×

‘GULF’ ปิดดีลขายเกลี้ยงหุ้นกู้-Green Bond 2 หมื่นล้าน เผยสถาบัน-รายใหญ่จองล้น 2 เท่า เตรียมนำเงินใช้คืนหนี้-ขยายธุรกิจ

30.03.2023
  • LOADING...
GULF

‘กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี’ แจ้งผลการขายหุ้น ควบ Green Bond วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท หมดทั้งจำนวนเสนอขายเฉพาะ ‘ผู้ลงทุนสถาบัน-ผู้ลงทุนรายใหญ่’ ให้ดอกเบี้ย 2.85-3.92% นำเงินลงทุนขยายธุรกิจ รวมถึงใช้หนี้สถาบันการเงิน

 

ยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 บริษัทได้ออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ซึ่งการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ได้รับผลตอบรับจากผู้ลงทุนอย่างมาก 

 

โดยภายหลังจากการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้ (Book Building) มีผู้ลงทุนแสดงความสนใจลงทุนในหุ้นกู้มูลค่าเกินกว่า 2 เท่าของมูลค่าการเสนอขายทั้งหมด (Oversubscription)

 

สำหรับหุ้นกู้ที่บริษัทเสนอขายในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 5 ชุด ดังนี้

  • หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.85% ต่อปี มูลค่า 4.1 พันล้านบาท
  • หุ้นกู้อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี มูลค่า 4.4 พันล้านบาท 
  • หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.20% ต่อปี มูลค่า 4.5 พันล้านบาท
  • หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.59% ต่อปี มูลค่า 3.5 พันล้านบาท
  • หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.92% ต่อปี มูลค่า 3.5 พันล้านบาท 

 

โดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยคงที่ของหุ้นกู้ดังกล่าวเท่ากับ 3.28% และอายุเฉลี่ยหุ้นกู้เท่ากับ 5.6 ปี ซึ่งหุ้นกู้อายุ 5 ปี และ 7 ปี จำนวนรวม 8 พันล้านบาทได้เสนอขายเป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ขณะที่บริษัทมีแผนที่จะนำเงินจากการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจของบริษัท

 

สำหรับครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ GULF ได้ออกเสนอขาย Green Bond โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ไปใช้ในการชำระคืนเงินลงทุนในโครงการ Borkum Riffgrund 2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเลในประเทศเยอรมนี โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก จนบริษัทต้องเพิ่มมูลค่าเสนอขายเป็น 8 พันล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5 พันล้านบาท 

 

ทั้งนี้บริษัทได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ ‘A+’ แนวโน้ม ‘คงที่’ และหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับในระดับ ‘A’ จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยบริษัทได้แต่งตั้งให้ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั่วไป

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising