×

จัดพอร์ตรับมือดอกเบี้ย Higher for Longer

03.11.2023
  • LOADING...
ดอกเบี้ย Higher for Longer

ในที่สุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2023 ก็ออกมาว่า คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ รวมทั้งตรงกับที่ SCB CIO คาดการณ์เช่นกัน ซึ่งเราก็เชื่อว่าเหตุผลที่ Fed ตัดสินใจเช่นนี้ก็เพราะถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตค่อนข้างมากในไตรมาสที่ 3/23 แต่หลังจากนี้ไปเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง 

 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มาจากการประท้วงของแรงงานอเมริกันในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่อาจกระทบกับปัจจัยการผลิต การที่กลุ่มที่ต้องการ Student Loan ซึ่งเป็นเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องกลับมาจ่ายคืนหนี้อีกครั้ง หลังหยุดจ่ายไปช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งกลุ่มนี้มี 45 ล้านคน รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่เกิดจากการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลช่วงโควิด-19 ถูกใช้จนหมดแล้ว และสถานการณ์การจ่ายหนี้บัตรเครดิตเริ่มพบยอดหนี้เสียมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การบริโภคชะลอตัวลง เป็นผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงด้วย จึงไม่มีความจำเป็นที่ Fed จะต้องขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 

 

ขณะเดียวกันด้วยนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดมากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ยืนอยู่ในระดับสูงอยู่แล้วในปัจจุบัน บวกกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น แม้จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็อยู่ในภาวะที่คล้ายกับการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว

 

ส่วนในอนาคต Fed จะดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไรนั้น เรามองว่าสิ่งที่ต้องจับตาคือ อัตราการปรับขึ้นค่าแรงในตลาดและราคาอาหารที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก จากราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะมีผลกับเงินเฟ้อ 

 

สำหรับอีกด้านที่ Fed จะพิจารณาคือ ผลกระทบจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์กับเศรษฐกิจโลก โดยอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง หรือ Soft Landing ได้ ซึ่งไม่ว่าตัวเลขจะออกมาทิศทางไหน Fed ก็เปิดช่องเอาไว้แล้วว่าจะพิจารณาเงินเฟ้อจาก Data Dependency คือข้อมูลออกมาอย่างไรก็จะพิจารณาอีกครั้ง 

 

อย่างไรก็ดีเรามองว่า วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ รอบนี้ ถ้าไม่จบลงแล้ว ก็อยู่ในช่วงปลายวัฏจักรมากแล้ว อย่างไรก็ตามประเด็นที่สำคัญกว่าคือ เรามองว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงไปอีกนานและปรับลดช้าด้วย หรือ Higher for Longer เนื่องจากเรามองว่ากว่าที่จะเห็นสองปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกันคือ เงินเฟ้อจะปรับลดลงไปถึงเป้าหมาย 2% และเศรษฐกิจจะ Soft Landing ก็คงจะต้องรอไปถึงไตรมาส 3/24 หมายความว่ากว่าที่ Fed จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยก็ต้องเป็นไตรมาส 3/24 ไปแล้ว

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์แวดล้อมนี้เพื่อวางแผนจัดพอร์ตลงทุน เรามองว่านักลงทุนควรจะเน้นการลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสดไว้ก่อน เพราะในตลาดไม่ได้มีเพียงประเด็นที่ดอกเบี้ยสูงนานที่ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนได้ดีอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นที่ต้องกังวลเรื่องสงครามอิสราเอลและฮามาสอีก ซึ่งมีโอกาสที่จะบานปลายได้ หลังจากที่อิสราเอลเริ่มบุกเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาทางบก นั่นอาจจะนำมาซึ่งความไม่พอใจของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ จนนำไปสู่สงครามที่มีประเทศอื่นเข้าร่วมด้วย รวมทั้งยังมีประเด็นการก่อการร้ายกับประเทศในฝั่งตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอล และต้นปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งในไต้หวันให้ต้องจับตาอีก

 

สำหรับการเลือกลงทุน เรามองว่าเป็นโอกาสของการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มตราสารหนี้คุณภาพดีที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ซึ่งออกโดยบริษัทที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง ช่วยให้ผ่านภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีจากกลุ่มนี้

 

เรามองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ที่ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 5% ขึ้นไป เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะปรับลดลงในอีก 6 เดือนข้างหน้าแล้ว เป็นตัวเลขที่น่าสนใจมากสำหรับการเข้าลงทุน อย่างไรก็ตาม หากกังวลเรื่องความผันผวนของอัตราผลตอบแทน ก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) ในสหรัฐฯ ที่ลงทุนในตราสารการเงินระยะสั้นๆ และมีความเสี่ยงต่ำกว่าก็ได้ หรืออาจจะฝากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝากสกุลดอลลาร์สหรัฐก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันนักลงทุนก็สามารถทำได้ผ่านธนาคารพาณิชย์ในไทย รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีบริการบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

ส่วนนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้น ควรเน้นกลุ่มหุ้นเติบโตที่มีคุณภาพดี เช่น บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ราคาปรับฐานมาแล้วช่วงหนึ่ง โดยบริษัทเหล่านี้ยังมีงบดุลที่แข็งแรงและมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำอยู่ เมื่อถึงช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยกำลังจะปรับลดลง กลุ่มนี้น่าจะทำผลงานได้ดี 

นอกจากนี้เรามองว่า การมีสินทรัพย์แบบดั้งเดิมในพอร์ตเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในยุคปัจจุบัน โดยหากเป็นไปได้นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น หุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) หรือในกรณีที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก ลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนได้ ก็อาจไปเลือกลงทุนผ่านหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่มีเงื่อนไขจำกัดความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลงได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising