×

ยานสำรวจ ‘ฮายาบูสะ 2’ ของญี่ปุ่นลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยสำเร็จ

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2019
  • LOADING...
Hayabusa-2

ยานฮายาบูสะ 2 ของญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวเคราะห์น้อย ‘ริวกุ’ และเริ่มภารกิจเก็บตัวอย่างหินบนพื้นผิวดาวในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. ของคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ตามเวลามาตรฐานกรีนิช

 

ยานอวกาศดังกล่าวเดินทางถึงดาวริวกุเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2018 หลังจากที่ใช้เวลาเดินทางจากโลกนานถึง 3 ปีครึ่ง ทั้งนี้ คาดว่ายานอวกาศฮายาบูสะ 2 จะเดินทางกลับสู่โลกพร้อมตัวอย่างหินที่เก็บได้ภายในปี 2020

 

ในระหว่างปฏิบัติภารกิจเก็บตัวอย่างหินนั้น ตัวยานได้เคลื่อนที่ไปใกล้ๆ กับพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย จากนั้นได้ยิงกระสุนหนัก 5 กรัมที่ทำจากโลหะแทนทาลัมลงไปที่ผิวดาวด้วยความเร็ว 300 เมตรต่อวินาที จนเกิดเป็นฝุ่นละอองขึ้นมา ก่อนที่จะเก็บรวบรวมตัวอย่างโดยเครื่องมือที่เรียกว่า Sampler Horn เพื่อรอการส่งกลับมายังโลก

 

นายยูอิจิ สึดะ หัวหน้าโครงการฮายาบูสะ 2 กล่าวว่า “เราสามารถนำยานลงจอดได้สำเร็จ รวมถึงการยิงกระสุนด้วย”

 

ดาวริวกุเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (NEA) ที่มีขนาดกว้างราว 1 กิโลเมตร จัดอยู่ในกลุ่มหินอวกาศชนิด C-type ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการกำเนิดระบบสุริยะ

 

ก่อนหน้านี้องค์กรวิจัยและสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Jaxa) ได้วางแผนที่จะนำยานอวกาศลงจอดตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ปรากฏว่าพื้นผิวของดาวมีสภาพขรุขระกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ก้อนหินแข็งขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วดาวก็เป็นอุปสรรคต่อการหาตำแหน่งพื้นผิวที่กว้างและเรียบพอสำหรับการปฏิบัติภารกิจ

 

ด้วยตัว Sampler Horn ที่ยื่นออกมาจากส่วนล่างของยานอวกาศนั้นมีความยาว 1 เมตร ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ตำแหน่งในการเก็บตัวอย่างจะต้องไม่มีหินที่สูงเกิน 50 เซนติเมตรมาขวาง เพื่อลดโอกาสที่ตัวยานอาจถูกกระแทกได้

 

นอกจากนี้ ลักษณะพื้นผิวดาวที่ผิดไปจากที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อปริมาณเศษหินที่จะเก็บมาเป็นตัวอย่างได้ โดยก่อนที่ยานฮายาบูสะ 2 จะเดินทางไปถึงดาวริวกุ นักวิจัยต่างคาดการณ์ว่า พื้นผิวของดาวจะปกคลุมด้วยผงตะกอนที่เรียกว่าเรโกลิธ

 

แต่แท้ที่จริงนั้น พื้นผิวของดาวกลับเต็มไปด้วยก้อนกรวดและก้อนหินที่มีขนาดเล็กและใหญ่ปะปนกันไป โดยศาสตราจารย์อลัน ฟิตซ์ซิมมอนส์ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์ในกรุงเบลฟาสต์ กล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า “เรารู้สึกประหลาดใจอย่างมาก เพราะดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้กับวงโคจรโลกที่มนุษย์เคยสำรวจมาก่อน มักถูกปกคลุมด้วยผงตะกอนอนุภาคเล็ก”

 

สำหรับโครงการฮายาบูสะ 2 นี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 8,400 ล้านบาท ซึ่งเราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า ตัวอย่างหินที่ยานฮายาบูสะ 2 จะนำกลับมาสู่โลกในปีหน้า จะสามารถไขปริศนาแห่งจักรวาลได้มากน้อยเพียงใด

 

ภาพ: Jaxa

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising