×

วิธีการนับวัน ‘การกักตัว 14 วัน’ นับอย่างไร และเมื่อไรจะครบกำหนด

15.04.2021
  • LOADING...
วิธีการนับวัน ‘การกักตัว 14 วัน’ นับอย่างไร และเมื่อไรจะครบกำหนด

ผลตรวจเป็นลบ แต่ขอรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการกักตัว 14 วัน 

 

‘การกักตัว’ ในความหมายของคนทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 แบบในทางระบาดวิทยา คือ

 

  • การแยกกัก (Isolation)
  • การกักกัน (Quarantine)

 

การแยกกัก (Isolation) เป็นการกัก ‘ผู้ป่วย’ หรือผู้ติดเชื้อจนครบระยะแพร่เชื้อ ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันคือ 14 วัน* นับจากวันเริ่มมีอาการหรือวันที่ตรวจพบเชื้อหากไม่มีอาการ หมายความว่าเมื่อพ้นระยะนี้ไปแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

 

*ระยะเวลาแยกกักเคยลดลงเหลือ 10 วัน แต่เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของไวรัส ล่าสุด (13 เมษายน 2564) กรมการแพทย์ได้ประกาศปรับเพิ่มขึ้นเป็น 14 วัน ซึ่งจะเท่ากับระยะเวลาของการกักกันโรค

 

การกักกัน (Quarantine) เป็นการกัก ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิด’ หรือผู้ที่มีความเสี่ยง จนครบระยะฟักตัวที่นานที่สุดคือ 14 วัน นับจากวันที่เจอกับผู้ป่วยวันสุดท้าย แต่หลายประเทศเริ่มมีแนวคิดลดวันกักกันลง เช่น สหราชอาณาจักรลดเหลือ 10 วัน

 

แล้วจะนับวันอย่างไร? ‘การแยกกัก’ จะนับวันที่เริ่มมีอาการเป็นวันที่ 0 วันถัดมาถึงจะนับเป็นวันที่ 1, 2, 3, … จนครบ 14 วัน ส่วน ‘การกักกัน’ จะนับวันที่เจอผู้ป่วยวันสุดท้ายเป็นวันที่ 0 วันถัดมานับเป็นวันที่ 1 และนับต่อจนครบ 14 วันเช่นกัน 

 

หลักการคือ ‘ผู้ป่วย’ แยกตัว 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิด’ กักตัว 14 วัน หลังจากเจอผู้ป่วยวันสุดท้าย เพื่อสังเกตอาการ 

 

การกักตัว

 

กรณีผู้ป่วยแยกตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม

 

สมมติให้ 

A เป็นผู้ป่วย 

B, C และ D เป็นผู้ใกล้ชิด  

 

ผู้ป่วย แยกตัว 14 วัน หลังเริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ 

ผู้สัมผัสใกล้ชิด กักตัว 14 วัน หลังเจอผู้ป่วยวันสุดท้าย เพื่อสังเกตอาการ 

 

คำอธิบายจากภาพ: 

เมื่อ A เริ่มมีอาการป่วย A วันที่เริ่มมีอาการจะนับว่าเป็นวันที่ 0 และจะเริ่มนับวันที่ 1 ในวันถัดไปต่อจนครบ 14 วัน ในกรณีนี้ A ตรวจพบเชื้อ และแยกไปรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 3 

 

กรณีของ D: B, C และ D อยู่บ้านเดียวกัน นับจากวันที่ A ตรวจพบเชื้อ D แยกกักตัวจากคนอื่น เท่ากับว่า D สามารถเริ่มนับวันที่ 1 ได้เลยหลังจากวันที่ A ตรวจพบเชื้อ เท่ากับ 14 วันของ D สิ้นสุดลงในวันที่ 17

 

กรณีของ B และ C ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน เริ่มนับวันแรกหลังจากที่ A ตรวจพบเชื้อเช่นกัน แต่ต่อมา B ตรวจพบเชื้อในวันที่ 7 เท่ากับว่า B และ C เริ่มนับวันกักตัวใหม่ และเมื่อ B แยกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เท่ากับว่าวันกักตัวของ B และ C จะจบลงเท่ากันคือตรงกับวันที่ 21

 

 

กรณีที่ 2: ผู้ป่วยแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation)

 

สมมติให้ 

A เป็นผู้ป่วย 

B, C และ D เป็นผู้ใกล้ชิด  

 

กรณีเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง ผู้ป่วยอาการรุนแรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมากจน ‘เตียงเต็ม’ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการอาจได้รับคำแนะนำให้กลับมาสังเกตอาการ และแยกกักที่บ้าน (Home isolation)

 

ในขณะที่ผู้ป่วยก็ไม่สามารถแยกจากผู้อื่นที่บ้านได้ หรือสมาชิกในบ้านจะต้องช่วยดูแลผู้ป่วย สมาชิกคนนั้นจะเริ่มนับวันกักกันก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการครบ 14 วันไปแล้ว คือต้องรอให้ผู้ป่วยพ้นระยะแพร่เชื้อไปก่อน แล้วค่อยนับเป็นวันที่ 0 

 

คำอธิบายจากภาพ: 

เมื่อ A เริ่มมีอาการป่วย การนับวันกักตัวของ A เริ่มนับ 1 ในวันถัดไป และนับต่อจนครบ 14 วัน กรณีนี้ A ตรวจพบเชื้อในวันที่ 3 และกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยอาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับ B และ C 

 

กรณีของ D: เมื่อพบว่า A มีเชื้อในวันที่ 3 ดังนั้น D ได้แยกตัวออกจากคนอื่น และเริ่มนับวันกักตัวในวันถัดไป กรณีนี้ D จะครบกำหนดกักตัวในวันที่ 17 

 

กรณีของ B: B และ C เริ่มกักตัวในวันเดียวกัน แต่เมื่อ B ตรวจพบเชื้อในวันที่ 7 เท่ากับ B ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ และจะกักตัวครบในวันที่ 21 

 

กรณีของ C: เคสนี้ต่างจากกรณีแรกตรงเมื่อ B แยกกักตัวอยู่ที่บ้านและอาศัยอยู่ร่วมกับ C ทำให้ C เริ่มนับวันกักตัวของตัวเอง 1 วันหลังจากที่ B กักตัวครบแล้ว เพราะฉะนั้นวันกักตัวของ C จะสิ้นสุดในวันที่ 35  

 

เรายกตัวอย่างมาให้ 2 กรณี คือ 

 

  1. กรณีผู้ป่วยแยกตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล
  2. ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) (คลิกดูที่ภาพเพื่ออ่านคำอธิบาย)

 

จะเห็นว่าการแยกกักที่ดีที่สุดคือการแยกผู้ป่วยไว้ที่โรงพยาบาล หากภาครัฐเตรียมโรงพยาบาลสนามหรือโรงแรมที่ดัดแปลงเป็นห้องผู้ป่วย (Hospitel) ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงก็สามารถย้ายไปสังเกตอาการที่นั่นได้

 

ทั้งนี้ ก็เพราะถ้าให้ผู้ป่วยกลับมาแยกกักที่บ้าน อาจทำให้มีการแพร่เชื้อให้กับสมาชิกคนอื่น และผู้สัมผัสร่วมบ้านจะต้องถูกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อส่วนรวมเป็นเวลานานเกือบ 1 เดือน ยกเว้นผู้ป่วยพักอาศัยอยู่เพียงคนเดียว

 

สำหรับการตรวจหาเชื้อ ล่าสุด (13 เมษายน 2564) กรมควบคุมโรคได้ปรับปรุงแนวทางการสอบสวนโรค โดยให้ ‘ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง’ ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือ

 

  • ครั้งแรก เมื่อเจ้าหน้าที่ระบุผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ หมายถึงเมื่อพบผู้ป่วยแล้ว เจ้าหน้าที่จะสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดในไทม์ไลน์ของผู้ป่วยมาตรวจหาเชื้อ นับเป็นครั้งที่
  • ครั้งที่ 2 ตรวจหลังจากครั้งแรก 7 วัน (นับไปอีก 1 สัปดาห์) หรือในวันที่ 13 หลังจากเจอผู้ป่วย แล้วแต่ว่าวันไหนถึงก่อนกัน เช่น ถ้าตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 5 ก็ต้องตรวจอีกครั้งในวันที่ 12 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X