ผมขอเริ่มบทความนี้ด้วยปัญหาตัวเลข (Math Puzzle) ที่อยู่ในรูปภาพข้างล่างนี้นะครับ กฎของปัญหานี้มีอยู่ว่า ตัวเลขในแต่ละวงกลมนั้นเกิดขึ้นได้เพราะกฎหนึ่งข้อ ซึ่งคำถามของปัญหาตัวเลขข้อนี้ก็คือ กฎที่ว่านี้คืออะไร แล้วตัวเลขของวงกลมที่มีเครื่องหมาย ? คือตัวเลขอะไรกันครับ (ป.ล. เลข 7 ที่อยู่ในวงกลมสุดท้ายไม่ได้มาจากการพิมพ์ผิดนะครับ)
ผมให้เวลาคุณผู้อ่านหาคำตอบ 3 นาทีนะครับ
ได้คำตอบกันหรือยังครับ
ได้แล้วใช่ไหมครับ
กฎที่ว่าคืออะไรครับ แล้วเครื่องหมาย ? คือตัวเลขอะไรครับ
ถ้าคุณคิดเหมือนกับผมและคนอื่นๆ อีกหลายคน ผมเชื่อว่าคำตอบแรกที่คุณได้ก็คือ การเอาตัวเลขที่อยู่ในวงกลมทางด้านขวามาลบกับตัวเลขที่อยู่ในวงกลมทางด้านซ้ายที่ขนานกัน เพื่อที่จะได้ตัวเลขที่อยู่ในวงกลมข้างล่าง ยกตัวอย่างเช่น 99 – 72 = 27 และ 45 – 27 = 18
เพราะฉะนั้น ‘ตัวเลขของวงกลมที่มีเครื่องหมาย ? ก็คือ 15 นั่นเอง’
เยี่ยมมากครับ แต่ 15 เป็นคำตอบที่ผิดนะครับ
คำตอบที่ถูกต้องก็คือ 12
ทำไมน่ะหรือครับ แทนที่จะเฉลยกฎ จริงๆ ผมแค่อยากจะบอกว่าในวงกลม 3 วงล่างสุดนั้น 21-13 = 8 ครับ ไม่ใช่ 7
ตัวเลขชุดนี้เป็นปัญหาที่เจ๋งมากๆ ปัญหาหนึ่ง ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดยนักตั้งปัญหาชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า โนบุ โยชิกะฮะระ (Nob Yoshigahara) แต่พอยต์ของผมคืออะไร แล้วมันเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาที่ว่าด้วยคุณธรรมและหนทางสู่ความปรองดองตรงไหน
ก่อนที่ผมจะเฉลย ผมขอให้คุณผู้อ่านช่วยคิดตามผมอีกสักนิดนะครับ
สมปอง หมอ และยาวิเศษ
สมมติว่ามีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่าสมปอง สมปองมีภรรยาสาวที่กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดพิเศษขั้นสุดท้ายอยู่ เท่าที่สมปองรู้ โรคมะเร็งชนิดนี้ไม่มียารักษา แต่วันหนึ่งสมปองพบว่ามีหมอที่คิดค้นยารักษาโรคมะเร็งชนิดพิเศษนี้ขึ้นมาได้ และในเมื่อเขาเป็นคนแรกและคนเดียวที่คิดค้นยาชนิดนี้ขึ้นมาได้ เขาจึงตั้งราคายาตัวนี้ไว้แพงมาก
ด้วยความที่อยากให้ภรรยาหายจากโรคมะเร็งชนิดนี้ สมปองก็ไปรวบรวมเงินของตัวเอง ของญาติพี่น้อง และเพื่อนๆ ทั้งหลาย แต่ก็ได้เงินมาแค่ครึ่งหนึ่งของราคายา สมปองจึงไปขอร้องหมอคนนี้ว่า ถ้าไม่ได้ยาตัวนี้ ภรรยาเขาต้องเสียชีวิตแน่ๆ และขอให้หมอขายยาให้เขาด้วยราคาที่ถูกหน่อย แล้วเขาจะไปหาเงินมาชดใช้ในภายหลัง แต่หมอคนนี้ตอบกลับมาว่า “ไม่เอา ผมเป็นคนคิดค้นยานี้ขึ้นมา ผมมีสิทธิที่จะขายมันด้วยราคาที่ผมตั้งเอาไว้ได้”
และคืนนั้นเอง สมปองที่ขณะนั้นทนต่อสถานการณ์ไม่ไหวจริงๆ ก็ได้ทำการย่องเบาเข้าไปขโมยยาของหมอคนนี้เพื่อนำเอาไปให้ภรรยาของเขา
คำถามคือสมปองทำผิดอะไรไหม
และถ้าคำตอบของคุณคือ ‘ไม่ผิด’ คุณสามารถอธิบายได้ไหมว่าทำไม
และถ้าคนที่ป่วยเป็นมะเร็งไม่ใช่ภรรยาของสมปอง แต่เป็นคนในซอยที่สมปองไม่รู้จักล่ะ หรือเป็นแค่หมาที่สมปองเลี้ยงอยู่ล่ะ หรือเป็นคนที่สมปองไม่ค่อยชอบล่ะ สมปองทำผิดอะไรไหม แล้วคุณสามารถอธิบายคำตอบของคุณได้ไหม
แล้วถ้าหมอที่ค้นคิดยาขึ้นมาต้องการเงินที่ได้มาซื้อยาอีกชนิดหนึ่งที่เขาไม่มีเพื่อนำไปรักษาภรรยาที่ป่วยหนักของเขาล่ะ สมปองทำผิดอะไรไหม
ยังครับ ผมยังมีคำถามข้อสุดท้ายให้คุณผู้อ่านอีกคำถามหนึ่ง
แมลงสาบในน้ำส้ม
คุณชอบดื่มน้ำส้มไหมครับ
สมมติว่าคุณชอบดื่มแล้วกัน
สมมติอีกว่าผมได้เทน้ำส้มให้คุณดื่ม แล้วคุณก็ดื่มไปแล้วอึกหนึ่ง แต่ก่อนที่คุณจะดื่มอึกที่สอง ผมหยิบแมลงสาบแช่แข็งตัวหนึ่งออกมาจากถุงพลาสติก พร้อมกับบอกคุณว่า
“แมลงสาบตัวนี้ถูกเลี้ยงขึ้นมาตั้งแต่เกิดในกล่องใสที่สะอาดมาก และตอนที่มันตายโดยธรรมชาติ มันได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค (sterilization) อย่างดี และได้รับการทำความสะอาดจนไม่มีกลิ่นอะไรอีกแล้วก่อนนำไปแช่แข็ง
“พูดง่ายๆ ก็คือน้ำส้มที่คุณดื่มไปอึกหนึ่งนั้นมีเชื้อโรคมากกว่าแมลงสาบตัวนี้เสียอีก
“และคุณเชื่อผมได้จริงๆ นะครับว่าผมพูดจริง ไม่ได้โกหก เนี่ย มีใบรับรองจากนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการดูแลวิจัยแมลงสาบตัวนี้มาให้ดูด้วย”
ว่าแล้วผมก็จุ่มแมลงสาบลงไปในน้ำส้มแก้วนั้น ก่อนนำไปเก็บใส่ไว้ในถุงพลาสติกเช่นเดิม
คำถามคือ คุณจะยังดื่มน้ำส้มแก้วนั้นอยู่ไหมครับ
และถ้าไม่ดื่ม ไม่ดื่มเพราะอะไรครับ คุณสามารถอธิบายถึงการตัดสินใจในครั้งนี้ได้ไหม
ถ้าให้ผมเดาล่ะก็ ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านเกือบทุกท่านที่ตอบว่า ‘15’ ในข้อแรกนั้นไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนความเชื่อ (หรือความคิดเห็น) ของท่านให้เชื่อตามผมเลยว่าคำตอบที่แท้จริงคือ ‘12’ (หรืออย่างน้อยก็แค่เชื่อผมว่าคำตอบที่แท้จริงไม่ใช่ 15)
แต่พอมาถึงปัญหาของสมปอง ผมเชื่อว่าอาจจะมีหลายๆ ท่านที่ทำใจยากนิดหนึ่งในการพูดว่า “สมปองทำถูก ถ้าคนที่เขาอยากจะช่วยนั้นเป็นภรรยา แต่ทำผิด ถ้าคนที่จะช่วยนั้นเป็นแค่หมาที่เลี้ยงอยู่ หรือทำผิด ถ้าหมอต้องการที่จะใช้เงินจากการขายยาไปช่วยภรรยาเขาอีกทีหนึ่ง” เป็นต้น สำหรับคุณผู้อ่านที่คิดอย่างนี้ คุณสามารถอธิบายได้ไหมครับว่าทำไมคุณถึงคิดอย่างนั้น ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจไม่สามารถให้เหตุผลที่ฟังดูดีได้ใช่ไหมครับ
และผมเชื่อว่าเกือบร้อยทั้งร้อยเลือกที่จะไม่ดื่มน้ำส้มที่ถูกแมลงสาบจุ่มไปแล้วอย่างแน่นอน และถึงแม้ว่าผมจะอธิบายให้คุณฟังอย่างไรก็ตามว่าแมลงสาบมันสะอาดกว่าน้ำส้มอีกนะ และน้ำส้มมันก็เป็นน้ำส้มธรรมดาเหมือนเดิม เหมือนแค่เอาช้อนสะอาดๆ ลงไปคนเท่านั้น แค่ใช้แมลงสาบแทนช้อนเท่านั้นเอง คุณก็คงจะยืนกรานไม่ดื่มต่อ และพอผมถามว่าทำไม คำตอบที่คุณและคนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะให้ผมก็คือ “ก็มันขยะแขยงนี่อาจารย์”
จิตวิทยาที่ว่าด้วยคุณธรรม
มีอยู่ 2 สาเหตุสำคัญที่สามารถนำมาใช้อธิบายได้ว่า ทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่มีปัญหากับการยอมรับว่าคำตอบ 15 ในข้อแรกนั้นเป็นคำตอบที่ผิด และเปลี่ยนความเชื่อที่ตัวเองมีอยู่มาเป็นคำตอบอื่นได้ก็เพราะ
1. คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันกับปัญหาหรือคำตอบของปัญหาเลขข้อนี้
2. เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาเลข มันจึงมีคำตอบที่ถูกต้องแค่คำตอบเดียว และถ้าเราเห็นว่า 21-13 = 8 ไม่ใช่ 7 นั้น เราก็สามารถยอมรับได้อย่างง่ายๆ เลยว่ากฎของปัญหาไม่ใช่ ‘การเอาตัวเลขที่อยู่ในวงกลมทางด้านขวามาลบกับตัวเลขที่อยู่ในวงกลมทางด้านซ้ายที่ขนานกัน เพื่อที่จะได้ตัวเลขที่อยู่ในวงกลมข้างล่าง’ แต่เป็นการ ‘เอาเลขเพียงแค่ตัวเดียวที่อยู่ขนานกันมาบวกกัน’ อย่างเช่น 7 + 2 + 9 + 9 = 27 และ 2 + 1 + 1 + 3 = 7 และ 2 + 1 + 3 + 6 = 12 นั่นเอง
แต่เวลาที่คนส่วนใหญ่กำลังอ่านปัญหาของสมปองและแมลงสาบในน้ำส้มนั้น เรามักจะมีอารมณ์ร่วมไปกับมันด้วย (เวลาที่อ่านปัญหาของสมปอง คนส่วนใหญ่จะรู้สึกขัดแย้งในหัวระหว่างการทำไม่ดี -นั่นก็คือการขโมยยา และการช่วยเหลือคนที่เรารัก -นั่นก็คือการช่วยชีวิตภรรยาของตน ส่วนเวลาที่อ่านปัญหาแมลงสาบในน้ำส้มนั้น เรามักจะรู้สึกขยะแขยงเป็นอันดับแรก)
และด้วยความรู้สึกที่เรามีนั่นเอง ทำให้หลายๆ คน
1. ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมสมปองทำถูกต้อง ถ้าคนที่สมปองช่วยคือภรรยา แต่สมปองทำผิด ถ้าคนที่สมปองจะช่วยนั้นเป็นแค่สัตว์เลี้ยง หรือถ้าคนที่เป็นหมอต้องการเงินที่ได้จากการขายยาไปช่วยภรรยาของเขาอีกทีหนึ่ง
2. ไม่ยอมรับฟังเหตุผลที่เขียนในปัญหาว่า ‘แมลงสาบสะอาดกว่าน้ำส้มเสียอีก’ และถ้าถูกผลักให้บอกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ดื่มต่อ เหตุผลที่สามารถให้ได้ไม่ใช่ ‘เหตุผลที่ถูกต้องตามหลักของ logic’ แต่เป็นเหตุผลที่มาจากอารมณ์ล้วนๆ (ถึงมันจะสะอาดก็ตาม แต่แมลงสาบทั่วไปมันน่าขยะแขยงจะตาย จะดื่มเข้าไปได้ยังไง เป็นต้น)
อีกอย่าง ปัญหาของสมปองและแมลงสาบในน้ำส้มนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเด่นชัดเหมือนปัญหาตัวเลขของโยชิกะฮะระ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการยากที่จะทำให้คนเปลี่ยนความเชื่อที่ตัวเองมีอยู่ไปเชื่ออีกอย่างหนึ่งได้
โจนาธาน ไฮด์ต (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ใช้ปัญหาของสมปองและแมลงสาบในน้ำส้มในการทดลองของเขา เพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า เวลาที่คนเราตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา หรืออะไรก็ตามที่มีคุณธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง (หรือที่เขาเรียกว่า moral judgment นั่นเอง) แทนที่เราจะใช้เหตุผลเป็นตัวแปรการตัดสินใจของเรา กลับกลายเป็นว่าการตัดสินใจของเรามักจะถูกชักจูงด้วยอารมณ์ก่อน แล้วหลังจากนั้น การให้เหตุผลว่าทำไมเราถึงตัดสินใจอย่างนั้นค่อยตามมาทีหลัง เพื่อที่จะอธิบายว่าทำไมเราถึงรู้สึกอย่างนั้น
และด้วยเหตุผลที่การตัดสินใจของเรามาจากอารมณ์ก่อน ไม่ใช่เหตุผล จึงเป็นการยากที่เราจะยอมเปิดใจรับฟังเหตุผลที่ขัดกับอารมณ์ที่เรากำลังรู้สึกอยู่ และอารมณ์ก็มักจะเป็นตัวชักนำให้เรามองหาแค่เหตุผลที่รองรับความรู้สึกที่เรามีอย่างเดียว
และนี่ก็คือที่มาส่วนหนึ่งของอคติทางด้านความคิดที่เรียกกันว่า Confirmation Bias นั่นเอง
คำถามก็คือ แล้วอารมณ์ที่กำลังขึ้นนี้ล่ะ มีที่มาที่ไปที่เราสามารถให้เหตุผลกับมันได้ไหม
คำตอบก็คือได้ครับ เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติมากของคนที่เติบโตมาในสังคมที่เน้นเรื่องของความจงรักภักดีต่อคนที่เราเทิดทูนบูชา และคนที่เรารักในกลุ่มเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าปัญหาที่เราอ่านทำให้รู้สึกถึงการละเมิดความเป็น ‘ตัวเรา’ ในสังคมล่ะก็ มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าอารมณ์เราจะขึ้น
เช่นเดียวกันกับการเติบโตในสังคมที่เห็นว่าแมลงสาบนั้นสกปรก มีเชื้อโรค และไม่โอเคเลยที่จะนำมันมาบริโภค -แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณโตมาในสังคมที่กินแมลงสาบเป็นปกติ คุณจะไม่มีปัญหากับการดื่มน้ำส้มนี้เลย
แต่สิ่งที่น่าสนใจและเป็นปัญหาที่สุดจากการใช้อารมณ์เป็นเครื่องชักจูงในการตัดสินใจก็คือการไม่ยอมเปิดเพื่อรับฟังเหตุผลที่ขัดต่อความรู้สึก รวมไปถึงการมองหาแต่จุดเด่นของข้อมูลที่เรามี (และจุดด้อยของข้อมูลที่ขัดต่อความรู้สึก) อย่างเดียว
หนทางสู่ความปรองดอง
และด้วยเหตุผลที่ว่านี้ ที่มาของการตัดสินใจเกี่ยวกับความมีคุณธรรมของคนก็คืออารมณ์ ไม่ใช่เหตุผลนั้นเอง ทำให้หนทางสู่ความปรองดองดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เพราะแต่ละฝ่ายต่างหาทางออกที่แฟร์ให้กับตัวเอง แต่เป็นทางออกที่ไม่แฟร์สำหรับอีกฝ่าย
แต่การรับรู้และเรียนรู้ซึ่งที่มาของการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับความมีคุณธรรมของคนเราเป็นบทเรียนที่สำคัญมาก เพราะมันช่วยบอกว่าคนเรามีเหตุผลของตัวเองที่แตกต่างกันไป และถ้าเรายอมให้อารมณ์มาปิดบังการเปิดรับและสื่อสารกับอีกฝ่าย และเปิดโอกาสในการหาความแฟร์ให้กับตัวเราเองและอีกฝ่ายด้วย (พูดง่ายๆ ก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการมี empathy นั่นเอง) เราก็จะยังยืนอยู่ที่เดิมอย่างที่เราอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่มีการไปไหนสักที
มันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายอะไรเลยนะครับกับการเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง แต่ถ้าเราไม่พยายามเริ่มที่ตัวเราเองก่อน เราก็คงจะไปหวังอะไรจากคนอื่นไม่ได้
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
อ่านเพิ่มเติม:
– Bellos, A. 2016. Can you solve my problems? A casebook of ingenious, perplexing and totally satisfying puzzles. Guardian Faber Publishing.
– Haidt, J., 2012. The righteous mind: Why good people are divided by religion and politics. New York: Pantheon.