×

หัวร้อนในที่ทำงาน จัดการอย่างไร

15.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • คนที่ให้ความสำคัญกับผลงานที่สมบูรณ์แบบมักเครียดและหงุดหงิด หากเกิดข้อผิดพลาด ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ คนที่มุ่งเน้นการยอมรับและความก้าวหน้าในอาชีพ มีแนวโน้มที่จะโกรธและเสียใจอย่างมาก หากผลงานถูกตำหนิหรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนคนที่ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนการทำงาน มักจะโกรธและเป็นกังวล หากบริษัทมีนโยบายตัดงบสวัสดิการหรืองดเว้นการจ่ายโบนัส เป็นต้น
  • ความโกรธของบุคคลส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ อาการเส้นเลือดในสมองแตก โรควิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
  • หลีกเลี่ยงการโต้ตอบหรือสื่อสารในเวลาที่คุณโกรธ ควรหยุดสิ่งที่ทำและออกจากสถานการณ์นั้น หาพื้นที่ส่วนตัวจัดการอารมณ์ของตัวเองเสียก่อน และไม่ควรโพสต์ข้อความระบายอารมณ์ทางโลกโซเซียล เพราะไม่ส่งผลดี และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่ตัวคุณ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักเกิดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวเวลาทำงาน หรือต้องทนทำงานอยู่ในบรรยากาศที่น่าอึดอัดเต็มไปด้วยความขัดแย้ง จนทำให้คุณเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ เบื่อหน่าย ท้อแท้สิ้นหวังกับการทำงาน ดิฉันอยากให้คุณลองหันมาจัดการ ‘ความโกรธ’ ที่อยู่ในตัว เพื่อจะช่วยให้สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ และช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุขขึ้น

 

ความโกรธเป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติถ้าคุณจะรู้สึกโกรธเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นให้คุณเกิดความผิดหวังไม่พอใจ ความโกรธส่งผลกับร่างกาย ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ฉะนั้นการจัดการความโกรธจึงจำเป็นต้องทำอย่างครบวงจร โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจที่มาและผลกระทบของความโกรธที่เกิดขึ้นกับตัวเองเสียก่อน แล้วจึงเลือกสรรวิธีการจัดการความโกรธที่เหมาะสมกับตัวคุณ ขอให้พึงตระหนักไว้ว่า การแสดงความโกรธที่ไม่เหมาะสมนั้นจะเพิ่มปัญหาในการทำงาน ปั่นทอนความก้าวหน้าในอาชีพ และสร้างปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

 

เข้าใจความโกรธของฉัน

ความโกรธที่เกิดขึ้นในที่ทำงานมักมีความเกี่ยวเนื่องกับการให้คุณค่าตัวเองของคุณในการทำงาน ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะโกรธในเรื่องเดียวกับคุณ เพราะเราทุกคนมีความเชื่อ การให้คุณค่า และเป้าหมายในการดำเนินชีวิตการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น บุคคลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลงานที่สมบูรณ์แบบมักจะเกิดความเครียดและความหงุดหงิด หากผลงานเกิดข้อผิดพลาด ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ บุคคลที่มุ่งเน้นการยอมรับและความก้าวหน้าในอาชีพ มีแนวโน้มที่จะโกรธและเสียใจอย่างมาก หากผลงานของตนเองถูกตำหนิหรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนบุคคลที่ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนการทำงานเป็นหลัก ก็มักจะรู้สึกโกรธและเป็นกังวล หากบริษัทมีนโยบายตัดงบสวัสดิการหรืองดเว้นการจ่ายโบนัส เป็นต้น

 

ความโกรธเป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติถ้าคุณจะรู้สึกโกรธเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นให้คุณเกิดความผิดหวังไม่พอใจ

 

อย่างไรก็ตาม ความโกรธของคุณก็อาจจะไม่ได้มาจากสิ่งกระตุ้นที่เป็นตัวบุคคลหรือสถานการณ์ในที่ทำงานเสมอไป บางครั้งมันอาจจะมาจากปัจจัยส่วนตัวของคุณ เช่น นิสัยขี้กังวลและมองโลกในแง่ร้าย ปัญหาความเครียดเรื่องการเงิน สุขภาพ หรือปัญหาความสัมพันธ์กับคนที่บ้าน หรือคุณกำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนของฮอร์โมนประจำเดือนหรือตามวัย เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้พื้นฐานทางอารมณ์ของคุณไม่มั่นคงและถูกกระตุ้นได้โดยง่าย

 

เมื่อบุคคลเกิดความโกรธ ระบบประสาท Sympathetic ของร่างกายจะถูกกระตุ้นให้เตรียมพร้อมร่างกายเพื่อรับมือกับสภาวะกดดัน อันส่งผลทำให้บุคคลอาจเกิดอาการต่างๆ เช่น ตัวเกร็ง หัวใจและเลือดสูบฉีดเร็วขึ้น หายใจขัด มือสั่น ปวดศีรษะ เป็นต้น อีกทั้งสมองในส่วนที่มีชื่อว่า Amygdala ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และการตอบสนองก็จะถูกรบกวน ส่งผลทำให้บุคคลมีความไวต่อการตอบสนอง เกิดอารมณ์รุนแรงฉุนเฉียว และความสามารถในการควบคุมความคิดก่อนจะลงมือทำพฤติกรรมต่างๆ ลดลง จากการศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นยังพบว่า ความโกรธของบุคคลส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ อาการเส้นเลือดในสมองแตก โรควิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

 

ความโกรธในแต่ละบุคคลมีระดับความรุนแรงและการแสดงออกแตกต่างกัน ฉะนั้นในเบื้องต้นนี้ ดิฉันจึงอยากให้คุณลองเปิดใจวิเคราะห์และค้นหาคำตอบที่แท้จริงกับตัวเองก่อนว่า อะไรที่มักทำให้คุณเกิดความโกรธในที่ทำงาน และความโกรธนั้นส่งผลต่อตัวคุณอย่างไร

 

การมุ่งปรับเปลี่ยนองค์กรหรือตัวบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ฉะนั้นอาจจะดีกว่า ง่ายกว่า และเร็วกว่า ที่คุณจะฝึกฝนให้ตัวเองสามารถจัดการความโกรธของตัวเองได้อย่างมืออาชีพ

 

จัดการความโกรธในตัวฉัน

เมื่อคุณเข้าใจความโกรธของตัวคุณแล้ว ต่อไปก็คือการค้นหาและฝึกฝนวิธีการจัดการความโกรธที่เหมาะสมและได้ผลดีกับตัวคุณ ในบทความนี้เราจะมุ่งเน้นแนะนำวิธีการจัดการกับตัวคุณเองเป็นหลัก เพราะถึงแม้ว่าความโกรธของคุณจะถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ฯลฯ การมุ่งที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรหรือตัวบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องใช้เวลาและความร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ฉะนั้นมันอาจจะดีกว่า ง่ายกว่า และเร็วกว่า ที่คุณจะฝึกฝนให้ตัวเองสามารถจัดการความโกรธของตัวเองได้อย่างมืออาชีพ แม้จะต้องอยู่ในสถานการณ์และบรรยากาศการทำงานที่น่าอึดอัด หรือต้องทำงานกับบุคคลที่กระตุ้นความโกรธของคุณก็ตาม

 

เทคนิคการจัดการความโกรธในที่ทำงาน มีขั้นตอนและวิธีการ ดังนี้

 

รู้ทันและยอมรับอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น

ภายหลังจากการทำความเข้าใจธรรมชาติความโกรธของตัวเองแล้ว ขอให้คุณฝึกสังเกตสัญญาณบ่งชี้อารมณ์โกรธ คุณไม่ควรรู้สึกผิดที่มีอารมณ์โกรธ คุณมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกโกรธ แต่คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้อารมณ์โกรธของคุณทำร้ายตนเอง ผู้อื่น หรือองค์กรของคุณ

 

เริ่มกระบวนการจัดการอารมณ์

เมื่อตระหนักรู้ถึงอารมณ์โกรธหรืออารมณ์ที่ไม่มั่นคงแล้ว เราควรสร้างความผ่อนคลายให้เกิดขึ้นกับตัวเองในทันที หลีกเลี่ยงการโต้ตอบหรือสื่อสารในเวลาที่คุณโกรธ และหากเป็นไปได้คุณควรหยุดสิ่งที่ทำอยู่และออกจากสถานการณ์นั้น เพื่อหาพื้นที่ส่วนตัวจัดการอารมณ์ของตัวเองเสียก่อน

 

คุณมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกโกรธ แต่คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้อารมณ์โกรธของคุณทำร้ายตนเอง ผู้อื่น หรือองค์กรของคุณ

 

ปลดปล่อยความคับข้องใจ

ในที่นี้อาจไม่ใช่การไปต่อยกำแพง แต่ควรสร้างความผ่อนคลายทางร่างกายอันเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกๆ ทำได้โดยหายใจเข้าลึก หายใจออกยาวอย่างช้าๆ ควบคุมลมหายใจให้ช้าลง หรืออาจจะใช้วิธีการนับเลขถอยหลังจาก 10 ถึง 0 ทำซ้ำๆ จนรู้สึกผ่อนคลาย อาจจะพักเปลี่ยนอิริยาบถ ฟังเพลง พักดื่มน้ำเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย หรือหาพื้นที่เดินผ่อนคลายอารมณ์เพียงลำพัง

 

ควบคุมอารมณ์และหยุดความคิด

ในขณะที่คุณพยายามผ่อนคลายร่างกาย คุณอาจจะถูกแทรกแซงด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงและความคิดด้านลบ เรามาพยายามควบคุมอารมณ์และหยุดความคิดนั้น หรือหากไม่สามารถทำได้ อาจใช้วิธีการเขียนระบายออกสิ่งที่อึดอัดอยู่ภายในแล้วทำลายทิ้งโดยทันที ไม่ควรนำสิ่งที่คุณเขียนระบายออกส่งให้บุคคลอื่น หรือโพสต์ข้อความระบายอารมณ์ทางโลกโซเซียล เพราะไม่ส่งผลดีใดๆ และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่ตัวคุณ และถ้าหากมีบุคคลที่คุณสามารถไว้วางใจและพร้อมที่จะรับฟังเราควรหาพื้นที่ส่วนตัวพูดคุยระบายออกความคับข้องใจได้เช่นกัน

 

 

ปรับองศาความคิดเป็นเชิงบวก

เมื่อร่างกายและอารมณ์ของคุณนิ่งขึ้นแล้ว ขอให้คุณเริ่มทำงานกับการจัดการความคิดของตนเอง ปรับเปลี่ยนมุมมองให้เป็นเชิงบวก ยอมรับว่าสิ่งต่างๆ ไม่สามารถเป็นไปอย่างที่คุณต้องการได้ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ควรยึดติดอยู่กับอารมณ์โกรธเพราะความโกรธบางอย่างก็ไม่สมเหตุผลที่จะเกิดขึ้น คนที่ทำให้คุณโกรธอาจจะไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่ากำลังสร้างปัญหาให้แก่คุณ

 

เตรียมรับมือล่วงหน้า

เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับบุคคลและสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นความโกรธล่วงหน้า โดยพิจารณาถึงสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น หลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรง พยายามมองข้ามสิ่งเล็กน้อยที่ทำให้เกิดความหงุดหงิด งดเว้นตีความและสรุปความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยลำพัง เป็นต้น

 

ความโกรธ ความขัดแย้งที่สมเหตุผล สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการทำงาน

 

เรียนรู้ที่จะสื่อสารอารมณ์โกรธอย่างเหมาะสม

ทำได้โดยมุ่งประเด็นไปที่การวิเคราะห์เหตุการณ์ต้นเหตุของความโกรธ และแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้คุณควรคิดไตร่ตรองและเตรียมพร้อมอย่างรอบคอบก่อนการสื่อสาร คุณไม่ควรพูดสื่อสาร ส่งอีเมล หรือข้อความต่างๆ ในขณะที่กำลังโกรธ ความโกรธ ความขัดแย้งที่สมเหตุผล สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการทำงาน

 

แยกแยะความโกรธที่มาจากเรื่องส่วนตัวออกจากการทำงาน

หากความโกรธของคุณมาจากปัจจัยส่วนตัว ขอให้ตระหนักรู้ว่าเป็นหน้าที่ของคุณที่จะดูแลจัดการที่มาของความโกรธนี้ คุณควรระมัดระวังไม่ให้ยึดถือความเชื่อและอารมณ์ส่วนตัว แยกแยะความโกรธที่มาจากเรื่องส่วนตัวจากการทำงาน

 

เติมพลังบวกให้ชีวิต

นอกเหนือจากเวลาทำงานแล้ว ควรเติมพลังด้านบวกให้กับตัวเอง ด้วยการทำสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข เลือกใช้เวลาอยู่กับคนที่เห็นคุณค่าและให้ความเคารพในตัวคุณ รวมทั้งสร้างกิจวัตรที่ช่วยฝึกฝนการจัดการอารมณ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ งานศิลปะ เสริมสร้างพลังกายและพลังใจ อันจะช่วยส่งผลต่อการจัดการความเครียดที่เป็นที่มาของความโกรธและทำให้สามารถควบคุมความโกรธได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

อ่านเรื่อง อยากเด่นและชอบทับถมคนอื่น! คู่มือเอาตัวรอดจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่เป็น ‘โรคคลั่งไคล้ตัวเอง’ ได้ที่นี่

อ่านเรื่อง เลิกบ่นคนที่ออฟฟิศเถอะ เพราะมันไม่มีประโยชน์ ได้ที่นี่

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising