×

ทำไมนาฬิกาสวิสถึงยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่า ค้นหาคำตอบผ่านประวัติศาสตร์ของ Tissot

โดย THE STANDARD TEAM
29.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Raed
  • อุตสาหกรรมนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์เริ่มต้นในศตวรรษที่ 17 ที่เมืองเลอโลค  (Le Locle) เมืองทางตะวันตกของประเทศ
  • ทิสโซต์ (Tissot) ถือกำเนิดในปี 1853 โดยช่างนาฬิกาชาวสวิส Charles-Félicien Tissot และลูกชาย ทั้งสองเปิดร้านนาฬิกาภายใต้ชื่อ Charles-Félicien Tissot & Son
  • ปี 1930 ทิสโซต์เปิดตัวนาฬิกาข้อมือกันสนามแม่เหล็กเจ้าแรก Antimagnétique ล่าสุดได้พัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันสนามแม่เหล็ก Silicon Balance Spring มาใช้ในนาฬิการุ่น Ballade

     ปัจจุบันเราสามารถเดินทางข้ามทวีปด้วยเวลาไม่กี่ชั่วโมง สื่อสารกับคนอีกซีกโลกได้เพียงเสี้ยววินาที อัพเดตเทรนด์กันได้แบบเรียลไทม์ เรามีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนยุคไหนๆ นับตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่ ‘ยุคสมัยใหม่’ (Modernity) เป็นต้นมา และถ้าจะมีสิ่งประดิษฐ์ใดที่บอกเล่าการก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ของมนุษยชาติได้ สิ่งนั้นก็คือ ‘นาฬิกา’ อุปกรณ์บอกเวลาที่มีกลไกซับซ้อนเกินจินตนาการ

     นาฬิกา เป็นสิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้นพร้อมกับการถือกำเนิดแนวคิดสมัยใหม่ช่วงศตวรรษที่ 16 ณ ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ใจกลางทวีปยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ศูนย์รวมนักคิด นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์หัวก้าวหน้าจำนวนมาก เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกหลายอย่างเกิดขึ้นที่นี่ รวมถึงการพัฒนานาฬิกากลไก เมื่อรวมกับแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานแบบใหม่ (modern management) ที่มองว่าเวลากลายเป็นสิ่งมีค่า เครื่องบอกเวลาจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในวิถีชีวิตยุคใหม่

 

 

‘เลอโลค’ ต้นกำเนิดนาฬิกาสวิส

     อุตสาหกรรมนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์เริ่มต้นในศตวรรษที่ 17 เลอโลค (Le Locle) เมืองเล็กๆ ที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาทางตะวันตกของประเทศ เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับธุรกิจนาฬิกาสวิส และเป็นเมืองที่เป็นต้นกำเนิดแบรนด์นาฬิกา ‘ทิสโซต์’ (Tissot) ผู้ผลิตนาฬิกาเก่าแก่ที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์นาฬิกาสวิสยาวนาน สังเกตุได้จากสัญลักษณ์ ‘กาชาด’ ในโลโก้นาฬิกา Tissot นั้นเป็นสัญลักษณ์เดียวกันกับกาชาดบนธงชาติสวิตเซอร์แลนด์

     ทิสโซต์ (Tissot) ถือกำเนิดในปี 1853 โดยช่างนาฬิกาชาวสวิส Charles-Félicien Tissot และลูกชาย ทั้งสองเปิดร้านนาฬิกาภายใต้ชื่อ Charles-Félicien Tissot & Son ด้วยคุณภาพในการผลิตอันยอดเยี่ยม ทำให้กิจการเติบโตอย่างรวดเร็ว กระทั่งขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศรัสเซีย นาฬิกาทิสโซต์เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นนำ และเป็นที่โปรดปรานในราชสำนักของพระเจ้าซาร์เป็นพิเศษ

     ในปีหน้าแบรนด์ทิสโซต์จะมีอายุครบ 165 ปี เรื่องราวของแบรนด์นาฬิกาเก่าแก่แบรนด์นี้จึงบอกเล่าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิตเซอร์แลนด์ได้เป็นอย่างดี บทบาทสำคัญของทิสโซต์ ที่นับได้ว่าเป็นการวางรากฐานให้กับอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิตเซอร์แลนด์จนกระทั่งปัจจุบัน คือการจับมือกับโอเมก้า (Omega) ผู้ผลิตนาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์อีกราย จัดตั้งสมาคมผู้ผลิตนาฬิกาแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SSIH) ขึ้นมาในปี 1930 คุณสามารถชมประวัติศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ได้ในพิพิธภัณฑ์นาฬิกาเมืองเลอโลค (Musée d’Horlogerie du Locle) สถานที่ที่คุณจะได้รับรู้เรื่องราวความเป็นมาของการกำเนิดนาฬิกา แหล่งรวมนาฬิกาหายาก และได้เห็นถึงวิถีแห่งช่างนาฬิกาสวิสอย่างแท้จริง

จิตวิญญาณแห่งนวัตกรรม

     เริ่มต้นจากผลิตนาฬิกาพก (pocket watch) ที่มีกลไกแม่นยำ ทิสโซต์ยังเป็นผู้นำเรื่องนวัตกรรมเบอร์ต้นๆ ของวงการ พัฒนาเทคโนโลยีการสร้างสรรค์นาฬิกาไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ

     ในปี 1930 ทิสโซต์เปิดตัวนาฬิกาข้อมือกันสนามแม่เหล็กเจ้าแรก Antimagnétique ล่าสุดได้พัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันสนามแม่เหล็ก Silicon Balance Spring มาใช้ในนาฬิการุ่น Ballade ซึ่งจะทำให้นาฬิกามีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น ทิสโซต์เป็นแบรนด์แรกที่ผลิตนาฬิการะบบสัมผัสที่ใช้การสำรองพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ อย่างนาฬิกา T-Touch Expert Solar ที่มาพร้อมฟังก์ชันการใช้งานถึง 20 ฟังก์ชัน กล่าวได้ว่าการสร้างนวัตกรรมอยู่ในจิตวิญญาณของทิสโซต์มาโดยตลอด จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

 

ดีไซน์ตามไลฟ์สไตล์

     หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจโลกเบ่งบาน การเดินทางด้วยเครื่องบินข้ามไทม์โซนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ในปี 1986 ทิสโซต์ นำเสนอ TwoTimer นาฬิกาที่แสดงผล 2 แบบ (แอนะล็อกและดิจิทัล) พร้อมฟังก์ชัน 7 แบบที่ควบคุบด้วยเม็ดมะยมอันเดียว นับเป็นนวัตกรรมเครื่องบอกเวลาที่ตอบรับกับช่วงเวลาที่เป็นจุดเริ่มต้นของโลกาภิวัตน์

 

 

     เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ดีไซน์ของนาฬิกาก็ย่อมเปลี่ยนตาม ในช่วงทศวรรษ 1960s ยุคแห่งหนุ่มสาวเบบี้บูมเมอร์ คนเจเนอเรชันใหม่ที่ต้องการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตัวเอง ทิสโซต์ท้าทายวงการนาฬิกาสวิสด้วยการนำเสนอวัสดุใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เช่นการใช้ ไฟเบอร์กลาส ไม้จริง หรือแม้แต่หินแกรนิตจากเทือกเขาแอลป์! รวมถึงการมอบหมายให้ดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง Ettore Sottsass ออกแบบนาฬิกาคอลเล็กชันพิเศษ ซึ่งทิสโซต์ก็เป็นแบรนด์นาฬิกาเจ้าแรกๆ ที่นำเสนอไอเดียนี้

     จะเห็นได้ว่า ทิสโซต์มีโปรดักต์ที่ตอบโจทย์คอนาฬิกาหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาผู้ชาย นาฬิกาผู้หญิง นาฬิกาวินเทจ คลาสสิก รวมถึงนาฬิกาสปอร์ตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความเที่ยงตรง เนื่องจากทิสโซต์เป็นผู้ผลิตที่พัฒนาตัวเครื่องนาฬิกาเองมาตั้งแต่อดีต และเป็นที่ยอมรับเรื่องความแม่นยำของกลไกที่สุดแบรนด์หนึ่ง จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จับเวลาการแข่งขันกีฬาต่างๆ มากมาย อาทิ การแข่งขันบาสเกตบอล NBA การแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต Moto GP และรายการแข่งจักรยานที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอย่าง Tour de France

 

 

สร้างสรรค์จากรากเหง้า

     นอกจากจะผลิตนาฬิกาในเมืองเลอโลคแล้ว ทิสโซต์ยังได้นำแรงบันดาลใจของเมืองบ้านเกิดอย่าง ‘Le Locle’ มาผลิตเป็นคอลเล็กชันนาฬิกาของตัวเองอีกด้วย นาฬิกา Tissot Le Locle ผลิตออกมาหลากหลายรุ่นทั้งของผู้ชายและผู้หญิง ด้วยความลงตัวของดีไซน์ภายนอกและกลไกภายใน และเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้รับกับราคาแล้วนับว่าคุ้มค่ามาก เลยทำให้ Tissot Le Locle กลายเป็นนาฬิการุ่นที่โด่งดังและขายดีที่สุดของ ทิสโซต์ ไปโดยปริยาย และในปี 2017 นี้ Tissot ได้นำเลอโลคมาตีความใหม่ โดยยังคงความคลาสสิกได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งตัวอักษรโรมันและการสลักลายกิโยเช่ (guilloche) อันละเอียดลออบนหน้าปัด แต่คราวนี้มาในลุคร่วมสมัย ตัวเรือนและสายสีทูโทนโรสโกลด์ ตัวเครื่องยังคงขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติ สำรองพลังงานได้นาน 80 ชั่วโมง ฝาหลังสลักตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงกรุช่องหน้าต่างด้วยแซฟไฟร์เพื่อให้มองเห็นกลไกที่อยู่ภายใน ขนาดของตัวเรือนมี 2 ไซส์ 39.3 มม. สำหรับสุภาพบุรุษ และ 25.3 มม. สำหรับสุภาพสตรี

     นาฬิกาไม่ใช่แค่เพียงอุปกรณ์บอกเวลา แต่เป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญของมนุษย์ที่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์บรรจุอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้นาฬิกาสวิสยิ่งเก่ายิ่งเพิ่มมูลค่า แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามา แต่นาฬิกาสวิสนั้นจะยังคงอยู่คู่กับเราอีกนาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X