×

ดีไซน์สุขภาพด้วย ‘Design Thinking’

18.10.2019
  • LOADING...
Design Thinking

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ‘Design Thinking’ ว่าด้วยหลักการคิดแก้ปัญหาทางธุรกิจ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลักคือ Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test และไม่ได้ใช้ได้เฉพาะกับการแก้ปัญหาทางธุรกิจ แต่เป็นหลักคิดที่ใช้ได้กับหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะการดูแลสุขภาพ ปัญหาในที่ทำงาน หรือแม้แต่ปัญหาหัวใจ

สำหรับคนที่อยู่ในวงการธุรกิจ โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านที่เกี่ยวกับ Innovation คงจะคุ้นเคยดีกับหลักการคิดแก้ปัญหาแบบ ‘Design Thinking’ แต่สำหรับหมอนั้น เพิ่งจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในเรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เริ่มจากการอ่านหนังสือ ซึ่งก็อ่านแล้วเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ไม่ค่อยเข้าถึงใจเท่าไร จึงพยายามไปเรียนและพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ในด้านนี้ จนเข้าใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เข้าถึงใจเท่าไร จวบจนกระทั่งในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ที่ได้ลองนำ Design Thinking มาปรับใช้กับตัวเองในการดูแลสุขภาพ และพบว่าได้ผลดีไม่น้อย จึงเป็นที่มาของบทความนี้ค่ะ

 

Design Thinking

 

‘Design Thinking’ เป็นหลักสูตรดังของ Stanford d. School ซึ่งเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2005 ว่าด้วยหลักการคิดแค่ปัญหาทางธุรกิจซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลักคือ Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test

 

‘Empathize’ คือการพยายามสังเกต รับฟัง และเข้าใจ ในแบบที่เข้าไปถึงหัวใจของคนที่เราต้องการแก้ปัญหาให้ว่าเขารู้สึกอย่างไรในเบื้องลึกของจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการลดน้ำหนัก ควรต้องเริ่มจากเข้าใจตัวเองก่อนว่าทำไมถึงอยากลด รู้สึกอย่างไรกับปัญหาน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ที่กำลังเผชิญอยู่ หรือมีความกังวลใจอย่างไรบ้างกับการลดน้ำหนัก

 

เมื่อเข้าใจปัญหาและความกังวลในใจแล้ว จึง ‘Define’ ปัญหาว่าที่ผ่านมาลดได้ไม่สำเร็จเพราะอะไร Pain Points หรือจุดที่ทำให้เราพ่ายแพ้ต่อความอ้วน คืออะไร ทำความเข้าใจกับปัญหาแต่ละข้ออย่างละเอียด สองขั้นตอนแรกนี้เป็นขั้นสำคัญที่ควรให้เวลาค่อนข้างมาก เพราะถ้าเราตั้งต้นผิด ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร จะไม่มีทางแก้ปัญหานั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเข้าใจว่า ลดน้ำหนักไม่สำเร็จเพราะการเผาผลาญไม่ดี ทั้งที่จริงๆ แล้วความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากขาดแรงบันดาลใจในการลด การตั้งต้นด้วยความเข้าใจหัวใจและความต้องการที่แท้จริงของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

 

Design Thinking

 

ขั้นตอนต่อมาคือ ‘Ideate’ หรือระดมไอเดียว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไรดี เช่น เมื่อพบว่าปัญหาการลดน้ำหนักไม่สำเร็จนั้น เกิดจากขาดความตั้งใจจริง ขาดแรงบันดาลใจ ขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการหาวิธีที่จะกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจกับตัวเองให้ได้ โดยควรเปิดกว้างที่จะกล้าคิดทุกวิธี โดยอย่าเพิ่งตีกรอบว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อได้ไอเดียมากพอ จึงค่อยนำมาจัดลำดับความสำคัญว่าไอเดียไหนที่ควรจะนำมาทดลองก่อน

 

เมื่อได้ไอเดียที่คิดว่ามีความเข้าท่าที่จะแก้ปัญหาได้ จึงนำไอเดียนั้นมาทำ ‘Prototype’ หาวิธีที่ง่ายที่สุดในการพิสูจน์ว่าไอเดียนั้นเวิร์กไหม โดยออกแบบวิธีทดสอบที่ง่ายที่สุดที่จะเป็นไปได้ แล้วทำการ ‘Test’ หรือทดสอบอย่างรวดเร็ว ถ้าทดสอบแล้วพบว่ามาผิดทาง ก็แค่ย้อนกลับไปเริ่มคิดแก้ปัญหาใหม่ การแก้ปัญหาในแบบ Design Thinking นั้นเน้น ‘ทำ’ มากกว่า ‘พูด’ เพราะการทดสอบโดยการทำเลย(แต่อยู่ภายใต้การออกแบบให้เร็วและสูญเสียน้อยที่สุด) จะเป็นตัวบอกเราได้ว่าวิธีที่คิดนั้นถูกหรือไม่ โดยไม่ต้องกลัวที่จะล้มเหลว เพราะยิ่งล้มเร็ว ลุกเร็ว เราก็จะยิ่งเรียนรู้เร็วและพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม

 

ส่วนตัวหมอเชื่อว่า Design Thinking ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะกับการแก้ปัญหาทางธุรกิจ แต่เป็นหลักคิดที่ใช้ได้กับหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะการดูแลสุขภาพ ปัญหาในที่ทำงาน หรือแม้แต่ปัญหาหัวใจ เพราะทุกปัญหาเริ่มจากเข้าใจแก่นของปัญหาก่อน แล้วค่อยนำมาสู่การระดมความคิดแบบไม่ปิดกั้น ออกแบบวิธีแก้ปัญหา และทดสอบวิธีการนั้นๆ โดยอย่าเพิ่งกลัวว่าจะล้มเหลว เรามาลองเป็น ‘Designer’ ดีไซน์สุขภาพ รวมไปถึงดีไซน์ชีวิต ด้วยหลักคิดแบบ Design Thinking กันค่ะ

 

ฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘ดีไซน์สุขภาพ ด้วย Design Thinking’ ได้ด้านล่างนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising