×

เมื่อไทยจะกลายเป็นสังคมชราภาพ ควรต้องแก้สมการอย่างไรเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

12.04.2021
  • LOADING...
เมื่อไทยจะกลายเป็นสังคมชราภาพ ควรต้องแก้สมการอย่างไรเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ในวันพรุ่งนี้ (13เมษายน) ของทุกปี ถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และปีนี้นับเป็นอีกปีที่มีความสำคัญ เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) กล่าวคือ จะมีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนราว 20% จากประชากรทั้งหมด และปี 2578 อาจจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็น 30%  

 

ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบประเทศเป็นเครื่องจักรที่สร้างผลผลิต การมีผู้สูงวัยที่สูงขึ้นอาจหมายถึงคนในวัยทำงานที่น้อยลง และทำให้เครื่องจักรอาจสร้างผลผลิตได้น้อยลงด้วย

 

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไทยอยู่กับสังคมสูงวัย (ผู้สูงวัย 10% ของประชากร) มาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว หลังจากนี้ไทยจะแก้สมการโจทย์ใหญ่ ทั้งสังคมสูงวัย และสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างไร

 

เริ่มกันที่ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สังคมสูงวัยไม่น่ากลัวเท่ากับวัยแรงงานที่ลดลง เพราะจะกระทบทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการใช้แรงงานสูง จนต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ และเมื่อวัยทำงานลดลง ทำให้การใช้จ่ายปรับตัวลดลงด้วย ซึ่งจะสะท้อนต่อเนื่องให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงไปอีก 

 

ทั้งนี้ เมื่อวัยแรงงานลดลง ย่อมทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนทั้งจากไทยและต่างประเทศลดลงด้วย เช่น กลุ่มต่างชาติที่เข้ามาลงทุนย่อมมองทั้งการเข้ามาไทยเพื่อผลิตและขายสินค้าในไทย หากตลาดเล็กลงไม่มีคนซื้อย่อมไม่สนใจมาลงทุน หรือกลุ่มต่างชาติที่ต้องการแรงงานราคาถูกในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก แต่ไทยมีแรงงานน้อยลง ทำให้อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการนักลงทุน 

 

ดังนั้น ทางออกของไทยในสังคมสูงวัยนี้ต้องเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity ให้ทันการณ์ ต้องเตรียมปรับโครงสร้างแรงงาน การศึกษา และการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนวัยแรงงานที่ลดลง

 

หากช้าเกินไปไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่อาจหดตัวในระยะต่อไป ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นปี 2537-2540 เติบโตเฉลี่ย 10% ปี 2543-2551 เติบโตเฉลี่ย 5% และ 2551-2561 เติบโตเฉลี่ย 3% และถ้าไม่มีโควิด-19 คาดว่าเติบโตเฉลี่ย 2.5%

 

“ตอนนี้แผนของไทยกับเรื่องสังคมสูงวัยยังไม่ชัดเจน ซึ่งไทยยิ่งต้องเร่งในการปรับโครงสร้างเพื่อรับกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไป ดังนั้น รัฐควรมุ่งที่จะลดอุปสรรคและข้อจำกัดในการพัฒนาของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการเร่งพัฒนามากที่สุด”

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEATH ว่า เมื่อมีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น คล้ายกับภาพในญี่ปุ่น จะพบว่าอัตราการออมจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การใช้จ่ายของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน รถยนต์ จะลดลง 

 

ดังนั้น เมื่อมองมาที่ไทย สถานการณ์นี้จะทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมยิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งจากปัจจุบันอัตราการออมของไทยก็สูงมาก (เมื่อเทียบกับการลงทุนที่น้อยลง) และโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ใช้แรงงานเข้มข้นในระยะยาว แต่กลับมีวัยแรงงานลดลง อาจกลายเป็นปัญหาที่หนักขึ้นในอนาคต 


อย่างไรก็ตาม สังคมสูงวัยยังเป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจปรับตัว เช่น การปรับตัวรับเมกะเทรนด์นี้ เช่น การทำธุรกิจ Nursing Home หรือการปรับตัวสู่ธุรกิจเทคโนโลยีมากขึ้น จากที่ผ่านมาไทยขยับตัวในด้านนี้ช้าเมื่อเทียบกับเวียดนาม 

 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนให้ SMEs ไทยขยายตัวสู่การเป็นรายใหญ่ได้มากขึ้น และผลักดันให้รายใหญ่ออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงการปรับเรื่องภาษีที่จะช่วยให้ SMEs สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้มากขึ้น (ปัจจุบันในไทย รายใหญ่หากใช้ BOI จะเสียภาษีราว 9% ขณะที่ SMEs ไทยจะเสียภาษีราว 21% ทำให้การแข่งขันยากขึ้น)

 

ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลายคนมองว่าประเทศไทยกำลังมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ดังนั้นตามมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ เรากำลังจะขาดแคลนแรงงาน ผลิตของได้น้อยลง เศรษฐกิจก็อาจโตชะลอลง แต่หากไทยเตรียมความพร้อมให้ดี ไม่จำเป็นที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว

ทั้งนี้ แม้จะมีวัยทำงานน้อยลง แต่ไทยต้องเร่งปรับให้การออมเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นมากกว่ามิติการลงทุนเท่านั้น เช่น การสนับสนุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ให้เพิ่มมากขึ้น 

 

จุดสำคัญคือการวางแผนให้การดูแลผู้สูงวัยไม่เพิ่มภาระทางการคลังในระยะยาว โดยไม่ควรมุ่งเน้นการเก็บภาษีเพื่อใช้การดูแลผู้สูงวัย แต่ต้องสนับสนุนให้เกิดการออมเพื่อเกษียณ 


พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising