×

โฆษกศาลฯ แจงแนวทางดำเนินคดีเยาวชนอายุ 14 ปีที่ก่อเหตุยิง ตำรวจต้องส่งตัวต่อศาลภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนพ่อแม่อาจต้องรับผิดทางแพ่ง

โดย THE STANDARD TEAM
04.10.2023
  • LOADING...
เจ้าหน้าที่ตำรวจใน Siam Paragon

วันนี้ (4 ตุลาคม) สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางการดำเนินคดีกับเยาวชนชายอายุ 14 ปีที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงประชาชนในศูนย์การค้าทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตว่า ในการจับกุมเยาวชน ศาลเยาวชนฯ จะมีกระบวนการตรวจสอบการจับกุมตามกฎหมาย  

 

ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับก่อนว่า การจับกุมเด็กหรือเยาวชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเยาวชน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่   

 

สรวิศกล่าวว่า ปกติ การจับกุมเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวน ควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ส่วนมากก็จะนำตัวมาส่งศาลเยาวชนฯ เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ว่าจะควบคุมตัวหรือจะให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไรต่อไป หลังจากตรวจสอบการจับกุม ศาลจะรอดูรายงานการจับกุมจากพนักงานสอบสวนที่นำส่งมาให้ศาลพิจารณา ว่าพฤติการณ์ของเยาวชนรายนี้เป็นอย่างไรบ้าง  

 

เช่น ศาลจะดูว่าเด็กก่อเหตุยิงไปกี่คน สภาพทางจิตใจ การรักษาพยาบาลทางจิต การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างไร ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องใส่มาในรายงานให้ศาลพิจารณา และในการตรวจสอบการจับ พนักงานสอบสวนก็จะต้องเดินทางมาศาลเยาวชนฯ ด้วย  

 

สรวิศกล่าวต่อว่า ศาลอาจต้องไต่สวนพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมถึงข้อมูลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนใส่มาในรายการการจับกุม จากนั้นศาลจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน ว่าจะใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัวหรือจะควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนที่ก่อเหตุหรือไม่  

 

ส่วนกรณีของเด็กที่มีเรื่องของอาการป่วยทางจิตนั้น หากศาลเห็นว่าถ้าพ่อแม่เด็กดูแลเด็กได้ก็จะให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองดูแล และอาจวางมาตรการต่างๆ กำหนดไว้ แต่หากพ่อแม่เด็กดูแลไม่ได้ก็อาจให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็กดูแลแทน หรือสถานที่อื่นที่ศาลเห็นสมควร เช่น สถานดูแลทางจิตเวช แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเด็กว่ารุนแรงขนาดไหน และต้องใช้มาตรการอะไรที่จะมาควบคุมดูแลเด็กเหล่านี้ 

 

สรวิศกล่าวว่าในส่วนของพ่อแม่ของเด็กนั้น ตามกฎหมาย หากเป็นเด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พ่อแม่ต้องรับผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ข้อยกเว้นตามกฎหมายได้ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนผิด 

 

กฎหมายให้ดูพฤติการณ์ของแต่ละเรื่องไป ยกตัวอย่าง ใน 1 คดีมีเด็กทำผิดกฎหมาย 10 คน ศาลอาจใช้มาตรการที่ต่างกันไปของทั้ง 10 คนก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และความจำเป็นของเด็กแต่ละคนว่าเหมาะสมแค่ไหน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising