×

สภาพัฒน์เผย ไตรมาส 3 ปีนี้ อัตราว่างงานเกือบ 4 แสนคน หนี้สินครัวเรือนชะลอการขยายตัว

25.11.2019
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

วันนี้ (25 พฤศจิกายน) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2562 โดย ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานฯ กล่าวสรุปความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญและน่าสนใจประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีประเด็นที่หลากหลาย เช่น การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัว คดีอาญาจากคดียาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น 

 

ขณะที่ประเด็นที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนช่วงไตรมาสที่ 3 ได้อย่างเด่นชัดมีอยู่ 2 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย ประเด็นของอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และหนี้สินครัวเรือนชะลอการขยายตัว ซึ่งสรุปได้ดังนี้

 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก

สำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ และการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 2.3 ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการหดตัวของการส่งออก

 

โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการผลิต สาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 5.2 4.1 และ 2.2 ตามลำดับ ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และ 1.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก

 

ขณะที่ชั่วโมงการทำงานยังทรงตัว แม้การจ้างงานจะลดลง แต่โดยเฉลี่ยแรงงานยังคงมีชั่วโมงทำงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.4 มีสาเหตุจากการปรับตัวของสถานประกอบการมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลง และบางส่วนมีการปรับลดการจ้างแรงงานที่มีผลิตภาพและชั่วโมงการทำงานต่ำกว่า ทำให้โดยเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานยังคงทรงตัวในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ 

 

ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยค่าจ้างแรงงานโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 14,334 บาท/เดือน ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเท่ากับ 12,847 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 และ 2.5 ตามลำดับ เมื่อหักเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.6 ค่าจ้างที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ด้านผลิตภาพแรงงาน (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อผู้มีงานทำ) พบว่า มีมูลค่า 69,329 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 

 

ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.04 หรือมีจำนวน 3.9 แสนคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 5.5 สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และปัญหาภัยธรรมชาติ

 

การว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน 

 

เมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ร้อยละ 2.15 รองลงมาเป็นผู้จบอาชีวศึกษา วิชาชีพชั้นสูง มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า และพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น มีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

ส่วนแนวโน้มการจ้างงานในไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก ชี้ให้เห็นจากตัวเลขจากการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรเดือนตุลาคม ปี 2562 อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.9 หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 0.355 ล้านคน แม้ว่ากำลังแรงงานและผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 1.7 และ 1.6 ตามลำดับ

 

ส่วนหนึ่งคาดว่า มีการเคลื่อนย้ายออกจากกำลังแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ทำงานบ้านที่เข้าสู่กำลังแรงงานเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล โดยพบว่า ผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ประกอบกับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่น ซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในระบบสามารถย้ายไปทำงานนอกระบบได้ง่าย โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม

 

หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ชะลอการขยายตัวลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน 

 

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเภท พบว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 7.8 ชะลอลงจากร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ชะลอลงร้อยละ 10.2 จากร้อยละ 11.4 ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 11.8 เทียบกับร้อยละ 11.3 เป็นผลจากการขยายตัวของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น

 

ภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.81 ต่อสินเชื่อรวม โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ร้อยละ 3.49 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.34 ในไตรมาสก่อน 

 

ด้านสินเชื่อรถยนต์สัดส่วน NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.86 จากร้อยละ 1.82 ในไตรมาสที่ผ่านมา และสัดส่วน NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 2.65 เทียบกับร้อยละ 2.48 ในไตรมาสก่อน ขณะที่ NPL ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 2.36 ปรับลดลงจากร้อยละ 2.42 

 

ส่วนแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่า จะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมยังคงมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

ขณะที่หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงตาม

 

1. สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงทรงตัวจากในช่วงครึ่งปีแรก จากความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มชะลอลง อุปทานส่วนเกินของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้

 

2. สินเชื่อรถยนต์ที่ชะลอตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ลดลง และสถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising