ผู้เชี่ยวชาญมองปัญหาแบงก์ล้มในสหรัฐอเมริกาไม่ลุกลาม กระทบไทยระยะสั้นผ่านตลาดเงินและตลาดทุน แนะจับตาดูกลุ่มกองทุนรวมและธุรกิจประกัน อาจเสี่ยงกว่ากลุ่มธนาคารที่มีสัดส่วนการลงทุนต่อสินทรัพย์รวมต่ำ
ปัญหา SVB กระทบในวงจำกัด
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เขียนบทความวิเคราะห์ถึงกรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และธนาคาร Silvergate ถูกสั่งปิดกิจการว่า ปัญหาในรอบนี้มีความแตกต่างจากวิกฤตปีใน 2008 ที่ Lehman ล้ม เนื่องจากปัญหาในตอนนั้นคือความเสี่ยงด้านเครดิตจากการลงทุนในอนุพันธ์ด้านอสังหา ขณะที่ปัญหาในตอนนี้คือความเสี่ยงด้านตลาดหรือสภาพคล่องจากดอกเบี้ยขาขึ้น และขาดการบริหารที่ดีด้านระยะเวลาเงินฝากและสินเชื่อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สตาร์ทอัพเครียด! อาจจ่ายเงินให้กับพนักงานไม่ได้ เหตุ Silicon Valley Bank ถูกสั่งปิด หลังกลายเป็นแบงก์ที่ล้มหนักสุด ตั้งแต่ปี 2008
- ‘Silicon Valley Bank’ ประสบเหตุ Bank Run และถูกสั่งปิดชั่วคราว พร้อมหาคำตอบว่าวิกฤตนี้จะลุกลามแค่ไหน?
- สิ้นยุคเทคสหรัฐ? กระแสเลย์ออฟใน ‘Silicon Valley’ มีทิศทางเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มแบงก์ขนาดเล็กที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มเทคหรือสตาร์ทอัพเป็นหลัก ซึ่งต่างกับแบงก์ใหญ่ ทำให้ในภาพรวมสถานการณ์ไม่น่าจะลุกลาม โดยธนาคารที่มีการถือตราสารที่ดี ยังสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจาก Fed ได้ แต่อาจมีแบงก์ที่มีปัญหาเพิ่ม ในกลุ่มที่ขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นแรงในสหรัฐฯ จนราคาพันธบัตรลดลง ซึ่งต้องติดตามดูว่ามีใครร้อนเงินอีก หรือมีใครโดนแห่ถอนเงินจากวิกฤตศรัทธาบ้าง หลักๆ คงจะเป็นธนาคารที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับกลุ่มเทคที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ
อมรเทพประเมินว่า ตลาดเงินตลาดทุนมีโอกาสจะผันผวนต่อไปจากความกังวลว่าจะมีแบงก์ไหนเป็นรายต่อไปที่ล้ม ขณะที่กลุ่มธุรกิจเทคขนาดเล็กอาจประสบปัญหาขาดเงินทุน โดยเฉพาะช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่ากรณี SVB ล้มไม่น่าส่งผลให้คนว่างงานมากขึ้นในสหรัฐฯ ขณะที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีโอกาสลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ย 8% มาอยู่ที่ราว 4% ในปีนี้ แต่จะไม่ลดลงได้เร็วเหมือนในอดีต เพราะยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน
“กรณี SVB อาจไม่มีน้ำหนักมากต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed หากปัญหาไม่ลามและรุนแรง Fed คงลดความร้อนแรงของการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ไม่ขึ้น 0.50% แต่ขึ้นเพียง 0.25% และระดับดอกเบี้ยสูงสุดอาจอยู่ที่ระดับ 5.75% ไม่ใช่ไปแตะระดับ 6.00%” อมรเทพกล่าว
สำหรับผลกระทบต่อไทย โดยมากจะเป็นผลในระยะสั้นผ่านตลาดเงินและตลาดทุนที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในสัปดาห์หน้า อาจมีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างในระยะสั้น แต่ตลาดน่าจะให้น้ำหนักการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงานและอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ แต่อาจรอตัวเลขเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก และอื่นๆ เพื่อดูสัญญาณว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยต่อแรงหรือไม่ ซึ่งกรณี SVB อาจมีน้ำหนักด้านเสถียรภาพตลาดการเงิน ทำให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ในกรณีนี้เงินน่ากลับมาตลาดเกิดใหม่ เงินบาทน่าจะขยับแบบ Sideways 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้
แต่ในกรณีที่ SVB มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่อ ก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทยซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้วให้ชะลอต่อได้ ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะย่อลงตามอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ทำให้การนำเข้าไทยลดลงตาม ไม่น่ามีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนก่อนหน้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่ากระทบ โดยรวมปัญหานี้น่าจะกระจุกในสหรัฐฯ ไม่น่ากระทบเอเชีย-แปซิฟิกมากนัก โดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโตได้ดี แต่แน่นอนว่าการส่งออกไม่สดใส
ขณะที่ผลกระทบต่อธนาคารไทย เชื่อว่าคงไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทาง ธปท. ไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนในคริปโตโดยตรง ขณะที่กลุ่มการเงินก็ยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย
“คำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้ มองว่าการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ พื้นฐานดี กระจายการลงทุนทั่วโลก ยังน่าจะทำได้ นอกจากนี้ที่ลุ้นคือเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้ยังอยู่ในระดับสูงแต่มีท่าทีชะลอลง ซึ่งนักลงทุนน่าหาจังหวะเข้าสะสมพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ใกล้ถึงจุดสูงสุด ส่วนภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉพาะจีนยังน่าสนใจ โดยให้น้ำหนัก A-Share หรือหุ้นในจีนมากกว่า H-Share ที่มีกลุ่มเทคในฮ่องกง โดยรวมน่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีน และจีนน่าจะหาทางลดความผันผวนในตลาดทุนเทียบสหรัฐฯ ได้” อมรเทพกล่าว
แนะจับตาดูกลุ่ม ‘กองทุนรวมและธุรกิจประกัน’
ด้าน สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ว่า กลุ่มธนาคารในไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากกรณี SVB ล้ม จาก 4 ปัจจัย ได้แก่
- ตลาดบอนด์สหรัฐฯ มี Correlation กับตลาดบอนด์ไทยและทั้งเอเชียน้อยลง เนื่องจากความรุนแรงเงินเฟ้อต่างกัน และท่าทีนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางก็ต่างกัน อีกทั้งตลาดบอนด์ไทยก็มีเสถียรภาพมาก และปลอดจาก Outflow ระดับรุนแรง
- SVB มีการลงทุนเกินครึ่งของสินทรัพย์รวม แต่แบงก์ไทยมีไม่ถึง 20% ทำให้ SVB ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินมากกว่า
- ในหมายเหตุงบ มีหลักฐานชี้ว่า SVB ถือบอนด์ยาวซึ่งมี Durational Risk สูงมาก ขณะที่แบงก์ไทยน่าจะใช้เกณฑ์นำสภาพคล่องส่วนเกินมาลงทุน ทำให้มี Durational Risk ต่ำกว่ามาก
- ส่วนแบงก์ต่างชาติที่อาจจะเป็นเป้าจับตา (ทั้งอเมริกันและอื่นๆ) ที่ประกอบการในเมืองไทยมีสัดส่วน Balance Sheet น้อยมาก ไม่ถึง 10% ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ จึงไม่มีนัยสำคัญ
“การจะบอกว่า Fed ขึ้นดอกเบี้ยสูงจนทำให้แบงก์เจอปัญหาอาจจะไม่ถูกต้อง ต้องบอกว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้เกิดความผันผวนในตลาด ทำให้กลุ่มธนาคารมีสัดส่วนการลงทุนต่อสินทรัพย์สูงได้รับผลกระทบจนเกิดปัญหา กว่า 60% ของสินทรัพย์รวมของ SVB เป็นการลงทุน ขณะที่ 70-80% ของสินทรัพย์ธนาคารไทยเป็นการปล่อยสินเชื่อ ในภาพรวมกลุ่มธนาคารไทยจึงไม่น่ากังวล” สงวนกล่าว
สงวนระบุว่า กลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงต้องจับตาดูคือกองทุนรวมและบริษัทประกัน ซึ่งมีสัดส่วนเงินลงทุนต่อสินทรัพย์ค่อนข้างสูง ต้องไปดูว่าแต่ละแห่งมีวิธีการลงบัญชีแบบไหน และได้มีการป้องกันความเสี่ยงไว้ครบตามระยะเวลาของบอนด์ที่ลงทุนไว้ (Fully Hedge) หรือไม่
ห่วงปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่
ขณะที่ นิรันดร์ ประวิทย์ธนา ประธานบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท เอวา แอดไวเซอรี่ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ให้ความเห็นว่า การประกาศอุ้มผู้ฝากเงินของ Fed และ FDIC อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่หลายอย่าง เช่น
- กลไกราคาพันธบัตรถูกแทรกแซง แล้วตลาดรองของพันธบัตรสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร เพราะกลไกนี้ของ Fed เปิดโอกาสให้การทำ Arbitrage ตลาดพันธบัตรสามารถทำได้ (ซื้อราคา Discount จากตลาดรอง มาแลกเงินสดกลับจาก Fed ได้เงินเต็ม 100%)
- Fed จะเอาเงินจากไหนมาคืนผู้ฝาก ในเมื่อที่ผ่านมา Fed ทำการลดงบดุลมาโดยตลอด เอาดอลลาร์มาเผาทิ้งที่เรียกกันว่า QT เมื่อจะอุ้มผู้ฝากเงิน แปลว่าต้องหาเงินสดมาคืนผู้ฝาก นั่นหมายถึงการ QE จะกลับมา (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงนี้)
- นโยบายการเงินจะเป็นอย่างไรต่อไป เนื่องจาก Fed เห็นแล้วว่าการขึ้นดอกเบี้ยแบบ Aggressive ในรอบปีที่ผ่านมาได้ส่งผลร้ายกับระบบธนาคารสหรัฐฯ คำถามคือ Fed จะเลือกอะไรระหว่างชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แลกกับเงินเฟ้อที่อาจจะเอาไม่อยู่ หรือยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แล้วรับมือกับความเสี่ยงของกลุ่มธนาคารต่อไป
“ก่อนหน้านี้ผมเชื่อว่าดอลลาร์อาจจะแข็งต่อเนื่องในปีนี้ หากการขึ้นดอกเบี้ยยังคงดำเนินหน้าต่อ พอวิกฤตนี้เข้ามา ดอลลาร์อาจจะมีโอกาสอ่อนตัวลงในระดับหนึ่ง ขึ้นกับว่านโยบายการอุ้มของ Fed จะทำนานแค่ไหนและใช้เงินมากเท่าไร เพราะนั่นหมายถึง Fed ต้องพิมพ์เงินมาอุ้มประชาชนเยอะมากเท่านั้น ที่น่าห่วงคือสหรัฐอเมริกาโกงเกมมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งการพิมพ์เงิน QE เพื่ออุ้ม Subprime มารอบนี้อุ้มตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ต่อ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ยังคงสะสมเป็นระเบิดลูกใหญ่กับดอลลาร์และระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ” นิรันดร์กล่าว