแต่ให้ค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 400,000 ปอนด์ คำถามคือผู้เล่นของสโมสรไหนที่แพงกว่ากัน?

 

คำตอบคือสโมสร B เพราะค่าเหนื่อยระดับนี้คิดเป็นเงินจำนวนเฉียดๆ 20 ล้านปอนด์ ขณะที่นักเตะของสโมสร A นั้นค่าตัว 50 ล้านปอนด์จะแบ่งจ่ายในสัญญาระยะเวลา 5 ปี รวมกับค่าเหนื่อยอีก 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ คิดแล้วจะตกประมาณปีละ 15 ล้านปอนด์

 

นี่คือการยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ตัวเลขรายจ่ายประจำปี’ ที่จะถูกบันทึกลงไป

 

 

Loophole ช่องลับจับไม่ได้หรอก

ทีนี้ประเด็นอ่อนไหวที่มีการตั้งข้อสังเกตกันมาก (ในระดับที่สโมสรพรีเมียร์ลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิเวอร์พูล เตรียมขอให้มีการตรวจสอบการกระทำ) คือการที่เชลซีพยายามใช้ช่องโหว่ (Loophole) ของกฎทางการเงินด้วยวิธีการทางบัญชีที่เรียกว่า ‘ค่าตัดจำหน่าย’ (Amortization)

           

Amortization เป็นเทคนิคทางบัญชีที่ทำให้แทนที่จะจ่ายยอดเดียวเยอะๆ ภายในระยะเวลาสั้นๆ 3 ปี 5 ปีก็ยืดระยะเวลาออกไปเป็น 8 ปีแทน เพราะเดิมไม่มีกฎข้อบังคับตายตัวว่าจะมีกรอบระยะเวลาในการเซ็นสัญญาเท่าไร

           

พูดง่ายๆ คือจะเซ็นสัญญากัน 10 ปีก็ได้ไม่ได้ผิดกฎ ซึ่งก็หมายถึงแทนที่จะจ่ายค่าเหนื่อยสูงๆ 200,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์เป็นเวลา 4 ปี ก็กลายเป็นจ่ายแค่ 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 8 ปีแทน

           

สำหรับนักฟุตบอลสัญญายาวคือความมั่นคงอย่างหนึ่ง ยิ่งสัญญายาวเท่าไรก็ยิ่งดี ซึ่งสำหรับพวกเขาไม่มีอะไรต้องเสียแม้แต่น้อย (และนั่นเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พวกเขาได้ตัว มูดริก, เอนโซ, ไกเซโด และกำลังจะได้ลาเวีย)

           

เพียงแต่ในเรื่องนี้ UEFA จับสังเกตได้และพยายามอุดช่องโหว่นี้ด้วยการระบุไปในกฎการเงินชัดเจนว่าจะไม่สามารถใช้วิธี Amortization ของเงินค่าตัวการย้ายทีมได้เกิน 5 ปีอีกต่อไป ขณะที่พรีเมียร์ลีกยังไม่มีการจัดการในประเด็นนี้

           

เมื่อรวมกับการที่เชลซีไม่ได้เข้าแข่งขันในรายการของ UEFA ในฤดูกาลนี้ ก็กลายเป็นความได้เปรียบไปอีก เพราะสามารถเดินหน้าตามสูตรของตัวเองได้โดยไม่ต้องกังวล เอาไว้ฤดูกาลหน้าหากทำผลงานดีได้กลับไปเข้าร่วมก็ค่อยว่ากันใหม่

 

 

ซื้อมาก็ขายไป

อย่างไรก็ดี ถึงยอดการใช้จ่ายของเชลซีจะสูงมาก แต่พวกเขาไม่ได้หน้ามืดซื้อเข้ามาอย่างเดียว

           

ในทางตรงกันข้ามช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาเชลซีเองก็ปล่อยตัวนักเตะออกจากทีมเยอะมากเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ทำเงินได้อย่าง ไค ฮาเวิร์ตซ์ (อาร์เซนอล), เมสัน เมาท์ (แมนฯ ยูไนเต็ด), มาเตโอ โควาซิช (แมนฯ ซิตี้), คาลิดู คูลิบาลี และ เอดูอาร์ เมนดี้ (ซาอุดีโปรลีก)

           

ทั้งหมดนี้ได้เงินกลับเข้าบัญชีมาประมาณ 200 ล้านปอนด์ และเมื่อรวมกับ 2 รอบตลาดการซื้อขายก่อนหน้านี้จะมียอดเงินจากการขายนักเตะราว 250 ล้านปอนด์

           

ยอดมันอาจจะหักลบกับยอดการใช้จ่ายได้ไม่มากนัก แต่ว่าในทางบัญชีแล้วมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะยอดเงินเต็มจากการขาย เช่น ไค ฮาเวิร์ตซ์ 65 ล้านปอนด์ จะกลับมาในบัญชีแบบ ‘เต็มจำนวน’ ทันที ซึ่งจะแตกต่างจากยอดการจ่ายที่จะถูกแบ่งชำระเป็นก้อนแทน

           

ข่าวดีที่ The Athletic บอก คือการที่นักเตะชุดดาวดังที่ขายออกไปนั้นทางบัญชีแล้วจะเป็น ‘กำไร’ ของสโมสร ลำพังเพียงแค่ฮาเวิร์ตซ์, เมาท์ และโควาซิช รวมกันก็กำไรเกือบ 100 ล้านปอนด์ ในทางทฤษฎีแล้วอาจจะมีค่าเกือบเท่า 500 ล้านปอนด์ ซึ่งในเรื่องนี้หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเชลซีจำเป็นจะต้องหาเงินรายได้เข้ามาในจำนวนเท่าๆ กันในช่วงระยะเวลา 5 ปีเพื่อชดเชยกับเงินค่าย้ายทีมที่จะต้องจ่าย

 

 

มายากลบัญชีลูกหนัง

ตามการประเมินแล้วตอนนี้เชลซีลงบัญชีเงินที่จ่ายค่าย้ายทีมของนักฟุตบอลเอาไว้ที่ 157.2 ล้านปอนด์ต่อรอบตลาดการซื้อขาย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำอย่างมีนัยสำคัญเพราะได้รับประโยชน์จากกำไรจากการขายผู้เล่นไป 149.6 ล้านปอนด์ใน 3 รอบตลาดการซื้อขายที่ผ่านมา (ฤดูร้อน 2022, ฤดูหนาว 2023, ฤดูร้อน 2023)

           

อย่างไรก็ดีมันเป็นแค่การประเมิน ตัวเลขจริงๆ ในบัญชีจะมีการเปิดเผยก็ต่อเมื่อเกือบ 1 ปีให้หลังจากการปิดยอด (เช่น บัญชีประจำปี 2023 จะได้เห็นในปี 2024)

           

การจะดูว่าเชลซีผิดต่อกฎ FFP หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องรอจับตาดูกันอีกที ซึ่งก็ไม่ใช่แค่แฟนบอลที่จับตา แต่ทุกสโมสรรวมถึง UEFA และพรีเมียร์ลีกเองก็ต้องจับตาด้วยเช่นกัน เพราะเดิมเชลซีก็เป็นสโมสรที่อยู่ในข่ายต้องจับตาเป็นพิเศษอยู่แล้วจากการที่ขาดทุนถึง 156 ล้านปอนด์ในปี 2021 และเมื่อปีกลายขาดทุน 121 ล้านปอนด์

           

ตามกฎ FFP ถึง UEFA จะมีการผ่อนปรนให้ขาดทุนได้ 90 ล้านยูโรในช่วงระยะเวลา 3 ปี แต่ตัวเลขดังกล่าวยังสูงและมีความเสี่ยงอยู่ดี ซึ่งหนทางที่จะลดการขาดทุนได้มาจากการขายผู้เล่น, การหาเงินรายได้จากการตลาดมากขึ้น รวมถึงการหาทางกลับไปแชมเปียนส์ลีกให้ได้ (รายได้ต่อเกมในบ้าน 3-4 ล้านปอนด์ต่อนัด)

           

สิ่งที่ ทอดด์ โบห์ลีย์ รวมถึง Clearlake Capital ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กำลังร่วมกันทำนับตั้งแต่เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรต่อจาก โรมัน อบราโมวิช ที่ถูกบีบให้ขายสโมสรคือการพยายามสร้างทีมขึ้นมาใหม่ที่ประกอบไปด้วยสตาร์หน้าใหม่ที่มีสัญญาระยะยาว กับกลุ่มของดาวรุ่งสโมสรที่จะดันขึ้นมาหรือขายออกไปเพื่อทำกำไร

           

อีกเรื่องที่ทำสำเร็จแล้วคือการลดการจ่ายค่าเหนื่อยของสโมสรลงมา (ผ่านวิธีใช้ช่องโหว่เซ็นสัญญายาวนี่แหละ) ทำให้แต่ละคนจะได้รับค่าเหนื่อยน้อยกว่ากลุ่มนักเตะที่ย้ายมาในยุคของอบราโมวิช ที่มีสไตล์จ่ายค่าเหนื่อยสูงกว่าตลาดเพื่อมัดใจ โดยที่ค่าเหนื่อยพื้นฐานนั้นสูงอยู่แล้วชนิดไม่ต้องมีโบนัสตามผลงานใดๆ

 

 

High Risk High Return?

ในภาพรวมแล้วสิ่งที่โบห์ลีย์ทำคือการลงทุนในรูปแบบที่แปลกใหม่ ฉีกทุกกฎการลงทุนของสโมสรฟุตบอล ใช้วิธีทางบัญชีที่เรียกว่า Amortization เป็นตัวช่วยพิเศษทำให้สโมสรมีความได้เปรียบเหนือสโมสรอื่นๆ ที่ไม่มีใครทำตาม

           

แต่สำหรับชาวอเมริกันเกมส์แล้ววิธีแบบนี้ก็ไม่ถึงกับเป็นของใหม่ เพราะใช้กันในอเมริกันฟุตบอล NFL และบาสเกตบอล NBA ซึ่งย้อนกลับไปตอนที่โบห์ลีย์เข้ามาเทกโอเวอร์ทีมแอลเอ ดอดเจอร์ส เมื่อปี 2012 ก็ทำคล้ายๆ กันด้วยการทยอยโละผู้เล่นชุดเดิมที่ค่าตอบแทนแพงแต่ผลงานแย่ มาเป็นผู้เล่นชุดใหม่ที่ต่อให้ต้องจ่ายหนักแต่ทำผลงานได้ดีกว่า

           

สิ่งที่ได้คือการที่ดอดเจอร์สคว้าแชมป์ดิวิชัน 8 ปีติดต่อกัน และในปี 2020 สามารถคว้าแชมป์เวิลด์ซีรีส์ หรือแชมป์สูงสุดของเบสบอลอเมริกาได้ครั้งแรกในรอบ 32 ปี ขณะที่สตาร์ของทีมตอนนั้นคือ มูกี เบ็ตต์ส ที่เซ็นสัญญากันระยะเวลา 12 ปี

           

อย่างไรก็ดีแม้แต่ในวงการอเมริกันเกมส์ก็ยังเป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก และในเกมฟุตบอลนั้นเป็นกีฬาที่คาดเดาได้ยากกว่าเบสบอลที่ข้อมูลและสถิติสามารถบ่งบอกอะไรได้อีกมาก ซึ่งโบห์ลีย์เองก็เจอกับตัวในฤดูกาลที่แล้วที่เชลซีทำผลงานได้เลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 20 ปี

           

การใช้ช่องโหว่มีความเสี่ยงที่จะโดนเช็กบิล ขณะที่การผูกสัญญายาวกับนักเตะก็ไม่ต่างอะไรจากการใส่กุญแจมือเอาไว้ด้วยกัน

           

หากยังรักกันหวานชื่นมันก็คงดี

           

แต่หากวันใดไม่ได้รักกันแล้ว มันอาจจะเป็นโศกนาฏกรรมเหมือนส่างหม่องกับยุพดีในเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ที่หากคิดจะแยกกันก็หมายถึงการจากไปของใครคนใดคนหนึ่ง

           

มันจะเป็นแบบนั้นจริงไหม มีโอกาสที่เชลซีจะพังหรือเปล่า หรือนี่คือสุดยอดมายากลทางการเงินลูกหนังที่ ทอดด์ โบห์ลีย์ แสดงให้ทุกคนได้เห็นว่ามันสามารถทำได้แต่แค่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

           

ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ เชลซีจะทำแบบนี้ต่อไปอย่างน้อยก็อีกสักพักใหญ่เลย

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising