×

ถอดสาระสำคัญจากซีรีส์ Headspace Guide to Sleep EP.2 ‘ปรับพฤติกรรมการใช้เครื่องมือสื่อสารก่อนเข้านอน’

04.05.2021
  • LOADING...
ถอดสาระสำคัญจากซีรีส์ Headspace Guide to Sleep EP.2 ‘ปรับพฤติกรรมการใช้เครื่องมือสื่อสารก่อนเข้านอน’

HIGHLIGHTS

1 min. read
  • ใน EP.2 ของ Headspace Guide to Sleep นั้น อีฟ ลูอิส พรีเอโต (Director of Meditation at Headspace) ชี้ให้เราตระหนักถึงสาเหตุที่มีผลรบกวนต่อการนอน โดยเฉพาะการเล่นมือถือ iPad หรือแท็บเล็ตก่อนนอนนั้นจะทำให้การนอนไม่ปกติและมีปัญหา พร้อมกับแนะนำวิธีที่ชาญฉลาดที่จะช่วยให้ทุกคนปรับนิสัยการนอนให้ดีขึ้น 

หลายคนที่มีปัญหานอนไม่หลับ บางทีก็เป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารก่อนนอนจนเป็นนิสัย ซึ่งมันคือหนึ่งในปัญหาสำคัญที่รบกวนการนอน ในซีรีส์ Headspace Guide to Sleep EP.2 ได้เจาะลึกถึงสาเหตุนี้ และเราคิดว่ามัน น่าสนใจมาก THE STANDARD POP จึงถอดสาระสำคัญจากอีพีนี้ เพื่อชวนทุกคนปรับพฤติกรรมการใช้เครื่องมือสื่อสารก่อนเข้านอน จะได้เข้านอนอย่างเป็นสุข และได้หลับอย่างมีคุณภาพจริงๆ สักที

 

 

สำหรับใน EP.2 นี้ อีฟ ลูอิส พรีเอโต (Director of Meditation at Headspace) ชี้ให้เราตระหนักว่า การเล่นมือถือ Pad หรือแท็บเล็ตก่อนนอนนั้น แสงจากหน้าจอจะรบกวนการนอนหลับของเรา ซึ่งมันมีผลต่อจิตใจและร่างกายของเราอย่างมาก และอีฟจะพาทุกคนไปรู้จักกับต้นตอของปัญหา และแนะนำวิธีที่ชาญฉลาดที่จะช่วยให้ทุกคนปรับนิสัยการนอนให้ดีกว่าที่เคยเป็นมา 

 

  • ปี 1866 โทมัส เอดิสัน ประดิษฐ์หลอดไฟแบบไส้สำเร็จเป็นครั้งแรก และมันส่งผลกระทบอย่างมากต่อนาฬิกาชีวภาพของคนเรา เพราะเมื่อถึงเวลานอน คนไม่ยอมนอน เพราะยังมีแสงสว่างจากหลอดไฟประดิษฐ์ ทำให้คนทำงานหรือทำกิจกรรมยาวนานขึ้น ทั้งที่แต่เดิมสิ่งที่บอกให้เราตื่นหรือหลับคือดวงอาทิตย์เท่านั้น

 

  • เทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวไกล พาให้เรามีไลฟ์สไตล์ที่รบกวนการนอนหลับตามธรรมชาติมากขึ้น เมื่อก่อนแสงสีฟ้า (Blue Light) มีแหล่งกำเนิดหลักจากดวงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันเราพบแสงสีฟ้าในสมาร์ทโฟน ทีวี คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือสื่อสารต่างๆ เต็มไปหมด 

 

  • คนเรามักนอนบนเตียงกับหน้าจอแสงจ้าของอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งอยู่ห่างจากดวงตาเราเพียงนิดเดียว และแสงจ้านั้นจะรบกวนการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการตื่นไปสู่การหลับใหล 

 

  • ปกติแล้วระดับเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาตามธรรมชาติ จะหลั่งออกมาในตอนกลางคืน และเพิ่มสูงขึ้น 1-2 ชั่วโมงก่อนเวลานอน มันทำให้ร่างกายรู้สึกง่วง และเป็นสัญญาณบอกว่าได้เวลานอนแล้ว แต่ถ้าเรายังเล่นมือถือตลอดเวลา การผลิตเมลาโทนินจะถูกระงับ เพราะแสงจากหน้าจอจะเปิดโหมดตื่นในสมองของเรา ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่าคนที่ใช้อุปกรณ์อย่าง iPad ก่อนนอนจะมีรูปแบบการนอนที่ผิดปกติ และส่งผลให้รู้สึกนอนไม่พอในตอนเช้า เมื่อเทียบกับคนที่อ่านหนังสือก่อนนอน

 

  • คนที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารก่อนนอนจนติดนิสัยจะมีรูปแบบการนอนหลับฝันที่สั้นกว่า ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการนอนหลับที่ช่วยในฟื้นฟูเรื่องความจำ 

 

 

  • แว่นที่ช่วยป้องกันแสงสีฟ้าช่วยได้ไหม ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์บอกว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แสงสีฟ้า แต่เป็นวิธีการใช้อุปกรณ์ของเรามากกว่า การเปลี่ยนหน้าจอเป็นโหมดกลางคืน หรือหรี่แสงหน้าจอให้เหลือง อาจช่วยจำกัดแสงที่จ้าเกินไป ช่วยควบคุมไม่ให้ดวงตาของเราได้รับแสงมากเกินไปเมื่อใกล้เวลาเข้านอน

 

  • เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือแย่ด้วยตัวมันเอง มันขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานของเรา ซึ่งอำนาจการใช้อยู่ในมือเรา ไม่ใช่แค่การนอนหลับที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนวิธีใช้มันจึงเป็นก้าวแรกที่ดีในการเริ่มต้นฝึกการนอนอย่างมีคุณภาพ

 

 

  • ลองปรับมือถือให้อยู่ในโหมด ‘ห้ามรบกวน’ จะช่วยเปลี่ยนแปลงการนอนหลับของเราได้ดีมาก แต่ถ้าเราอยากใช้อุปกรณ์ก่อนเข้านอน ก็ควรใช้ในทางที่จะช่วยให้ตัวเองนอนหลับได้ เช่น ฟังดนตรีกล่อมนอน ใช้ฟังเพื่อทำสมาธิก่อนนอน หรือฟัง Sleep Cast รายการที่ช่วยเรื่องการนอน จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และนำทางเราไปสู่การนอนหลับได้ง่ายขึ้น 

 

 

ภาพ: Netflix  

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising