×

Richard Thaler เจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมผู้ค้นพบความไร้เหตุผลของมนุษย์

16.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • วันนี้คงจะมีนักเศรษฐศาสตร์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่คิดว่าริชาร์ด เธเลอร์ ไม่เหมาะสมที่จะได้รับรางวัลโนเบลจากงานวิจัยในสายเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เขาทำมานานกว่า 40 ปี แต่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 1970 ล่ะก็ โอกาสที่งานของริชาร์ดจะได้รับการยอมรับจากนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ นั้นแทบจะไม่มีเลย
  • เพราะว่าเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เกือบทุกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า ‘มนุษย์เราต่างก็มีเหตุผลในการตัดสินใจด้วยกันทุกคน’
  • แต่สำหรับริชาร์ด เขากลับมีความเชื่อที่ไม่เหมือนกับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปว่าพฤติกรรมของคนเราส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถนำหลักเหตุผลมาใช้ในการอธิบายได้

     “นิค ยูรู้ไหมว่าเขาเพิ่งประกาศว่านักจิตวิทยาเป็นหนึ่งในสองคนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ของปีนี้ไป” เพื่อนร่วมออฟฟิศดีกรีปริญญาเอกของผมพูดขึ้นมาอย่างลอยๆ
     “เขาชื่อแดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman)” เพื่อนของผมบอก
     ปีนั้นเป็นปี 2002 ผมซึ่งในขณะนั้นกำลังเรียนปริญญาเอกเป็นปีที่สองอยู่ไม่เคยได้ยินชื่อของนักจิตวิทยาคนนี้มาก่อน ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผมก็รีบเปิดคอมพิวเตอร์ทันทีเพื่อที่จะไปค้นหาใน Yahoo (ตอนนั้น Google ยังไม่ดัง) ว่าเขาคนนี้เป็นใคร
     ผมจำได้ว่าสิ่งที่ผมเห็นเป็นสิ่งแรกๆในอินเทอร์เน็ตก็คืองานของแดเนียลที่เขียนกับเพื่อนคู่หูของเขา นักจิตวิทยา อะมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) (ซึ่งถ้าขณะนั้นอะมอสยังมีชีวิตอยู่ล่ะก็ เขาก็คงจะเป็นนักจิตวิทยาอีกคนที่ได้รับรางวัลโนเบลเช่นเดียวกันกับแดเนียล) แต่สิ่งที่ผมเห็นเป็นสิ่งที่สองก็คืองานที่แดเนียลเขียนกับนักเศรษฐศาสตร์อีกสองคน คนหนึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวแคนาดาชื่อว่า แจ็ค เนตช์ (Jack Knetsch)
     ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อว่า ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler)
     และริชาร์ด เธเลอร์ คนนี้นี่เองที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ของปี 2017 นี้ไป

 

 

การตัดสินใจของคนเราไม่ได้มีเหตุผลเสมอไป
     ณ วันนี้คงจะมีนักเศรษฐศาสตร์เพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่คิดว่าริชาร์ดไม่เหมาะสมที่จะได้รับรางวัลโนเบลจากงานวิจัยในสายเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เขาทำมานานกว่า 40 ปี แต่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 1970 ล่ะก็ โอกาสที่งานของริชาร์ดจะได้รับการยอมรับจากนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ นั้นแทบจะไม่มีเลย
     ทำไมน่ะเหรอครับ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เกือบทุกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า ‘มนุษย์เราต่างก็มีเหตุผลในการตัดสินใจด้วยกันทุกคน’
     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเราตัดสินใจที่จะไม่ออมเงินไว้ใช้ในอนาคต การตัดสินใจที่จะไม่ออมนี้มีเหตุผลที่ดีของมันเอง (พูดง่ายๆ ก็คือการตัดสินใจที่จะไม่ออมของคนเราไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความไม่ใส่ใจหรือความไม่คิดหน้าคิดหลัง แต่เกิดขึ้นจากการคำนวณแล้วว่าการใช้เงินในวันนี้ดีกว่าการเก็บเงินเพื่อเอาไว้ใช้ในวันข้างหน้า)
     แต่สำหรับริชาร์ด เขากลับมีความเชื่อที่ไม่เหมือนกับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปว่า พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถนำหลักเหตุผลมาใช้ในการอธิบายได้ โดยตัวอย่างที่เขาให้นั้นมาจากงานปาร์ตี้ที่เขาเคยจัดที่บ้านของตัวเอง
     ในขณะที่ตัวเขาและเพื่อนๆ ในปาร์ตี้กำลังนั่งรออาหารที่กำลังอบอยู่นั้น เขาก็หยิบเอาถ้วยที่มีถั่วกินเล่นอยู่เต็มถ้วยออกมาให้เพื่อนกินรองท้อง แต่เพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น เขาและเพื่อนๆ ก็สวาปามถั่วเข้าไปครึ่งถ้วย ริชาร์ดจึงตัดสินใจเอาถั่วไปแอบไว้ในครัว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เขาและเพื่อนๆ ต่างก็โล่งอกไปตามๆ กัน

 


     ซึ่งความรู้สึกโล่งอกของเขาและเพื่อนๆ นี่เองที่ทำให้ริชาร์ดตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าคนเรามีเหตุผลในการตัดสินใจในทุกๆ เรื่องจริงๆ (อย่างเช่นการตัดสินใจว่าจะกินถั่วก่อนกินข้าวเย็น) ทำไมเขาและเพื่อนๆ จึงกลับรู้สึกโล่งอกทันทีที่เขาเอาถ้วยถั่วนั้นไปซ่อน
     คำตอบที่ริชาร์ดมีให้กับคำถามนี้ก็คือคนส่วนใหญ่มักให้น้ำหนักกับปัจจุบันมากจนเกินไป พร้อมๆ กันกับการให้นำ้หนักกับอนาคตน้อยจนเกินไป
     พูดง่ายๆ ก็คือถ้าคนเราสามารถสุขทันทีแทนที่จะสุขในภายภาคหน้าได้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ และเลือกที่จะสุขในวันนี้ดีกว่า ทั้งๆ ที่ใจจริงพวกเขาทราบดีว่าความสุขในวันข้างหน้ามักสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าความสุขในวันนี้
     ซึ่งไอเดียของริชาร์ดที่เกี่ยวกับ Self-control Problem นี้สามารถนำไปใช้ในการอธิบายพฤติกรรมของการไม่ยอมออมเพื่อวันข้างหน้าของคนทั่วไปได้
     งานวิจัยชิ้นต่อๆ มาของริชาร์ดส่วนใหญ่จึงเป็นงานวิจัยที่ใช้ทฤษฎีจิตวิทยามาช่วยในการแก้ปัญหาพฤติกรรมที่บกพร่องหลายๆ อย่างของคน

     ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนตัวเลือก default จากการ ‘ไม่ออม’ มาเป็น ‘ออม’ ในโปรแกรม ‘Save more tomorrow’ (ซึ่งการเปลี่ยนตัวเลือก default จากการ ‘ไม่ออม’ ที่เคยเป็นอยู่มาเป็น ‘ออม’ นั้นสามารถเพิ่มอัตราการออมของคนทำงานจาก 3.5% เป็น 11.6%)
     งานวิจัยของริชาร์ดที่สำคัญๆ มีเยอะมาก มากเกินกว่าที่ผมจะเขียนถึงในบทความนี้ได้หมด (แต่ถ้าคุณผู้อ่านสนใจงานของเขาล่ะก็ ลองเสิร์ชคำว่า mental accounting, endowment effect และ fairness ดูนะครับ)

     แต่ถ้าพูดโดยรวมๆ แล้ว การนำทฤษฎีของจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของคนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น บวกกับผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะที่งานของเขามีนี่เองที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในครั้งนี้
     ซึ่งสำหรับตัวผมเอง รางวัลชิ้นนี้เป็นรางวัลที่เขาควรจะได้รับมานานมากแล้ว เพราะในสมัยที่พฤติกรรมของคนมีแต่ความบกพร่องไปหมด แทบจะไม่มีใครนอกจากริชาร์ด เธเลอร์ ที่สมควรได้รับรางวัลโนเบลนี้อีกเลย  

 

Photo: CARSTEN REHDER, Jonathan NACKSTRAND/AFP
อ้างอิง:

  • Kahneman, D., Knetsch, J.L. and Thaler, R.H., 1991. Anomalies: The endowment effect, loss aversion, and status quo bias. The journal of economic perspectives, 5(1), pp.193-206.
  • Sunstein, C. and Thaler, R., 2008. Nudge. The politics of libertarian paternalism. New Haven.
  • Thaler, R.H. and Benartzi, S., 2004. Save more tomorrow™: Using behavioral economics to increase employee saving. Journal of political Economy, 112(S1), pp.S164-S187.
  • Thaler, R.H., 2015. Misbehaving: The making of behavioral economics. WW Norton & Company.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising